มัมมี่คืนชีพ(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (17 กันยายน 2566)

มัมมี่คืนชีพ(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

หลังการค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนในเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922 จนกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก  ทำให้โฮเวิร์ด คาร์เตอร์(HOWARD CARTER) นักโบราณคดีชาวอังกฤษผู้ค้นพบ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในทันที

สื่อมวลชนยกย่องว่า   เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่สุดในศตวรรษที่ 20


(โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ กับโบราณวัตถุที่ค้นพบจากสุสานของตุตันตามุน – ภาพจากกูเกิ้ล)

ก่อนหน้านั้น ออกุส มาเรียส(AUGUST MARIETTE) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ค้นพบโบราณสถานหลายแห่งในอียิปต์ร่วม 100 แห่ง  อาทิ  บริเวณสุสานซัคคารา   วิหารเอ็ดฟู  และ เป็นผู้ผลักดันให้มีการสร้างพิพิทภัณฑ์อียิปต์ที่ไคโร จนสำเร็จในปี 1901

เขาได้รับการยกย่องว่า  เป็นบิดาแห่งวิชาโบราณคดีอียิปต์  ซึ่งได้วางรากฐานที่สำคัญให้แก่การศึกษาโบราณคดีอียิปต์ตราบจนทุกวันนี้


(ออกุส มาเรียต – ภาพจากวิกิพีเดีย)

รวมถึง ฌอง ฟรองซัวร์ ชองโปลิยอง (JEAN FRANCOIS CHAMPOLLION)  มนุษย์คนแรกที่ไขความลับวิธีการอ่านภาษาโบราณเฮียโรกลิฟส์ซึ่งถือเป็นภาษาที่ตายแล้ว โดยศึกษาจากศิลาจารึก โรเซตต้า ของอียิปต์จนสามารถอ่านบันทึกอียิปต์โบราณทั้งหมดที่มีอายุ 5 พันปีขึ้นไปได้ ซึ่งทำให้โลกได้รู้ว่า  ชาวอียิปต์โบราณมีชีวิตอย่างไร


(ศิลาจารึก โรเซตต้า ที่จัดแสดงอยู่ที่ บริติช มิวเซียม – ภาพโดยผู้เขียน)

หลังอียิปต์ได้อิสรภาพจากอังกฤษในปี 1952   พัฒนาการของวิชาโบราณคดีในอียิปต์ก็ค่อยๆดีขึ้น  และ บุคลากรพื้นเมืองชาวอียิปต์ก็เริ่มจะมีความรู้ความชำนาญในการขุดค้นมากขึ้น

และพวกเขาเริ่มมองไปที่จุดหมายของการมีชื่อเสียงระดับโลก  เหมือนเช่นที่นักโบราณคดีชาวอังกฤษ และ ฝรั่งเศส เคยทำมาก่อน

ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้   เริ่มมีการขุดค้นในบริเวณซัคคารา ซึ่งเป็น “เมืองคนตาย” หรือ สุสานของชาวอียิปต์มาตั้งแต่เมื่อร่วม 5 ปีที่แล้ว โดยนักโบราณคดีชาวอียิปต์มากขึ้น  และ มีผลงานที่น่าประทับใจด้วยการค้นพบสุสานที่มีมัมมี่ในโลงศพอยู่นับสิบโลง

ชุดแรกที่ค้นพบ   นักโบราณคดีสรุปว่า  เป็นสุสาน และ  มัมมี่จากยุคปโตเลมี  หรือ  ยุคกรีกที่เข้าปกครองอียิปต์ ตั้งแต่ปี 332 จนถึง 30 ปีก่อนคริสตกาลที่มีพระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 เป็นผู้ปกครองคนสุดท้าย   มีเมืองอเล็กซานเดรีย ที่ตั้งอยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เหนือสุดของอียิปต์เป็นเมืองหลวง   


(สิ่งที่ค้นพบเป็นชุดแรกจากเมืองซัคคารา โดยนักโบราณคดีชาวอียิปต์ในเดือนมีนาคม 2022 – ภาพจากเฟซบุ๊คของ GRAND EGYPTIAN MUSEUM)

ทำให้เห็นว่า   เมืองซัคคารา ยังคงถูกใช้งานให้เป็นสุสานของฟาโรห์ตามประเพณีความเชื่อโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ประมาณ 3100 ปีก่อนคริสตกาล  หรือ  ประมาณ5000 ปีที่แล้ว  

นั่นยอมหมายถึง   เมืองเมมฟิส ซึ่งเป็น “เมืองคนเป็น” ยังคงถูกใช้งาน  หรือ อย่างน้อยก็มีประชาชนอาศัยอยู่   และ  อาจจะเป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีราชาภิเษกของฟาโรห์ด้วย แม้กระทั่งในยุคกรีก  

การค้นพบดังกล่าวเป็นแรงผลักดันสำคัญให้นักโบราณคดีเชื้อสายอียิปต์ ทำการขุดค้นขยายวงเพื่อค้นหาสิ่งเร้นลับที่ถูกฝังเอาไว้ใต้ดิน 

ในที่สุดเขาก็มาพบหลุมฝังศพเพิ่มเติม  และ  กำลังขุดค้นบริเวณที่สันนิษฐานน่าจะเป็นพีระมิดอีกองค์หนึ่ง ที่อยู่ไม่ห่างจากพีระมิดแบบขั้นบันไดเท่าไหร่นัก 

บริเวณดังกล่าว  ถูกเรียกขานว่า  บูบาสทิอุม(BUBASTEUM)  หรือ  บูบาสเทียน


(เทพธิดาบาสเตตของศาสนาอียิปต์โบราณ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ชื่อดังกล่าว   มีที่มาจากชื่อของเทพธิดาของศาสนาอียิปต์โบราณที่เรียกว่า  บาสเตต (BASTET) ซึ่งเป็นเทพธิดาที่มีศรีษะเป็นแมว  ตัวเป็นผู้หญิง 

ในพิพิทภัณฑ์ไคโร   มีมัมมี่ของสัตว์หลายชนิด  ทั้งที่แป็นสัตว์เลี้ยง และ สัตว์ป่า เช่น จรเข้  งู  รวมทั้ง แมว จัดแสดงอยู่   สร้างคำถามให้แก่เหล่านักท่องเที่ยวจำนวนมากว่า

ทำไมชาวอียิปต์โบราณจึงต้องทำมัมมี่แมว และ สัตว์เหล่านี้เอาไว้ด้วย

ผมเฉลยคำถามนี้ในตอนต่อๆไปครับ

สนใจเดินทางเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน กับผม  ระหว่างวันที่ 7-16 ธันวาคม  และ   8-17 กุมภาพันธ์ 2567  ติดต่อสอบถามได้โทร 0885786666  หรือ LINE ID – 14092498  รับจำนวนจำกัด 20 ท่านเท่านั้น

พบกันใหม่สัปดาห์หน้า   สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .