มัมมี่คืนชีพ(ตอน6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 ตุลาคม 2566)

มัมมี่คืนชีพ(ตอน6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ภายในสุสานแบบมาสตาบา ของ คาเกมนิ จะประกอบด้วยผนังหินปูนหลายผนังกั้นเป็นห้องต่างๆ  แต่ละผนังจะมีภาพแกะสลักแบบนูนต่ำเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของคาเกมนิในสมัยที่ยังมีชีวิตว่า   เขาเคยทำอะไรบ้าง

ภาพสลักแสดงให้เห็นว่า   คาเกมนิ มีครอบครัวใหญ่มาก  มีคนใช้ชายหญิงมากมาย  บางภาพแสดงให้เห็นข้ารับใช้กำลังช่วยกันจับปลา   แต่ละคนเปลือยท่อนล่างซึ่งเข้าใจว่า  ในเวลาปกติน่าจะมีผ้าผืนเล็กๆแบบผ้าเตี่ยวพันปิดอวัยวะสำคัญ


(ภาพสลักที่แสดงคนงานชาวอียิปต์เปลือยท่อนล่าง กำลังสาละวนอยู่กับการจับปลา)

ซึ่งเป็นไปได้ว่า  คนงานเหล่านี้คงเกรงว่า  ผ้าเตี่ยวผืนนี้จะเปียก  จึงถอดออกมาพันไว้ที่เอว หรือ ที่อกแทน

ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ  บรรดาคนใช้ทุกคนจะสวมวิกผม  ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชาวอียิปต์ในยุคนั้น  มิใช่จำเพาะแต่เพียงผู้มีฐานะเท่านั้นที่สวมวิกผม  มีหลักฐานว่า  ชาวอียิปต์โบราณได้ใช้วิกผมมาเป็นเวลานานหลายพันปีแล้ว   ก่อนที่วิกผมจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งเมื่อประมาณ 200 ปีเศษนี่เอง  

ทำไม  ชาวอียิปต์โบราณต้องสวมวิกผม


(ภาพสลักของหญิงชื่อ เนเฟอร์ ที่จะเห็นสวมวิก และมีวงกลมรัดที่ศรีษะกันหลุดอีกชั้นหนึ่ง)

แม้ว่าจะไม่หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่บอกถึงสาเหตุว่า  ทำไมชาวอียิปต์จึงต้องสวมวิกผม   แต่นักโบราณคดีก็สันนิษฐานว่า   อาจจะเป็นไปได้ที่สุขลักษณะของผู้คนในยุคนั้นยังไม่ดี   ทำให้ทั้งชายและหญิงต่างก็เป็นเหา หรือ เห็บกันถ้วนหน้า 

เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องเหาและเห็บได้ พวกเขาจึงแก้ปัญหาด้วยการโกนศรีษะเสีย  ทั้งชายและหญิง  แต่เพื่อความสวยงามทุกคนจึงต้องสวมวิกผมกัน

นอกจากการประมงในแม่น้ำไนล์แล้ว  เขายังเลี้ยงปศุสัตว์  ซึ่งในภาพที่เห็นจะเป็นการเลี้ยงวัว  ภาพที่น่ารักภาพหนึ่งก็คือ  การนำเอาฝูงวัวข้ามแม่น้ำไนล์

เนื่องจากในแม่น้ำไนล์ในยุคนั้นเต็มไปด้วยภยันตราย  ไม่ว่าจะเป็นจรเข้  และ  ฮิปโปโปเตมัส  บรรดาวัวเหล่านี้สามารถรับรู้ได้ถึงอันตรายที่มองไม่เห็นในน้ำ  สัตว์เหล่านี้จึงลังเล และไม่ยอมข้ามแม่น้ำกัน

ชาวอียิปต์โบราณแก้ปัญหาได้อย่างน่ารักทีเดียว   ด้วยการจับเอาลูกวัวตัวน้อยผูกเอาไว้กับท้ายเรือ  แล้วให้เรือพายนำข้ามแม่น้ำไป


(กุศโลบายในการนำฝูงวัวข้ามแม่น้ำไนล์ที่เต็มไปด้วยภยันตรายนานาชนิด- ภาพโดยผู้เขียน)

เมื่อแม่วัวเห็นลูกของตัวเองลงไปอยู่ในน้ำ   แม่วัวก็ตามติดไปเพื่อดูแลลูกของมันโดยไม่สนใจอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากในน้ำ   วิธีนี้  ชาวบ้านก็สามารถนำฝูงวัวข้ามแม่น้ำได้สำเร็จ

แต่ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกันว่า   บางครั้งวัวบางตัวก็อาจจะถูกจรเข้งาบไปก็ได้

เนื่องจากคาเกมนิ  มีตำแหน่งสูงทางการเมือง  ซึ่งสันนิษฐานว่า  อาจจะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีจากประชาชนด้วย 


(ภาพแสดงการเก็บภาษีของคาเกมนิ-ภาพโดยผู้เขียน)

จึงมีภาพสลักที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการเก็บภาษีจากประชาชน  ซึ่งหากจะเล่าในที่นี้ก็จะต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก จึงขอนำไปเล่าให้แก่ผู้เดินทางท่องเที่ยวกับผมนะครับ

สรุปแล้ว  ภาพสลักภายในสุสานของคาเกมนิ ก็เหมือนการบรรยายถึงคุณงามความดีของเขาตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่   ทำให้อดนึกถึงหนังสือแจกงานศพของเราในปัจจุบันนี้ไม่ได้

มนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย  แม้เวลาจะผ่านไปนับเป็นพันๆปีก็ตาม

สนใจเดินทางแบบเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน กับผม  ระหว่างวันที่ 7-16 ธันวาคม  และ   8-17 กุมภาพันธ์ 2567  ติดต่อสอบถามได้โทร 0885786666  หรือ LINE ID – 14092498  รับจำนวนจำกัด 20 ท่านเท่านั้น  ปิดกรุ๊ป 30 วันก่อนเดินทาง

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .