คุ้มครองผู้บริโภคไทยต้องดูอินเดียเป็นตัวอย่าง(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 พฤศจิกายน 2566)

คุ้มครองผู้บริโภคไทยต้องดูอินเดียเป็นตัวอย่าง(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ปัจจุบัน  บริษัท ITC เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจแทบจะทุกชนิดแบบครอบจักรวาล  ตั้งแต่ธุรกิจซอฟ์ทแวร์ เกี่ยวเนื่องกับคอมพิวเตอร์ ,  บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ต่างๆ   ,  กระดาษแข็งที่ใช้ในการทำกล่อง  หรือ  กระดาน   ,  กระดาษชนิดต่างๆ   ,  ผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตร ,  ธุรกิจผลิตสินค้าบริโภคเร็ว  เช่น  พวกขนมขบเคี้ยว  อาหารว่างๆต่างๆมากมายในซุปเปอร์มาร์เก็ต  และ   ธุรกิจโรงแรมระดับ 5 ดาวที่มีเครื่อข่ายไปทั่วทั้งประเทศอินเดีย  และอีกมากมาย


(โรงแรมระดับดีลักซ์ชื่อ  ITC ROYAL BENGAL ของบริษัท ITC ที่เมืองกอลกัตตา )

               ใครที่คิดจะไปฟ้องร้อง หรือ ต่อกรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้  กับแค่ประเด็นขนมคุ๊กกี้ในถุงขาดไปเพียงแค่ชิ้นเดียว  จากจำนวน 16 ชิ้น  ก็ถือว่า  แทบไม่มีโอกาสชนะเลย

แต่หญิงสาวตัวเล็กๆคนหนึ่ง   ที่อาจหาญยืนหยัดขึ้นมาต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ระดับนี้   มองจากภายนอกก็ต้องยอมรับว่า  เธอมีจิตใจที่แข็งแกร่ง  และ  ยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องโดยไม่สนว่า  คู่ต่อสู้ของตัวเองจะมีเงินทอง  มีทนายความดีๆ  และมีเส้นสายมากมายขนาดไหน

เหมือนกับ  เดวิด ที่หาญกล้ามาต่อสู้กับยักษ์โกไลแอตอย่างไรอย่างนั้น    

อินเดียมีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ  ดังนั้น   ในแต่ละรัฐจึงมีภาระหน้าที่คล้ายกับรัฐบาลของประเทศหนึ่ง   มีกระทรวงทบวงกรมต่างๆเหมือนของประเทศที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกิจการภายในประเทศอย่างมีอิสระ  โดยที่รัฐบาลกลางไม่สามารถแทรกแซงได้


(ภาพการ์ตูนที่เผยแพร่เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐเบงกอลตะวันตกในอินเดีย)

หนึ่งในกระทรวงสำคัญของแต่ละรัฐก็คือ  กระทรวงคุ้มครองผู้บริโภค

แตกต่างจากประเทศไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพียงแค่ระดับ  “สำนักงาน”  เท่านั้น 

ดิลลีบาบู นำเรื่องไปฟ้องร้องต่อกระทรวงคุ้มครองผู้บริโภค  เพื่อให้บริษัทรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ  ซึ่งผมสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า   หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย  เรื่องคงถูกตีตกไปตั้งแต่ต้น

แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย  ประเทศที่คนไทยมักจะดูถูกดูแคลนในทุกๆด้าน   แต่ด้วยระบบที่วางเอาไว้อย่างดีของประเทศ  ทำให้การเรียกร้องความธรรมในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจึงไม่ถูกละเลย  แม้แต่เรื่องขนมคุ๊กกี้ราคา 12 รูปี หรือ 6 บาทเท่านั้น

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทดลองพิสูจน์ด้วยการสุ่มตรวจขนมคุ๊กกี้จำนวนหนึ่งที่ซื้อมาจากท้องตลาด   ก็พบว่า   ทุกถุงมีคุ๊กกี้จำนวน 15 ชิ้นเหมือนกัน   ไม่มีถุงใดเลยที่มีจำนวน 16 ชิ้น

ทั้งๆที่  บนถุงคุ๊กกี้เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า  บรรจุ 16 ชิ้น  

ทนายความของบริษัท ITC แก้ต่างว่า   บริษัท ITC  ขายขนมคุ๊กกี้ ด้วยมาตรฐานตามน้ำหนัก  กล่าวคือ  คุ๊กกี้ในแต่ละถุงจะมีน้ำหนักเท่ากันทุกถุงคือ 76 กรัม

บริษัทไม่ได้ขายคุ๊กกี้ตามมาตรฐานจำนวนชิ้นที่ 16  ชิ้นตามที่ดิลลิบาบู ฟ้องร้อง


(ขนมคุ๊กกี้อีกแบบหนึ่งของบริษัท SUNFEAST ภายใต้บริษัท ITC)

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงทำการตรวจสอบขนมคุ๊กกี้จำนวนต่อๆไปก็พบว่า    นอกจากในแต่ละถุงจะมีขนมคุ๊กกี้เพียง 15 ชิ้น  มิใช่ 16 ชิ้นแล้ว    น้ำหนักของคุ๊กกี้ในแต่ละถุงยังมีน้ำหนักเพียง 74 กรัมด้วย

หมายความว่า   น้ำหนักของขนมคุ๊กกี้แต่ละถุงจะขาดหายไป 2 กรัม

ทนายความของบริษัทแก้ต่างว่า  ตามกฎหมายของปี 2011  อนุญาตให้การบรรจุอาหารสำเร็จรูปในถุงสามารถผิดพลาดได้ถึง 4 กรัมต่อถุง   แต่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็ย้อนกลับไปว่า   แม้ว่าน้ำหนักของอาหารที่ผิดพลาดจะมีเพียงถุงละ 2 กรัมเท่านั้น

แต่ก็ขัดแย้งกับที่โฆษณาบนถุงขนมว่ามีจำนวน 16 ชิ้นอยู่ดี

เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร   กรุณติดตามต่อในสัปดาห์ครับ

สนใจร่วมเดินทางท่องเที่ยวแบบเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน กับผม  ระหว่างวันที่ 7-16 ธันวาคม  และ   8-17 กุมภาพันธ์ 2567  ติดต่อสอบถามได้โทร 0885786666  หรือ LINE ID – 14092498  ขณะนี้  เหลือที่ยังรับได้อีกเพียง  12 ที่นั่งเท่านั้น  ปิดกรุ๊ปล่วงหน้า 30 วันก่อนเดินทาง

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .