มหาราชา-นาวาบ-และนิซาม คนแปลกคน(ตอน6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (11 กุมภาพันธ์ 2567)

มหาราชา-นาวาบ-และนิซาม คนแปลกคน(ตอน6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

บุคคลผู้ทรงอำนาจของอินเดียยุคบริติช ราช คนต่อไปที่ผมจะเล่าให้ฟังก็คือ  นิซามแห่งไฮเดอร์ราบัด(NIZAM OF HYDERABAD) ผู้สร้างปัญหาแสนปวดหัวให้แก่รัฐบาลคองเกรส ที่ประกอบด้วย เนห์รู(JAWAHARLAL NEHRU) ,  ซาร์ดาร์ วัลลาบห์ไบห์ ปาเทล(SARDAR VALLABHBHAI PATEL) ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลอินเดียหลังจากอินเดียได้รับเอกราช และ กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องแยกประเทศออกเป็น อินเดีย และ ปากีสถาน


(อนุสาวรีย์ของ ซาร์ดาร์ วัลลาบห์ไบห์ ปาเทล ที่สร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา  อยู่ในรัฐกุจราช บ้านเกิดของเขา – ภาพจากวิกิพีเดีย) 

นิซาม เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิโมกุล ให้ทำหน้าที่ปกครองต่างพระเนตรพระกรรณในดินแดนที่ห่างไกล   มีอยู่เพียงที่เดียวก็คือ  นิซาม แห่งเมืองไฮเดอร์ราบัด

นิซามแห่งไฮเดอร์ราบัด เป็นสมาชิกของราชวงศ์ อะซาฟ จาห์ฮี(ASAF JAHI DYNASTY)  มีถิ่นฐานเดิมจากบริเวณเมืองซามาร์คาน ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน  อพยพเข้าประเทศเปอร์เชีย จากนั้นเข้ามาสู่อินเดียในราวศตวรรษที่ 17  หรือในช่วงปีค.ศ. 1600

(แผนที่แสดงที่ตั้งของอุซเบกิสถาน (ลูกศรสีแดง) และอินเดีย (ลูกศรสีน้ำเงิน) )

ไฮเดอร์ราบัด ตั้งอยู่ในรัฐอันตระประเทศ ตอนกลาง-ล่างของประเทศอินเดีย  ใกล้ที่ราบสูงเดคคาน   เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  แร่ธาตุต่างๆ  ประเภทบรรดาอัญมณี  เช่น  มรกต  และ เพชรชนิดที่หายาก

จนกระทั่งครั้งหนึ่ง  เมืองไฮเดอร์ราบัด เคยเป็นศูนย์กลางของการค้าเพชรที่หายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก  และ หลังจากเกิดสงครามเพื่ออิสรภาพครั้งแรกของอินเดียในปีค.ศ. 1857  บางทีก็เรียก กบถซีปอย   ที่ทำให้ราชวงศ์โมกุลหมดอำนาจลง และ ล่มสลายในเวลาต่อมา

ผลของการล่มสลายของราชวงศ์โมกุล  ทำให้เมืองไฮเดอร์ราบัด เขยิบฐานะกลายเป็นศูนย์กลางในแทบทุกๆด้านของประเทศอินเดีย

เพราะบรรดาศิลปินจากทุกสาขาทางเหนือของอินเดียได้อพยพลงมาสู่เมืองไฮเดอร์ราบัด  ซึ่งพูดให้เจาะจงลงไปเลยก็คือ เพื่อเข้ามาพึ่งใบบุญจากนิซามแห่งไฮเดอร์ราบัดผู้มั่งคั่ง  แทนที่ราชวงศ์โมกุล  

ทำให้ไฮเดอร์ราบัด กลายเป็นเมืองที่รุ่มรวยในด้านวัฒนธรรมแทบจะทุกด้าน 


(ข้าวบริยานิไก่ ของไฮเดอร์ราบัด – ภาพจาก NISH KITCHEN )

ว่ากันว่า   ข้าวหมก ตามที่เราคนไทยเรียกกัน และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า  ข้าวบริยานี่ อันเป็นอาหารขึ้นชื่อของชาติมุสลิม เชื่อกันว่า   บริยานีที่รสชาติดีที่ของอินเดีย ก็คือข้าวบริยานี่ของเมืองไฮเดอร์ราบัด (HYDERABADI BIRYANI)

เพราะเป็นสูตรที่มาจากครัวของราชสำนักของนิซามแห่งไฮเดอร์ราบัด  และถูกนำออกมาสู่ครัวชาวบ้านในเวลาต่อมา

จำนวนของนิซาม แห่งไฮเดอร์ราบัด ตั้งแต่ต้นจนผ่านยุคของการล่มสลายของราชวงศ์โมกุล จนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษมีจำนวนทั้งสิ้น 7 พระองค์ 

ผ่านร้อนผ่านหนาวแม้กระทั่งผู้แต่งตั้งนิซามคือ ราชวงศ์โมกุลจะล้มหายตายจากไปแล้ว  นิซามก็ยังรักษาเนื้อรักษาตัวมาจนกระทั่งวันที่รัฐไฮเดอร์ราบัด จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชะตากรรมของตัวเองว่า  จะเลือกว่าจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย  หรือ ปากีสถาน

ความซับซ้อนของไฮเดอร์ราบัดอยู่ตรงที่   จุดที่ตั้งของไฮเดอร์ราบัดเปรียบเสมือนไข่แดงท่ามกลางไข่ขาวที่เป็นประเทศอินเดีย

ที่น่าสนใจก็คือ  ประชาชนส่วนใหญ่ของไฮเดอร์ราบัดเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดู   แต่นิซาม ซึ่งผู้ปกครองกลับนับถือศาสนาอิสลาม   แล้วจะเอาอย่างไร

ผมจะนำมาเล่าต่อในโอกาสต่อไปครับ  

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .