ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (21 เมษายน 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

แม้กบถครั้งรุนแรงที่สุดที่เรียกว่า  กบถซีไหล ที่เกิดขึ้นในปี 1915 หรือ 20 ปีหลังจากที่ญี่ปุ่นยึดครองไต้หวันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบ   เพราะทั้งกำลังคน และ  กำลังอาวุธของญี่ปุ่นเหนือกว่าของพวกบถมากมายหลายเท่า

แต่ชาวไต้หวัน  โดยเฉพาะคนพื้นถิ่นชาวเกาะไต้หวันยังไม่ยอมรับการปกครองของญี่ปุ่น  แต่เก็บความไม่พอใจเอาไว้เงียบๆ  จนในที่สุดการก่อการกบถก็ได้ระเบิดขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 1930

เรียกว่า  กบถวูเชอะ


(เมืองวูเชอะ ตั้งอยู่ในเขต หนานโถว (พื้นที่สีแดงในแผนที่) ตอนกลางของไต้หวัน – ภาพจากกูเกิ้ล แมพ)

หลังจากกบถซีไหลแล้ว  กองทัพญี่ปุ่นผู้ยึดครองก็ดำเนินนโยบายหลายหน้าในเวลาเดียวกัน  หน้าหนึ่งก็คือการตอบโต้ผู้ขัดขืนการปกครองของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง หนักหน่วง 

ชนเผ่าต่างๆที่กองทัพญี่ปุ่นมองว่า   เป็นพวกป่าเถื่อนสุดๆ  จะได้รับการปฎิบัติแบบคนป่าเถื่อน  โดยไม่คิดว่า  คนเหล่านี้ก็คือมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน   ซึ่งก็คงไม่ต่างจากทัศนคติของคนอเมริกันต่อทาสผิวดำในอเมริกาว่าไม่ต่างอะไรจากสัตว์ที่พูดได้

ขณะเดียวกัน  ญี่ปุ่นก็พยายามที่จะเข้าหาชนเผ่าเหล่านี้   ด้วยกันเข้าไปสนิทสนม  ทำดีกับหัวหน้าเผ่า  หรือ  คนที่มีอิทธิพลทางความคิดของชนเผ่าเหล่านั้น   จนถึงขั้นคัดเลือกคนจากเผ่าต่างๆจำนวน 43 เผ่าเพื่อเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น

แน่นอนว่า   เพื่อไปล้างสมอง

ขณะเดียวกัน   ก็ดำเนินนโยบายอีกด้านหนึ่งก็คือ  การบีบให้ชนเผ่าต่างๆต้องเอาอาวุธที่ใช้ในการล่าสัตว์ในชีวิตประจำวันมาส่งมอบให้แก่ทหารญี่ปุ่น  จากนั้นก็บีบให้ชนเผ่าที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในป่าบนเขา  ให้ย้ายลงมาอยู่บนพื้นราบใกล้เมือง   เพื่อที่ทางการญี่ปุ่นจะสามารถเข้าไปสอดส่องความเคลื่อนไหวได้ง่าย 


(โมนา รูดาโอ (คนกลาง) หน้าหน้าชนเผ่าซีดดิคของไต้หวัน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

หนึ่งในผู้ที่ได้รับเชิญให้เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในปี 1911 ก็คือ โมนา รูดาโอ ซึ่งน่าจะเป็นลูกชายคนโตของหัวหน้าเผ่าซีดดิค ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้เมือง วูเชอะ

สาเหตุที่ญี่ปุ่นเลือกโมนา รูดาโอ จากเผ่าซีดดิค ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็เพราะประเมินว่า ชนเผ่าซีดดิค ทำให้เชื่องได้ง่ายที่สุด   แม้กระทั่งรายงานภายในกองทัพญี่ปุ่นเองก็ยกย่องผลงานของทหารที่ดูแลชนเผ่าซีดดิคว่า  มีผลงานดีเยี่ยมในการทำให้ชนเผ่าซีดดิคเชื่องลงได้มากที่สุดในบรรดาชนเผ่าทั้งหมด  

หลังจากกลับจากญี่ปุ่น  โมนา รูดาโอ ก็ได้ขึ้นครองตำแหน่งหัวหน้าเผ่าซีดดิค ต่อจากบิดาของเขา  ด้วยบุคลิกภาพที่มีความเด็ดขาดของเขา ไม่นานนัก  โมนา รูดาโอ ก็กลายเป็นหัวหน้าเผ่าที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อหัวหน้าชนเผ่าอื่นอย่างมากที่สุด


(เครื่องแต่งกายของชนเผ่าซีดดิค – ภาพจากวิกิพีเดีย)

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับชนเผ่าต่างๆจะราบรื่นขึ้น   กระนั้นก็ตาม  ในระดับที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านก็ยังมีปัญหากันอยู่เนืองๆ   เพราะตำรวจในท้องถิ่นวูเชอะ ยังคงใช้มาตรการโหดกับชนเผ่าเหล่านี้  ตำรวจส่วนใหญ่ยังปฎิบัติกับชนเผ่าอย่างไม่ให้เกียรติ   บางครั้งก็กระทำการลบหลู่ประเพณี และ ความเชื่อที่ยาวนานของชนเผ่าด้วย 

ในเมื่อทัศนคติของญี่ปุ่นในการยึดครองไต้หวันยังไม่เปลี่ยนแปลง  สถานการณ์ที่ดูจะไม่มีอะไรก็เพียงแต่รอวันระเบิดเท่านั้น 

แล้ววันนั้นก็มาถึง

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .