ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 เมษายน 2567)

ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

วันที่ 26 มิถุนายน ปี 1895  หลิว ยง ฟู ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสาธารณรัฐฟอร์โมซา ตั้งฐานที่มั่นอยู่ทางใต้ของเกาะไต้หวันที่เมืองไถหนาน ถือเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐด้วย

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์  ญี่ปุ่นเองก็หนักใจกับการวางแผนเข้ายึดครองเมืองไถหนาน เพราะประเมินว่าไม่น่าจะง่าย   คงจะมีข้อมูลเข้ามาก่อนหน้านี้แล้วว่า   การต่อต้านของประชาชนชาวไต้หวันทางภาคใต้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  

กองทัพญี่ปุ่นจึงตัดสินใจชะลอการบุกเมืองไถหนาน  เพื่อรอกำลังเสริมที่แข็งแกร่งกว่ามาสมทบ


(แผนที่ของเกาะไต้หวัน  เมืองไถหนานอยู่เกือบสุดทางใต้ของเกาะ-ภาพจาก WORLDATLAS.COM)

เดือนตุลาคม  กองกำลังเสริม 2 กอง  กองแรกมาจากแมนจูเรีย  และกองกำลังที่ 4 จากจังหวัดโอซากา ที่มีเจ้าชายฟูชิมิเป็นผู้บัญชาการก็ยกพลขึ้นบกทางทิศเหนือของเกาะ กำลังของทั้งสองหน่วยมีจำนวนรวมกัน 5,460 คน เพื่อปฎิบัติภารกิจยึดเมืองไถหนาน ฐานกำลังสำคัญของนักรบกองโจรของไต้หวัน

กองกำลังที่สองของญี่ปุ่นที่มีกำลังพล 6,330 คน  ก็ยกพลขึ้นบกทางด้านใต้ของเมืองไถหนาน  จากนั้น  ทั้งสองกองกำลังก็เดินทัพเข้ามาบรรจบกันที่เมืองไถหนาน

กองทัพญี่ปุ่นที่มีกำลังรวมกันประมาณ 2 หมื่นคน บุกเข้าประชิดเมืองไถหนานจาก 3 ทิศทาง   หลิว ยง ฟู ประธานาธิบดี คนที่ 2 ของสาธารณรัฐฟอร์โมซา เห็นท่าไม่ดี  จึงหนีกลับแผ่นดินใหญ่ 


(หลิว ยง ฟู ประธานาธิบดีคนที่สองของสาธารณรัฐฟอร์โมซา ผู้หนีเอาตัวรอด-ภาพจากวิกิพีเดีย)

กองทัพญี่ปุ่นใช้เวลาไม่นานนัก  ก็สามารถบีบจนกองกำลังชาวไถหนาน ต้องประกาศยอมแพ้อย่างไร้เงื่อนไข  ยอมแม้กระทั่งคุกเข่าคำนับต่อทหารญี่ปุ่น ว่าจะยอมรับญี่ปุ่นให้เป็นผู้ปกครองไต้หวันต่อไปในอนาคต

ถือเป็นการยอมแพ้อย่างไร้ศักดิ์ศรีอย่างที่สุด

การพ่ายแพ้ของชาวไต้หวันที่เมืองไถหนาน  ถือเป็นจุดหักเหสำคัญในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น  เพราะหลังจากนั้น  การต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นก็เป็นไปแบบไร้ระบบ และ ไร้กำลังพลที่พียงพอ  และไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นความพยายามขับไล่กองทหารญี่ปุ่นออกไปจากไต้หวัน  


(วัดซีไหล ในเมืองไถหนาน จุดรวมพลของนักสู้ชาวไต้หวัน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

กระนั้นก็ตาม  ก็ยังเกิดการลุกฮือก่อการกบถอยู่เรื่อยๆ  แต่ครั้งใหญ่ๆมีอยู่สองครั้ง  ครั้งแรกเรียกว่า  การกบถที่วัดซีไหล ในเมืองไถหนาน

กบถที่วัดซีไหล เริ่มด้วยการโจมตีสถานีตำรวจหลายแห่งของญี่ปุ่นพร้อมๆกัน  เป็นการรวมกำลังระหว่างบรรดานักสู้ชาวจีนฮั่น และชนพื้นถิ่นหลายเผ่า และชนเผ่าหนึ่งที่มีชื่อว่า ชนเผ่าไทวอน(TAIVOAN TRIBE) มาร่วมด้วย

นักวิชาการเชื่อว่า   ชื่อของเกาะไต้หวันน่าจะมีที่มาจากชื่อของชนเผ่า “ไทวอน” นี้เอง

กบถครั้งนี้ล้มเหลวอีกครั้ง  ประมาณว่ามีคนพื้นถิ่นถูกสังหารไปกว่า 1,400 คน ที่เหลือถูกจับกุมตัวแล้วส่งไปคุมขังที่คุกของเมืองไถหนาน  ถือเป็นกบถครั้งร้ายแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งของไต้หวันต่อญี่ปุ่น  


(นักสู้ชาวไถหนาน ในกบถซีไหล ถูกคุมตัวออกจากเรือนจำไปขึ้นศาลโดยมีทหารญี่ปุ่นคอยควบคุมอย่างใกล้ชิด – ภาพจากวิกิพีเดีย)

สิ่งที่น่าสนใจของการก่อกบถครั้งนี้ก็คือ  กองกำลังที่ร่วมในการก่อการกบถมีความเชื่อว่า  ตัวเองเป็นพวกหนังเหนียว  ที่ศาสตราวุธสมัยใหม่ไม่อาจระคายผิวได้  คล้ายกับความเชื่อของกองกำลังกบถนักมวย (BOXER REBELLION) ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในยุคของราชวงศ์ชิง ประมาณปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องต้นศตวรรษที่ 20  

แต่นักรบชนเผ่าคงหนังไม่เหนียวจริง  จึงพ่ายแพ้ในที่สุด

หลังจากนั้น   ชาวจีนฮั่นก็ถอนตัวออกไปจากขบวนการก่อการแข็งข้อต่อกองทัพญี่ปุ่น  คงเหลือแต่เพียงชนชาวพื้นถิ่นที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้ต่อไป

ถือเป็นการก่อกบถโดยใช้อาวุธที่ร้ายแรงอีกครั้งหนึ่งของไต้หวัน

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .