ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (19 เมษายน 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ถ้าพูดถึงแนวความคิดในเรื่องเทพเจ้าของฮินดูแล้ว  น่าจะเชื่อได้ว่า  ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อในเรื่องเทพเจ้ามาจากศาสนาอียิปต์โบราณเป็นหลัก

               และมิใช่เพียงศาสนาฮินดูเท่านั้น  ศาสนายูดาย  ศาสนาคริสต์ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาอียิปต์โบราณเช่นกัน

               โดยเฉพาะในเรื่อง เทพเจ้าสามองค์ หรือที่ฮินดูเรียกว่า  ตรีมูรติ  หรือที่ปรากฎร่องรอยในศาสนาคริสต์ ที่เรียกว่า  ไตรเอกภาพ นั่นเอง

               ไว้โอกาสหน้า  ผมจะนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าให้ฟังครับ

               สิ่งหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกันระหว่างเทพเจ้าของอียิปต์  เทพเจ้าของกรีก  และ เทพเจ้าของฮินดู ก็คือ  เทพเจ้าเหล่านี้  มีความเป็นมนุษย์ค่อนข้างมาก  มีกิเลส  รัก  โลภ โกรธ  หลง จนแทบจะเหมือนมนุษย์ทีเดียว

               ทั้งนี้  นักประวัติศาสตร์มีหลักฐานในเรื่องการอพยพ เคลื่อนย้าย ของชาวอินโด-อารยัน จากพื้นที่โดยรอบทะเลสาบแคสเปี้ยน บริเวณประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ไปสู่หลายพื้นที่ เช่น  บางส่วนเข้าไปในยุโรป  บางส่วนเข้ามาในอินเดีย  ซึ่งพวกที่อพยพเข้ามาในอินเดีย ก็คือกลุ่มชนที่ได้คิดค้นศาสนาฮินดูขึ้นมา

               การอพยพดังกล่าว  เกิดขึ้นเมื่อ 4 – 5 พันปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย   


(ในวงกลม ก็คือทะเลสาปแคสเปียน และพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอิหร่านปัจจุบัน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เพียงแต่วิธีจัดวางระบบเทพเจ้าของศาสนาฮินดู ค่อนข้างลึกซึ้ง และ มีระบบ มากกว่าการจัดวางระบบเทพเจ้าของกรีก และ อียิปต์

               ซัปตา มัททริกา เป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดวางเรื่องราวของเทพ(GODES) และ เทพี(GODDESSES) ให้มีเหตุมีผลต่อกันให้มากที่สุด  แม้ว่า  บางครั้งอาจจะขัดแย้งกันบ้าง

               มัททริกา มีความหมายว่า  มารดาแห่งสวรรค์  มักปรากฎตัวเป็นกลุ่ม  บางครั้งก็ 7 องค์  เรียกว่า ซัปตา มัททริกา   แต่บางครั้งก็ปรากฎตัวพร้อมกัน 8 องค์  เรียกว่า  อัสตะ มัททริกา


(ชาวอินโด อารยัน อพยพเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ผ่าน อัฟกานิสถาน และ ปากีสถาน -ภาพจากวิกิพีเดีย)

               นักวิชาการเชื่อว่า  แนวความคิดในการนับถือเพศหญิงเป็นใหญ่ของศาสนาฮินดู  น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก ศาสนาของชาวดราวิเดียน  ซึ่งเป็นชนเผ่าดั่งเดิมที่อาศัยอยู่ในอนุทวีปอินเดีย  ก่อนหน้าที่ชนเผ่า อินโด  อารยัน จะอพยพมาถึง  และ สถาปนาศาสนาฮินดูขึ้นมา

               ต่อมา  ลัทธิดังกล่าวของชาวดราวิเดียน ได้รับการพัฒนาขึ้น  กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของ ศาสนาฮินดู  เรียกว่า  ลัทธิ ชัคติ


(ผู้เขียนที่วิหาร พาราสุราเมศวา)

               เนื่องจากวิหาร พาราสุราเมศวา สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่ พระศิวะ กับ พระแม่ปาร์วาตี   เพียงแต่มีพิธีกรรมบูชาพระแม่ปาร์วาตี ไปยัง ซัปตา มัททริกา ในตอนเย็น   ดังนั้น รูปสลักของ ซัปดา มัททริกาที่อยู่บนผนังจึงเป็นเทพี 7 องค์ที่ได้รับอำนาจ หรือ พลังอำนาจจากพระแม่ปาร์วาตีโดยตรง 

               มัททริกา 7 องค์นี้  มี 6 องค์ที่ได้รับอำนาจจากเทพเจ้าหลัก 3 องค์   ทั้ง 6 องค์ประกอบด้วย  บราห์มานี ได้รับอำนาจมาจาก พระพรหม , ไวย์ชนาวี ได้รับอำนาจมาจาก พระวิษณุ , มาเฮชวารี ได้รับอำนาจมาจาก พระศิวะ ,วราหิ ซึ่งได้รับอำนาจจาก วราหะ อวตารหนึ่งของพระวิษณุ , อินทรานี ได้รับอำนาจจาก พระอินทร์ , เกามารี  หรือ  กุมารี ได้รับอำนาจจาก กุมารา  หรือ  สคานดา หรือ การ์ติเคยา หรือ ที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม พระเสาร์ โอรสของพระศิวะ

(บราห์มานี)
(ไวย์ชนาวี)
(มาเฮชวารี)
(วราหิ)
(อินทรานี)
(เกามารี หรือ กุมารี) 

และองค์สุดท้าย  องค์ที่ 7  ก็คือ  ชามุนดา นั้น  รับอำนาจมาจาก เทวี  หรือ พระแม่ปาร์วาตี ผู้ที่ได้รับบูชาว่า   เป็นเทพีผู้มีพลังแห่งสวรรค์  นั่นเอง  เพราะชามุนดา  เป็น มัททริกา องค์เดียวที่ไม่มีคู่ครอง

(ชามุนดา)

               ขอให้อ่านด้วยความสนุกนะครับ  เพราะเรื่องเทพเจ้าของฮินดู  ยังมีอะไรๆสนุกๆอีกเยอะครับ

               สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดีย อย่างลึกซึ้ง  โรงแรมที่พักดี  อาหารคุณภาพ  เชิญร่วมเดินทางกับเรา  ไวท์ เอเลแฟนท์  ทราเวล เอเยนซี่

               ผมได้รับเมล์จากท่านผู้อ่านหลายท่านว่า  อยากจะอ่านเรื่องย่อจากหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” ต่อ  บางท่านบอกว่า  ไม่สามารถหาซื้อหนังสือเล่มนี้ได้อีก  ผมจึงจะนำมาเขียนต่อ  แต่ขอเวลาในการกลับไปเตรียมตัวก่อนครับ

               พร้อมเมื่อไหร่แล้วจะเรียนให้ทราบครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .