เมื่อดาวพฤหัส(๕) ย้ายราศีกลายเป็น อุจจ์

เมื่อดาวพฤหัส(๕) ย้ายราศีกลายเป็น อุจจ์ 

ช่วงสัปดาห์นี้ตั้งแต่วันที่  15 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมา ผู้สนใจในวิชาโหราศาสตร์ไม่ว่าจะสายไหนก็แล้วแต่  จะพูดถึงเรื่องปรากฎการณ์ทางดวงดาวบนท้องฟ้าที่มีนัยยะในทางพยากรณ์อยู่เรื่องหนึ่ง  คือ

วาระที่ดาวพฤหัส(๕) ย้ายจากราศีเมถุน  เข้าสู่ราศีกรกฎ

ที่พูดถึงกันมากก็เพราะว่า   เมื่อพฤหัส(๕)โคจรเข้ามาสู่ราศีกรกฎ   ทางโหราศาสตร์ทุกสายจะเรียกเหมือนกันว่า   ดาวพฤหัส(๕) จะมีสถานะเป็น “อุจจ์”

อุจจ์   แปลว่า   สูงส่ง  ดี

แค่เป็น “อุจจ์”  คามความหมายของมันก็บอกว่า   สูงส่ง  และ ดี แล้ว    ในวิชาโหราศาสตร์ทั้งโหราศาสตร์ไทย และ โหราศาสตร์ภารตะ  ยังมีพฤหัส(๕) ที่มีตำแหน่งเหนือกว่า “อุจจ์” ขึ้นไปอีก

คือตำแหน่งที่ดาวพฤหัส(๕) เป็น “มหาอุจจ์”

มีการเชิญชวนกันว่า   ทันทีที่ดาวพฤหัส(๕) เคลื่อนเข้าสู่ราศีกรกฎในวันที่ 17 กรกฎาคม นั้น   หากใครไหว้บูชาดาวพฤหัส(๕) กันในเวลา 20.24 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน 2557   จะได้โชคลาภ   เพราะดาวพฤหัส(๕) จะอยู่ในตำแหน่งที่แรงที่สุด   คืออยู่ในตำแหน่ง “มหาอุจจ์”

ผมไม่ได้ขัดขวาง  หรือ โต้แย้งเรื่องการไหว้ดาวพฤหัส(๕)หรอกครับ   หากไหว้แล้วรู้สึกสบายใจ  รู้สึกว่าจะได้โชค  พ้นเคราะห์   เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น   ไม่เสียหายครับ

เพียงแต่อย่างมงายว่า   เมื่อไหว้ดาวพฤหัส(๕)ตอนเป็น “มหาอุจจ์” แล้ว   ชีวิตจากนี้ไปจะรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลย์บานตะไท แค่นั้นก็พอ

เพราะชีวิตมนุษย์ทุกคน   ล้วนเป็นไปตามกรรม

นอกจากนี้   ดาวพฤหัส(๕)ในคืนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เวลา 20.24 น. ก็ยังไม่ได้ตำแหน่งเป็น “มหาอุจจ์”ด้วยซ้ำ

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง   ผมจึงขอเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

ในประเทศไทย   มีวิธีคำนวณการเคลื่อนย้ายของดวงดาวบนท้องฟ้า เพื่อการผูกดวงชะตา อยู่ 2 ตำราใหญ่ๆ  คือ  วิธีคำนวณแบบ สุริยยาตร ที่ใช้กันมากในการพยากรณ์ของโหราศาสตร์ไทย     และ  วิธีการคำนวณแบบลาหิริตัดค่าอายนางสะ  ที่ใช้ในการพยากรณ์ของโหราศาสตร์ภารตะ หรือ  โหราศาสตร์ฮินดู(HINDU ASTROLOGY)   หรือ โหราศาสตร์พระเวทย์(VEDIC ASTROLOGY)

ผมจะไม่พูดถึงรายละเอียดวิธีการคำนวณ   เพราะค่อนข้างลึกซึ้ง และ ยากในการเข้าใจ   แต่จะพูดถึงผลของการคำนวนมากกว่า

เนื่องจากวิธีในการคำนวณที่แตกต่างกัน   จึงทำให้วันที่ และเวลาที่ ดาวพฤหัส(๕) จะย้ายเข้าสู่ราศีกรกฎพลอยแตกต่างกันไปด้วย

การคำนวณด้วยวิธีสุริยยาตร ถือเป็นดาราศาสตร์แผนไทยที่สืบทอดจากประเทศอินเดียมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย  จะบอกว่า  ดาวพฤหัส(๕) จะย้ายราศีในวันที่ 17 มิถุนายน 2557  ซึ่งแตกต่างจากการระบบการคำนวณแบบลาหิริตัดค่าอายนางสะ อยู่ประมาณ 2 วัน

จากโปรแกรมผูกดวงของ อาจารย์ วิเลิศ จิว  ที่ใช้การคำนวณแบบลาหิริ ตัดค่าอายนางสะ  ระบุว่า   ดาวพฤหัส(๕)จะย้ายเข้าราศีกรกฎในวันที่ 19 กรกฎาคม 2557  เวลา 10นาฬิกา 18 นาที และ 1 วินาที  (ตามรูปดวงชะตาที่แนบมา)

เวลาดังกล่าวนี้  เป็นเวลาของจังหวัดอุบลราชธานี ตามหลักดาราศาสตร์ที่เส้นแวง 105 องศาตะวันออก

หมายความว่า   ทันทีที่ ดาวพฤหัส(๕)ลอยเข้าสู่ราศีกรกฎ   จะมีสถานะเป็นอุจจ์   ซึ่งทั่วๆไปมักจะถือกันว่า   ดีและให้คุณแก่ดวงชะตา

สาเหตุที่ ระบบการคำนวณทั้งสองแบบ ให้เวลาการเคลื่อนย้ายของดวงดาวบนท้องฟ้าไม่ตรงกัน   ก็เพราะความคลาดเคลื่อนในการคำนวณของวิธีคำนวนแบบสุริยยาตร  ซึ่งผู้คนในวงการโหราศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เข้าใจถึงเรื่องนี้ดี

แต่เป็นคนละส่วนกับภาคการพยากรณ์นะครับ

เมื่อดาวพฤหัส(๕)โคจรเข้าสู่ราศีกรกฎ  มีสถานะเป็จอุจจ์ไปแล้ว   ในทางโหราศาสตร์ไทย จะกำหนดให้ดาวพฤหัส(๕)มีตำแหน่ง “มหาอุจจ์” เมื่ออยู่ที่ 19 องศาของราศีกรกฎ   นั่นก็คือ  จะต้องอีก 6 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

สาเหตุที่กำหนดว่า  ต้องที่ 19 องศานั้น   ก็มาจากคติความเชื่อ  ซึ่งผมขออนุญาตคัดลอกมาจากบทความของ อาจารย์ไพศาล พืชมงคล  ดังต่อไปนี้

“กำเนิดในคัมภีร์เฉลิมไตรภพ  เทพพฤหัสบดี เกิดจากการที่ “พระศิวะ นำเอาฤาษี 19 ตนมาป่นให้เป็นผง  แล้วห่อด้วยผ้าสีส้ม หรือ  สีแสด  ประพรมด้วยน้ำอัมฤทธิ์บังเกิดเป็นเทวราช   นามว่า  พระพฤหัสบดี  เทพบุตรทรงกวางทอง   เป็นประธานฝ่ายศุภเคราะห์   จะอำนายโชคอำนวยชัย ในด้านสติปัญญา  คุณธรรม  ความสุขความสำเร็จ  ความเจริญให้แก่มนุษย์  ชะตาบ้านเมือง  เป็นประธานฝ่ายดี  โดยมีการก่อกำเนิดจากครูคือ “ฤาษี”

ซึ่งแตกต่างไปจาก แนวคิดของวิชาโหราศาสตร์ภารตะ   ที่ถือให้  ตำแหน่งที่ดาวพฤหัส(๕) เป็น “มหาอุจจ์” อยู่ที่ 5 องศาของราศีกรกฎ   ซึ่งตรงกับตำรับตำราของโหราศาสตร์ฮินดู  หรือ  โหราศาสตร์พระเวทย์ ที่เขียนในอินเดียหลายต่อหลายเล่ม   เช่น หนังสือ ASTROLOGY FOR YOU ผู้เขียน SHAKUNTALA DEVI  และ  หนังสือ PREDICTIVE ASTROLOGY  ผู้เขียนคือ   PANDIT K.B.PARSAI กับ  PANDIT D.K. PARSAI

ใครสนใจก็ลองไปหาอ่านดูได้ครับ

เห็นว่ากำลังเป็นประเด็นร้อนๆอยู่  ก็เลยนำมาถ่ายทอดให้อ่านกันเล่นๆ   ไม่ได้มีเจตนาจะให้เอามาถกเถียงกันว่า   การคำนวณของใครผิด  ของใครถูกนะครับ

เพราะประเทศเรามีความแตกแยกกันมากพอสมควรแล้ว

เห็นต่างได้   แต่ไม่แตกแยกครับ

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *