ว่าด้วยเรื่องของ “ทิศ”

ว่าด้วยเรื่องของ “ทิศ”

โดย    เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

                เมื่อพระอาทิตย์โผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกทุกเช้า   และลาลับขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตกทุกเย็น   จึงทำให้เกิด “ทิศ”

                อย่างน้อยที่สุด  มนุษย์ก็รู้จักทิศตะวันออก  และ  ทิศตะวันตก

                นับแต่นั้นมา   มนุษย์ก็ผูกพันกับ “ทิศ” มาอย่างลึกซึ้ง และ ไม่อาจจะแยกขาดออกจากวิถีชีวิตประจำวันได้เลย

                อียิปต์โบราณ เมื่อกว่า 6,000 ปีที่แล้ว  ผูกพัน และ เข้าใจต่อ สุริยวิถี หรือ เส้นทางโคจรของพระอาทิตย์  กับ “ทิศ” อย่างลึกซึ้ง   ทั้งที่เป็นรูปธรรม และ  นามธรรม

                ในที่นี้   ผมจะไม่พูดถึง รูปธรรม ซึ่งหมายถึง  ระยะเวลาการขึ้นและตกของพระอาทิตย์ในแต่ละวัน  ในแต่ละเดือน และในแต่ละฤดู    แต่จะขอพูดถึงเรื่อง  นามธรรม

(แม่น้ำไนล์ไหลทางจากทางทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ  ด้านขวาของแม่น้ำจะเป็นอารยธรรมโบราณของอียิปต์)

                ชาวอียิปต์โบราณ ให้ความสำคัญกับทิศตะวันออกมาก   เพราะเป็นทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น   และด้วยสภาพที่ชีวิตที่ดำเนินอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำไนล์    ชาวอียิปต์โบราณจึงเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย หรือ  สร้างเมืองขึ้นบนฝั่งขวาของแม่น้ำไนล์

                และเลือกใช้พื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำไนล์  ซึ่งก็คือฝั่งที่พระอาทิตย์ตก  เป็นสถานที่สร้างสุสาน  หรือ หลุมฝังศพ มาตั้งแต่โบราณ

                ด้วยแนวคิดว่า  พระอาทิตย์จะ “ตาย”  หรือ  ตกหายไปในความมืด ทางด้านทิศตะวันตก    เมื่อพระอาทิตย์ลับหายไปจากขอบฟ้าแล้ว  ก็จะเหลือแต่เพียงความมืด  ความน่าสะพรึงกลัวที่มองไม่เห็นในตอนกลางคืน

                สัตว์ร้ายต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น งูเงี้ยวเขี้ยวขอ  สัตว์เลื้อยคลานมีพิษ   สัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสิงโต  หมาป่า  และอื่นๆอีกมากมายออกหากิน  และเป็นอันตรายต่อพวกเขา 

                การหายไปของพระอาทิตย์  หรือ การตาย ในจินตนาการของพวกเขา  ถูกผูกโยงมาเป็นวัฒนธรรม  การเรียนรู้ว่า   “ทิศตะวันตก”  เป็นทิศแห่งความตาย

                ตรงกันข้ามกับทิศตะวันออก   ที่พระอาทิตย์จะ “เกิดใหม่” ในทุกเช้า  เมื่อความสว่างเข้ามาขับไล่ความมืด  อันตรายที่มองไม่เห็นก็อันตระทานหายไป   ชีวิตจึงเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง  

ชาวอียิปต์โบราณ จึงถือว่า   ทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งการเกิดใหม่  และ ทิศแห่งชีวิต

                เมื่อมองย้อนกลับมาที่วัฒนธรรมฮินดู  ในอินเดีย   ชาวอินเดียโบราณถือว่า   ทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งความเป็นมงคล   เป็นทิศของเทพเจ้า  และ  มองว่า  ทิศตะวันตกเป็นทิศของบรรดามารทั้งหลาย

                ด้วยเหตุนี้   วิหาร(TEMPLE)ของศาสนาฮินดู หรือ  ศาสนาพราหมณ์โบราณ   จึงสร้างให้หันประตูทางเข้าไปสู่ทิศตะวันออกเสมอ 

(วิหารที่เมือง คาจูราโห ที่มีภาพอีโรติค ที่สร้างความฮือฮาให้แก่นักท่องเที่ยวทุกครั้ง)

                เพราะความผูกพันของศาสนาฮินดูที่มีต่อพระอาทิตย์นั้นลึกซึ้งมาก    ดังจะเห็นได้จากทุกเช้ามืดที่บริเวณท่าน้ำพระศิวะที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาของเมืองพาราณสี    จะมีผู้คนจำนวนมากมาอาบน้ำที่ท่าน้ำเพื่อรอนมัสการพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า 

                เนื่องจากเมืองพาราณสีตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ   ดังนั้น   ชาวบ้านที่อาบน้ำจึงจะหันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก   เพื่อชำระล้างร่างกายต้อนรับพระอาทิตย์ขึ้น

                จากนั้นก็จะทำพิธีสักการะบูชาต่อพระอาทิตย์  ที่เรียกว่า  สุริยะนมัสการ  ชื่อเดียวกับท่าเริ่มต้นของวิชาโยคะของอินเดีย

(ชาวอินเดิยทำพิธี สุริยะนมัสการ ที่ริมฝั่งคงคา ในเมืองพาราณสี)

                เป็นเรื่องน่าแปลกมากที่  ด้านที่เป็นท่าน้ำพระศิวะ ที่อยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคา หรือ ฝั่งตะวันตก (หันหน้าไปรับพระอาทิตย์ขึ้น) จะเป็นเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยต่อๆกันมาไม่ขนาดช่วงนับตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลด้วยซ้ำ 

                ขณะที่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นฝั่งตะวันออก  กลับไม่มีใครไปสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเลย

                “ทิศ” มีความสำคัญต่อวิถีชีวิต และ ความเป็นอยู่ของผู้คน จากการขึ้นและตกของพระอาทิตย์ จริงๆ

                ลองไปดูในทวีปยุโรปบ้าง

มีคำกล่าวว่า   หากใครหลงทิศในยุโรป ไม่รู้ว่าทิศเหนือใต้ออกตกอยู่ทางไหน ก็ให้เข้าไปในโบสถ์คริสต์  แล้วดูว่าแท่นบูชา  อยู่ทางทิศไหน  ทิศนั้นก็คือ ทิศตะวันออก

                อธิบายง่ายๆก็คือ  โบสถ์คริสต์จะมีลักษณะเหมือนไม้กางเขน  ประตูทางเข้าโบสถ์จะอยู่ที่โคนเสาของกางเขน  หัวเสาของกางเขนจะชี้ไปทางทิศตะวันออกเสมอ 

(ด้านหน้าซึ่งเป็นประตูทางเข้าของโบสถ์  มีชื่อเรียกว่า WEST FAÇADE  แปลว่า  ด้านที่หันไปทางทิศตะวันตก)

                ทำไมต้องเป็นทิศตะวันออก ?

                เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของทิศตะวันออกแบบของอินเดีย  แต่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางด้านจิตใจของชาวยุโรปเป็นหลัก     กล่าวคือ เมื่อตั้งหลักจากประเทศในยุโรป  ทิศตะวันออกก็จะเป็นทิศที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ เมืองเยรูซาเล็ม(JERUSALEM)ประเทศอิสราเอลในปัจจุบันโดยประมาณ

                อันที่จริง   เยรูซาเล็มไม่ได้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของยุโรปอย่างเป๊ะๆ    หากแต่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้    แต่ในสมัยโบราณคงจะไม่พิถีพิถันในเรื่องนี้นัก  หรือ อาจจะมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของทิศก็เป็นได้

(แผนที่ตะวันออกกลาง และทวีปยุโรป ลูกศรจะชี้เมืองเยรูซาเล็ม โดยประมาณ)

                ทั้งนี้เพราะตามพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ฉบับพันธะสัญญาใหม่ กล่าวว่า   พระเยซู(JESUS)ถูกตรึงกางเขนบนเนิน โกลกอธธา (GOLGOTHA)ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ด้านนอกกำแพงเมืองเยรูซาเล็ม 

                ประวัติศาสตร์ และ พระคัมภีร์ได้ระบุว่า   พระเยซูถูกจับกุมตัวหลังจากที่พระองค์เสวย “พระกระยาหารมื้อสุดท้าย” (LAST SUPPER) กับบรรดาสาวกทั้ง 12 คนของพระองค์เรียบร้อย

                จากนั้น  พระเยซูก็ถูกนำตัวไปสอบสวนโดย ซานเฮดรีน (SANHEDRIN)ซึ่งก็คือตัวแทนของเมืองต่างๆในดินแดนอิสราเอล กับ ปอนติอุส พิเลต (PONTIUS PILATE)ซึ่งเป็นตัวแทนของจักรพรรดิโรมันทำหน้าที่ดูแลจังหวัดยูเดีย(THE PROVINCE OF JUDAEA)

และ เฮรอด แอนติพาส (HEROD ANTIPAS) ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงในทางร้ายตามคติของชาวคริสต์เพราะเป็นผู้สั่งประหารชีวิตทั้ง นักบุญจอห์น เดอะ แบ๊ปทิสต์(JOHN THE BAPTIST)ผู้ทำพิธีล้างบาปให้แก่พระเยซูที่แม่น้ำ จอร์แดน  และ สั่งประหารพระเยซูด้วย

                เมื่อชาวยุโรปทำพิธีสวดมนต์ล้างบาปทุกครั้ง  จะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอ  เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนที่เมืองเยรูซาเล็ม

                ในขณะที่ทางศาสนาอิสลาม   จะมีความเข้มงวดในเรื่องทิศมากกว่า   ทิศที่ทุกคนหันหน้าไปตอนสวดมนต์นั้น  จะต้องเป็นทิศของเมืองเมกกะ  ในประเทศซาอุดิอารเบียเท่านั้น

                ชาวมุสลิมให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก  ไม่ใช้แค่ประมาณการตามแบบของชาวยุโรป   แต่ถึงกับต้องใช้เข็มทิศจับองศาของเมืองเมกกะให้ถูกต้องเปะๆทีเดียว 

(ในโบสถ์เซนต์โซเฟีย อิสตันบุล ตุรกี  จะเห็น ประตูมิหรับ ที่อยู่ตรงที่คนยืนอยู่มากๆ  เป็นจุดสำคัญในการกำหนดทิศทางของการสวดของชาวมุสลิมทุกคนว่า  ประตูมิหรับ คือ ทิศของเมืองเมกกะ) 

                ในแต่ละประเทศ  หรือแต่ละเมือง  จะหันทิศ หรือ องศาแตกต่างกันด้วย   เช่น  ในประเทศไทยจะต้องหันไปทางตะวันตก   ในอิยิปต์ ก็ต้องหันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ  ในยุโรปก็ต้องหันไปทางทิศตะวันตก   โดยประมาณ 

                ย้อนกลับมาดูวัดในประเทศจีนบ้าง

                ด้วยเหตุที่ประเทศจีนได้รับอิทธิพลจากอากาศที่หนาวเหน็บในช่วงฤดูหนาว   และ วัฒนธรรมดั่งเดิมของจีน  ที่เรียกว่า  หลักฮวงจุ้ย  หรือ  หลักในการดูทิศทางลมและน้ำ   จึงทำให้การวางทิศของจีนอาจจะแตกต่างไปจากอินเดียตามสภาพภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ และ  วัฒนธรรมท้องถิ่น 

                ในช่วงฤดูหนาวที่กินเวลานานหลายเดือน จนเกือบครึ่งปีในบางพื้นที่   การเอาชีวิตรอดในช่วงฤดูหนาวจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

                ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า  ลมหนาวของจีนนั้น   จะพัดลงมาจากทางเหนือเรื่อยลงมาทางใต้เป็นธรรมชาติช้านาน   ที่เราเรียกว่า  ลมหนาวจากมองโกเลียนั่นแหละ

                ด้วยเหตุนี้  พระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง  หรือ  บ้านเรือนของผู้มีฐานะที่จะเลือกสร้างบ้านได้  มักจะสร้างบ้านให้หันหน้าไปทางทิศใต้   และหันหลังบ้านไปทางทิศเหนือ   เพื่อว่า  ลมหนาวจะได้ไม่พัดเข้าทางหน้าบ้านตรงๆ

                ไม่เช่นนั้น   บ้านทั้งหลังจะเปิดประตูรับลมหน้าที่พัดเข้ามาเต็มหน้าทีเดียว

(ประตูทางเข้าพระราชวังค้องห้ามที่ปักกิ่ง คือ ประตู WU MEN  ซึ่งอยู่ทางทิศใต้  ประจู SHENWU MEN  จะอยู่ทางทิศเหนือ)

(ท้องพระโรงใหญ่ภายในพระราชวังต้องห้าม  กรุงปักกิ่ง)  

                นอกจากนี้   หลังบ้านยังมักจะเป็นส่วนของครัว  ซึ่งมีความร้อนอยู่แล้ว   จึงไม่ค่อนหวั่นไหวกับลมหนาวมากนัก

                วัฒนธรรมการสร้างบ้านให้หันหลังบ้านไปทางทิศเหนือนั้น  มีให้เห็นตามบ้านในชนบทของ สวิตเซอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน   

                ในส่วนของการสร้างวัดของจีน  เขาไม่เคร่งครัดในเรื่องที่จะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเป็นหลัก   หากแต่จะเน้นในเรื่องของหลักทิศทางของลมและน้ำ 

                กล่าวคือ   หากสามารถสร้างวัดให้หลังพิงภูเขา  และ ด้านหน้ามีน้ำ   ก็ถือว่าเป็นหลักชัยภูมิที่เหมาะสม

                ส่วนในประเทศไทยนั้น    แนวคิดเรื่องทิศในการสร้างวัดหรือโบสถ์   แทบจะไม่พบเห็นเลย   อาจจะเป็นเพราะอากาศเมืองไทยไม่หนาวเท่ากับจีน  และ แนวคิดทางศาสนาพุทธมีความเข้มแข็งมากกว่าแนวคิดของศาสนาฮินดู

การสร้างวัด จึงเน้นที่ความสะดวกของการเดินทางของประชาชนที่จะมาที่วัดมากกว่า 

                อาจารย์สุพร  ชนะพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องศิลปะไทยโบราณ  บอกว่า  แม้แต่วัดเก่าแก่อย่างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธชินราช ที่สันนิษฐานว่า  สร้างมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย   ก็ไม่ได้เน้นการหันทิศเป็นพิเศษ   แต่หันหน้าไปทางแม่น้ำ  เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนที่เดินทางมาวัดทางเรือจะได้เดินทางสะดวกขึ้น

                ปิดท้ายด้วยแนวคิดของวิชาโหราศาสตร์ดูบ้าง 

                ไม่ว่าจะโหราศาสตร์ภารตะ  หรือ  โหราศาสตร์ไทย  ต่างก็ถือว่า “ลัคนา” ในดวงราศีจักร  จะต้องเป็นทิศตะวันออกเสมอ   เพราะการกำหนดลัคนานั้น   มาจากจุดตัดกันของ สุริยะวิถี  หรือ  เส้นทางเดินของพระอาทิตย์  ตัดกันกับเส้นขอบฟ้า ตอนที่เจ้าชะตาเกิด

                ซึ่งเส้นสุริยวิถี จะเป็นตัวนำเอากลุ่มดาวต่างๆบนท้องฟ้าติดตามมาด้วยเป็นฉากหลัง  เราเรียกกลุ่มดาวเหล่านี้ว่า กลุ่มดาวจักรราศี  ที่เป็นตัวกำหนดว่า  ราศี ณ.เวลาที่เจ้าชะตาเกิดเป็นราศีอะไร

                สำหรับท่านที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้   ผมขอแนะนำให้ไปอ่านบทความ  “โหราศาสตร์(ฉบับสบายๆ)ตามสไตล์ เสรษฐวิทย์”  บทที่ 6 ในบล็อก www.horaparata.com/setthawith

                ขณะเดียวกัน   วิชาภารตะ ก็ถือตามแนวคิดของศาสนาฮินดูว่า   ทิศตะวันออกเป็นทิศของเทพ  และ  ทิศตะวันตกเป็นทิศของมาร 

                ดังนั้น   การไหว้พระจึงควรจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  มากกว่าทิศอื่นๆ  

                แต่หากไม่สะดวก  ทิศไหนๆก็ได้ครับ  ตามคำพระที่ว่า   “ทำความดี  ทำเมื่อไหร่ก็ดี  ทำความชั่ว  ทำเวลาไหนก็ไม่ดี” ครับ

                พบกันใหม่ตอนหน้า    ขอให้คุณพระรักษาครับ

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *