รับลมหนาวบนแม่น้ำไนล์อียิปต์(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป    (12 ธันวาคม 2557)

รับลมหนาวบนแม่น้ำไนล์อียิปต์(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมเพิ่งกลับจากการนำสมาชิกนักท่องเที่ยวของ สถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ กลับจากการท่องเที่ยวอียิปต์มาเมื่อไม่กี่วัน  เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง  เพราะสมาชิกทุกคนน่ารัก  สนุกสนาน  และ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 


(คณะนักท่องเที่ยวหน้าวิหารอาบู ซิมเบล)

               นอกจากสถานที่ชมเด่นๆ  เช่น พิพิทภัณฑ์สถานแห่งชาติ  , วิหารอาบู ซิมเบล  และ วิหารคาร์นัคแล้ว   ก็คือวิหารของฟาโรห์รามเซส ที่ 3 ที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังครับ 

               วิหารของฟาโรห์ รามเซส ที่ 3 ค่อนข้างแปลกกว่าวิหารอื่นๆทั่วไป ตรงที่มีลักษณะเหมือนป้อมปราการ  เข้าใจว่า  อาจจะเคยใช้ทำกิจกรรมทางทหารได้สมัยโบราณก็ได้ 

               วิหารส่วนใหญ่ของอียิปต์มักจะมีภาพแกะสลักบนผนังกำแพงไม่ว่าจะเป็นด้านนอก หรือ ด้านใน เป็นเรื่องราวความเก่งกาจ  ความสำเร็จในการทำสงครามของฟาโรห์ ผู้สร้างวิหารนั้นๆ


(ซ้ายมือคือ ฟาโรห์รามเซส ที่ 3 กำลังใช้มือซ้ายกำปลายเส้นผมของบรรดาข้าศึกจำนวนมากที่ถูกมัดรวมกัน ขณะที่มือขวากำอาวุธกำลังจะฟาดลงไปที่ข้าศึก ต่อหน้าเทพอามุนรา ที่ยืนอยู่ขวามือ)

               แต่บนผนังกำแพงด้านในมีภาพที่น่าสนใจเป็นพิเศษ  เป็นภาพทหารกำลังเทมือของมนุษย์จำนวนมากมากองเป็นพะเนินอยู่เบื้องหน้าของฟาโรห์  เสมือนเป็นการรายงานผลของสงคราม 


(ภาพในวงกลม ก็คือกองของ “มือ” ของข้าศึกของทหารอียิปต์โบราณ)

เชื่อกันว่า   มือที่ตัดมากองไว้นั้นก็คือมือของข้าศึกศัตรูที่เสียชีวิต   แต่ทำไม  ต้องเอามือของ ข้าศึก มากองไว้เบื้องหน้าของฟาโรห์ด้วย

คำตอบก็คือ  ในการรบสมัยโบราณนั้น  ทหารยังไม่เป็นทหารอาชีพที่รับเงินเดือนทุกเดือนอย่างเช่นทหารของกองทัพทุกวันนี้  แต่เป็นคนธรรมดาที่ต้องการจะเสี่ยงชีวิตเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยจากการรบ

เพราะในสมัยนั้น   ผลตอบแทน หรือ  รางวัลที่จะมอบให้แก่ทหารทุกคนก็คือ  ทรัพย์สมบัติ หรือ เสบียงกรังที่ปล้นมาได้จากผู้แพ้

แล้วจะแบ่งทรัพย์ที่ปล้นมาได้อย่างไร      

               ฟาโรห์ จึงกำหนดว่า   ทหารคนไหนฆ่าข้าศึกได้มาก  ก็จะได้รางวัลมาก   ทหารคนไหนฆ่าข้าศึกได้น้อย ก็จะได้รางวัลน้อย   ด้วยหวังให้ทหารต่อสู้กับข้าศึกอย่างเต็มกำลัง   และเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

ทหารทุกคนจึงต้องตัดมือหลังจากสังหารข้าศึกได้แล้วเพื่อเอามาขึ้นเงินรางวัล

แต่ก็มีพวกหัวใสที่ขี้ขลาดตาขาว  เวลารบไม่ยอมรบจริง  แต่แอบตัดมือของทหารพวกเดียวกันไปขึ้นเงินแทน   จนรู้ถึงฟาโรห์ ซึ่งต้องคิดหาวิธีที่จะอุดรูรั่วที่ว่านี้ 

ถ้าท่านผู้อ่านเป็นฟาโรห์  จะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ติ๊กตอก ๆๆๆๆๆๆ

คำตอบก็คือ   ฟาโรห์เปลี่ยนกฎเสียใหม่เป็นให้ตัด “อวัยวะเพศ” ของข้าศึกศัตรูแทน

ท่านผู้อ่านตอบได้มั้ยครับว่า   ทำไม     ติ๊กตอกๆๆๆๆๆ

คำตอบก็คือ  ผู้ชายชาวอียิปต์โบราณจะต้องขลิบปลายอวัยวะเพศกันทุกคน  ดังนั้น  เพียงแค่ดูก็รู้ว่า  อวัยวะเพศที่ทหารตัดมารับรางวัลนั้น  เป็นของข้าศึก หรือ  ของชาวอียิปต์ด้วยกันเอง   

ภาพแกะสลักตามฝาผนังของวิหารอียิปต์  แสดงให้เห็นตอนที่ขลิบอวัยวะเพศชายตามรูป   และยังมีที่บันทึกบนกระดาษปาปิรัส อีกด้วย    


(ซ้ายมือเป็นภาพคนคุกเข่า ตัวใหญ่กว่าคนที่ยืนด้านขวามือ  คนซ้ายขวามือกำลังขลิบอวัยวะเพศของคนขวามือ  การแสดงภาพของคนซ้ายตัวใหญ่กว่า  บอกถึงสถานะของคนซ้ายมือว่า  ใหญ่กว่าคนขวามือ) 

(ภาพบันทึกบนกระดาษปาปิรัส  แสดงให้เห็นการขลิบอวัยวะเพศของผู้ชายในยุคอียิปต์โบราณ)

               ด้วยหลักฐานดังกล่าว  จึงเชื่อได้ว่า  ประเพณีการขลิบเริ่มต้นมาจากอียิปต์โบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้ว   และถ่ายทอดมายังชาวยิว  ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในอียิปต์มาก่อน 


(พิธีขลิบของ ไอแซค  ซึ่งเป็นลูกชายอับบราฮัม ตามพระคัมภีร์พันธะสัญญาเก่า)

               ต่อมาภายหลัง   ประเพณีการขลิบอวัยวะเพศชาย   ก็ถูกถ่ายทอดต่อมายังชาวคริสต์  ซึ่งปรากฏภาพการทำพิธีขลิบของพระเยซูคริสต์ในวิหาร CHARTRES CATHEDRAL หรือที่รู้จักกันในนามวิหาร  NOTRE – DAME ของเมือง CHARTRES ในประเทศฝรั่งเศส 


(ภาพสลักพระเยซูคริสต์ตอนทำพิธีขลิบ)

               แต่ชาวคริสต์ถอดใจเลิกประเพณีนี้ไปเสียก่อน   เพราะเกิดการติดเชื้อจนมีคนตายจำนวนมาก  เนื่องจากสมัยนั้น  การสาธารณสุขยังไม่ดีพอ

               จากนั้นจึงได้รับการถ่ายทอดต่อมายังชาวมุสลิมในที่สุด

               ทุกวันนี้   การขลิบอวัยวะเพศของผู้ชาย  ก้าวพ้นเรื่องของศาสนากลายมาเป็นเหตุผลทางด้านสุขลักษณะที่ถูกต้องไปแล้ว

               ทุกครั้งที่มาดูภาพนี้  สมาชิกทัวร์เป็นต้องเฮฮาหัวเราะกันคิกคักทุกครั้ง   โดยเฉพาะสุภาพสตรี

               ใครอยากไปดูด้วยตัวเอง  ก็ลองติดต่อ บ.ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ เบอร์ 02 651 6900  ดูนะครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *