เมื่อดวงชะตาชักนำให้มาพบกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป              (19 ธันวาคม 2557)

เมื่อดวงชะตาชักนำให้มาพบกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ดวงชะตาชักนำให้มนุษย์มาพบกัน  เมื่อถึงเวลาของมัน     

               ผมมีโอกาสเดินทางไปเมืองคุนหมิง  มณฑลยูนาน ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2532  หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว  เพื่อพบกับบุคคลผู้หนึ่งซึ่งผมไม่เคยรู้จัก 

               ทราบแต่เพียงว่า  ท่านชื่อ อาจารย์เจี่ย  แยนจอง  หรือ  ยรรยง จิระนคร  และทราบว่า   ท่านเป็นญาติร่วมแซ่ของผม 


(ผู้เขียนกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง  เราจะต้องพบกับเพื่อทานอาหารค่ำด้วยกันทุกครั้งที่ผมแวะมาคุนหมิง)

การเดินทางไปพบท่านในครั้งนี้  ก็เพื่อจะขอให้ท่านมาเป็นมัคคุเทศก์ในประเทศจีนให้ผม  เพราะบริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด กำลังจะเริ่มทำทัวร์ไปประเทเทศจีน  

               การเดินทางเที่ยวนี้   ผมได้รับความช่วยเหลือประสานงานให้จากอาจารย์เจิ้ง  ซึ่งเป็นคนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศจีนตั้งแต่ก่อนที่ประเทศจีนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่  1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 

               ผมทราบข่าวว่า  อาจารย์เจี่ย แยนจอง อาศัยอยู่ในคุนหมิงจาก อาจารย์เจิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของคณะนักข่าวทีวีจากเมืองคุนหมิงมาทัศนศึกษาในประเทศไทย  ตามคำเชิญของแปซิฟิค คอร์ปอร์เรชั่น ของอาจารย์ สมเกียรติ อ่อนวิมล 


(เจดีย์ 3 องค์ที่เมืองตาลีฟู  ถูกพัฒนาไปเยอะ   ไม่ค่อยธรรมชาติแบบสมัยก่อน)

               จากนั้นผมก็บินไปคุนหมิงด้วยสายการบินไชน่า เซ้าทเธิร์น แอร์ไลน์ ในตอนเช้าวันหนึ่ง  เมื่อไปถึงที่คุนหมิง   นอกจากอาจารย์เจิ้ง ที่มารอรับที่สนามบินแล้ว   ก็ยังมีอาจารย์เซิ่น อีกท่านหนึ่งมารอรับด้วย

               ท่านทั้งสองมีเมตตาต่อผมอย่างยิ่งตลอดช่วงเวลาที่ผมพำนักอยู่ในคุนหมิงเป็นเวลา 7 คืน  เพื่อรอเครื่องบินเที่ยวถัดไปในอีก 7 วันข้างหน้า   ท่านคอยดูแลผมเสมือนเป็นลูกหลานของท่านทีเดียว  ซึ่งผมขอรำลึกถึงตลอดไป 

               เสียดายว่า   อาจารย์เซิ่น ท่านจากไปแล้ว   ส่วนอาจารย์เจิ้ง ก็ย้ายที่อยู่อาศัย  ไม่พบท่านอีกเลย

               ทันทีที่ถึงคุนหมิง  ผมก็ทราบว่า   อาจารย์เจี่ย  แยนจอง ผู้ซึ่งผมตั้งใจมาพบนั้น ได้เดินทางไปประเทศไทยเมื่อคืนวานนี้เอง


(ในเมืองเก่าที่ถูกปรับปรุงเสียใหม่  เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว  จะหาบ้านหลังคามุงกระเบื้องที่มีตะไคร้และหญ้ามอสขึ้นเต็มหลังคาสักหลังก็ไม่ได้)

               หมายความว่า   ผมบินมาหาท่านด้วยเครื่องบินลำที่บินไปส่งท่านที่กรุงเทพนั่นเอง  และคงไม่ได้พบกับท่านในครั้งนี้แน่นอน   

               สมัยนั้น   คุนหมิง ยังไม่เจริญอย่างเช่นทุกวันนี้  บนถนนยังเต็มไปด้วยรถจักรยาน ซึ่งเป็นพาหนะที่ชาวจีนใช้ในการเดินทางเป็นหลัก  รถยนต์บนถนนแทบจะนับคันได้

               ตกค่ำ   ริมถนนข้างโรงแรมคุนหมิงจะมีหาบเร่แผงลอยตั้งตามฟุตบาทขายอาหารเต็มไปหมด  จำได้ว่า  นอกจากสับปะรดปอกเปลือกเสียบไม้แล้ว   ก็ยังมีอาหารที่ค่อนข้างแปลกสำหรับผมตอนนั้นก็คือ  เต้าหู้เหม็น หรือ เต้าหู้เน่า


(ลี่เจียง  ก็เปลี่ยนไปจนจำไม่ได้ )

               ฟังชื่อแล้วคงจะทานไม่ลง   แต่อันที่จริงรสชาติไม่แย่เหมือนชื่อ และหากพูดในแง่คุณค่าทางอาหารแล้ว  เต้าหู้เหม็นมีคุณค่าทางอาหารมากทีเดียว

               วิธีขาย และ วิธีกินก็ง่ายๆ  ทั้งคนขายคนซื้อต่างก็นั่งเก้าอี้เตี้ยๆเหมือนนั่งยอง  กินกันไปมองหน้ากันไปริมถนน  ดูรถจักรยานกุ๊งกิ๊งวิ่งผ่านไปผ่านมา


(ครอบครัวของผมที่สนิทกับอาจารย์เจี่ย เป็นอย่างดี  แม่ผมมีอายุแก่กว่าอาจารย์เจี่ย 1 ปี  จึงคุยกันรู้เรื่อง)

               ทำให้นึกถึงสมัยเด็กๆนั่งทานทอดมันริมถนนที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อ 40 กว่าปีก่อนขึ้นมาทันที   

               ปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ไม่เหลือให้เห็นในคุนหมิงอีกแล้ว   หรือแม้แต่หมู่บ้านเล็กๆที่ห่างไกลออกไปมากๆก็ตาม    มีแต่ภาพของภัตตาคารหรูหรา ที่เน้นความสะดวกสบายของลูกค้าเป็นหลัก   


(ผู้เขียนกับครอบครัวของอาจารย์  ภรรยา และ ลูกสาวกับลูกเขย)

               จำได้ว่า   เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว   ผมรู้สึกแปลกใจมากเมื่อพบว่า ในภัตตาคารของเมืองเล็กๆในจีนก็มีห้องอาหารส่วนตัวบริการ และภายในห้องนั้นก็มีห้องน้ำส่วนตัวด้วย ก่อนหน้าที่ภัตตาคารใหญ่ๆของเมืองไทยจะมีห้องน้ำในห้องส่วนตัวด้วยซ้ำ   

               และผมก็ยังจำได้ไม่ลืมว่า   วันแรกที่เดินทางไปถึงคุนหมิง  อาจารย์เซิ่น และ อาจารย์เจิ้ง พาผมไปที่โรงแรมคุนหมิง ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงแรม 4 ดาวที่ดีที่สุดของคุนหมิง  เทียบเท่ากับโรงแรม มังกรทอง


(ปัจจุบันบ้านโบราณถูกดัดแปลงมาเป็นภัตตาคารให้บรรยากาศแบบเก่าๆ)

ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสองเศษๆ    ผมรู้สึกหิวมาก   บอกกับอาจารย์ทั้งสองว่าอยากหาอะไรรองท้องสักหน่อย    ท่านจึงพาไปที่ห้องอาหารของโรงแรม

เจ้าหน้าที่บริการในห้องอาหารพูดด้วยใบหน้าบอกบุญไม่รับว่า  หมดเวลาให้บริการแล้ว 

อาจารย์ทั้งสองต้องออกแรงพูดอ้อนวอนแทบแย่ว่า  ทำอะไรก็ได้มาให้สักชามหนึ่งเถอะ  แขกจากประเทศไทยเขาหิวมาก    นั่นแหละ   กุ๊กถึงมีเมตตาช่วยทำก๋วยเตี๋ยวน้ำราดด้วยหมูสับที่รสชาติไม่ถูกปากเลยมาให้ชามหนึ่ง 


(สิ่งที่ชอบที่สุดของเมืองคุนหมิง   ไม่ว่าในอดีตหรือวันนี้ก็คือ เห็ดสดๆทุกชนิดตามฤดูกาล) 

นึกในใจว่า   ตลอดช่วงเวลาที่พักในคุนหมิง 7 คืน   เราจะมีชีวิตรอดมั้ย   

แต่เดี๋ยวนี้   ไม่ว่าคุณจะตื่นขึ้นมาตอนดึกดื่นค่ำคืนขนาดไหน  จะเป็นตี 3 ตี 4 ก็สามารถออกไปหาอะไรทานได้เสมอ 

เคยพูดกับอาจารย์เจี่ยว่า   หากท่านประธานเหมาฟื้นขึ้นมาเห็นประชาชนชาวจีนบริโภคกันดุเดือดแบบนี้   ท่านก็คงจะต้องช๊อคตายเป็นซ้ำสองแน่แท้ทีเดียว 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *