เมื่อดวงชะตาชักนำให้มาพบกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป    (26 ธันวาคม 2557)

เมื่อดวงชะตาชักนำให้มาพบกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมถามอาจารย์เจี่ย  แยนจอง ในค่ำของวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557  ตอนทานอาหารกันที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในนครคุนหมิงว่า   อาจารย์จำวันเกิดของตัวเองได้หรือไม่  

               อาจารย์ตอบว่า  เกิดปีค.ศ. 1930  แต่วันที่ และ เดือนจำได้เป็นแบบปฎิทินจีน  เลยไม่แน่ใจว่าจะเป็นวันที่เท่าไหร่ของปฎิทินสากล  เรื่องจะหาเวลาเกิดที่ถูกต้องเป็นชั่วโมงนาทีก็แทบไม่ต้องพูดถึงเลย    

               ที่ผมถามก็เพราะอยากดูดวงชะตาตามหลักวิชาโหราศาสตร์ภารตะว่า   ดวงดาวแบบไหนจึงทำให้ชีวิตของอาจารย์เจี่ย  พลิกผันหักเหได้มากขนาดนี้


(ผู้เขียน , อาจารย์เจี่ย แยนจอง และ เฉิน เทา  กับผลงานเขียนเกี่ยวกับชนชาติไทยของอาจารย์เจี่ย )

               อาจารย์เจี่ย เดินทางไปเรียนหนังสือที่กวางโจวในปีพ.ศ. 2491  โดยเดินทางเข้าประเทศจีนผ่านทางฮ่องกง   ขณะนั้น  คนไทยเชื้อสายจีนนิยมไปเรียนหนังสือที่ประเทศจีนกันมาก   ด้วยหวังว่า  ลูกหลานของตัวเองจะได้ไม่ลืมกำพืดความเป็นคนจีนของเผ่าพันธุ์  

               แต่การเดินทางเข้าฮ่องกง  กลายเป็นพรหมลิขิตที่หักเหของอาจารย์เจี่ย ไปในที่สุด 

               ปีถัดมา   กองทัพคอมมิวนิสต์สามารถยึดอำนาจการปกครองประเทศได้   เจียง ไคเช็ค นำกองทัพของตนเองหนีไปตั้งรกรากที่ไต้หวัน 


(คุนหมิงเปลี่ยนแปลงไปมาก   แต่ก็ยังคงเหลือ  หมอนวดศรีษะ ที่เป็นคนตาบอด  บริการอยู่ริมถนนเช่นเดิม)

               ทางเลือกของอาจารย์เจี่ย มีสองทางก็คือ  จะเดินทางกลับไทย  หรือ จะเรียนหนังสือต่อที่ประเทศจีน

               ปัญหาก็คือ  พาสปอร์ตของอาจารย์ถูกกองตรวจคนเข้าเมืองของฮ่องกงยึดไป   เพราะไม่มีวีซ่าเข้าฮ่องกง  โดยเจ้าหน้าที่บอกว่า   ตอนจะเดินทางกลับประเทศไทยค่อยมาเอา 

               สำหรับวัยรุ่นอายุ 18 ปีซึ่งเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก  คงไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับพาสปอร์ตเท่าไหร่นัก   เพราะคิดว่า  ตอนจะออกจากประเทศจีนค่อยไปเอาพาสปอร์ตคืนก็ได้

               และที่สำคัญก็คือ  ยังไม่เคยมีมนุษย์คนไหนเคยมีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบเสรีประชาธิปไตย มาสู่ระบบคอมมิวนิสต์  และจะว่าไป  ก็คงยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า  ระบบคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร


(จัตุรัส จินหม่า ปี้จี หรือ ม้าทองคำ ไก่หยก ซึ่งเอาชื่อมาจากแผ่นป้ายคู่ที่เขียนในสวน ต้ากวานโหลว  โดยกวีเอกที่ชื่อ  ซุน หร่าน เวิง  แต่ก่อนนี้ผมจะพานักท่องเที่ยวไปชม  เดี๋ยวนี้ไม่มีทัวร์ไหนพาไปชมแล้ว)  

               อาจารย์เจี่ย จึงเลือกที่จะเรียนหนังสือต่อในจีน

               ปีถัดมา (ปีพ.ศ. 2493)  อาจารย์ได้ร่วมเป็นทหารของกองทัพคอมมิวนิสต์  ขึ้นรถไฟจากกวางโจว ไปกวางสี  แล้วเดินเท้าต่ออีกประมาณ 1000 กิโลเมตรไปยังคุนหมิง   โดยมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยคุนหมิง

               พรหมลิขิตหักเหอีกครั้ง   เมื่ออาจารย์เจี่ย ถูกลงโทษ  ให้ไปทำงานในชนบทเพื่อเรียนรู้ชีวิตของชาวนาที่เมืองซือเหมา  ที่อยู่ห่างจากคุนหมิงลงไปทางตะวันตกฉียงใต้อีกหลายร้อยกิโลเมตร  (ผมจะไม่พูดถึงข้อหาในการลงโทษครับ)   

               จากเมืองซือเหมาไปอีกไม่ถึง 200 กิโลเมตร   ก็คือ เมืองจิ่งหง  ที่คนไทยเรียกว่า  เชียงรุ่ง  หรือ เมืองซีซวงปั่นน่า  ที่คนไทยเรียกว่า  สิบสองปันนา 


(ภาพบรรยากาศของ สิบสองปันนา)

               การได้เดินทางไปเมืองเชียงรุ่ง  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม  ทำให้อาจารย์เจี่ย ได้ค้นพบตัวเองอีกครั้งในตอนอายุ 22 ปี

               ภาษาพูดคำแรกที่ทำให้อาจารย์เจี่ย สามารถขอข้าวชาวสิบสองปันนา ซึ่งเป็นชาวไทลื้อ กินได้ก็คือ  ภาษาปักษ์ใต้   ซึ่งทำให้อาจารย์เจี่ย สันนิษฐานว่า  ภาษาปักษ์ใต้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากภาษาไทลื้อที่ชาวไทลื้อสิบสองปันนา นำลงมาแพร่หลาย


(ทุกช่วงฤดูหนาว  ประมาณเดือนพฤศจิกายน จนถึง เดือนกุมภาพันธ์  นกนางนวลจากมองโกเลียในจะอพยพหนีหนาวมาพักที่คุนหมิง)

               ด้วยพื้นฐานทางด้านภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาไทยปักษ์ใต้ มากกว่าภาษาจีน  และ ความใส่ใจศึกษาภาษา และ วัฒนธรรมไทลือ   และการเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอที่ดี  ชอบช่วยเหลือคน  และเป็นมิตรกับคนง่าย   ทำให้อาจารย์เจี่ย เป็นมิตรที่ดียิ่งของชาวไทลื้อ  สามารถขอข้าวขอน้ำ และขอนอนพักตามบ้านชาวบ้านทั่วไปได้อย่างเป็นกันเอง 

ในที่สุด   อาจารย์เจี่ย แยนจอง ก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไทลื้อของประเทศจีน


(ท้าทายนักเล่นหมากรุกจีน  เขาวางหมากเอาไว้  ใครก็ได้มาเดินแข่งกัน  เดิมพันครั้งละ 100 หยวน ประมาณ 520 บาท)

               คืนนั้น  เราสามคน  คือ  อาจารย์เจี่ย  แยนจอง  และ  เฉิน เทา หรือ ชื่อไทยว่า  เจษฎา  ผู้เป็นเจ้าของกิจการท่องเที่ยวบริษัทหนึ่งของเมืองคุนหมิง  และผม ก็ได้ทานอาหารค่ำร่วมกัน  ในภัตตาคารที่หรูหราพอสมควร  แบบที่ถ้าเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว   ผมคงไม่กล้าคิดว่าจะมีได้ในประเทศจีน 

               เฉิน เทา  ถือเป็นผลผลิตชุดสุดท้ายของจีน ในยุคสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาทำสงครามในอินโดจีน  เป็นไกด์รุ่นหลังของ หมอหวัง จิ้ง ลี่  ,  เฉา หมิง จง ซึ่งปัจจุบันนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางด้านการศึกษาในเมืองคุนหมิง  , อาจารย์หยาง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยในสถาบันชนกลุ่มน้อยของคุนหมิง  และดูเหมือนว่าจะได้รับตำแหน่งคณบดีของมหาวิทยาลัยชนกลุ่มน้อยไปแล้ว

               อีกคนก็คือ  หนิว ซือ หยวน หรือ อาหนิว  ซึ่งปัจจุบันได้แต่งงานกับสาวไทย เป็นเปิดทำธุรกิจทัวร์ในประเทศไทยแล้ว  ซึ่งคนทั้งหมดเหล่านี้ล้วยเคยช่วยผมทำงานเป็นไกด์ให้แก่นักท่องเที่ยวของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์  ทราเวล เอเยนซี่ จำกัดทั้งนั้น


(กับอาจารย์เจี่ย  ริมทะเลสาบ ชุ่น หู หรือ ทะเลสาบมรกต) 

               คนเหล่านี้ได้รับการศึกษาวิชาภาษาไทยในคุนหมิง เพื่อเตรียมที่จะส่งออกไปเป็นล่าม หรือ ผู้แปล ให้แก่กองทัพของจีนในการเดินทางเข้ามาปฎิบัติการในแถบภูมิภาคอินโดจีน  เช่น  ลาว  , เขมร  , เวียตนาม  และ  ไทย

               แต่โชคดีที่สงครามในอินโดจีนสงบลงเสียก่อน   คนเหล่านี้จึงไม่ได้เข้าร่วมในการปฎิบัติการทางทหาร   แต่หันมาปฎิบัติการทางการท่องเที่ยวแทน

               เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน

               ในที่สุด  ผมก็ยังไม่ได้เล่าให้ฟังว่า   พรหมลิขิตหักเหอย่างไรที่ทำให้ผมได้มาพบอาจารย์เจี่ย แยนจอง ในประเทศจีน

               พบกันใหม่ตอนหน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *