เมื่อดวงชะตาชักนำให้มาพบกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                 (9 มกราคม 2558 )

เมื่อดวงชะตาชักนำให้มาพบกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               การเดินทางมาคุนหมิง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557  ในจังหวะครบรอบ 25 ปีพอดีของการเดินทางมาคุนหมิงครั้งแรกของผมเมื่อพ.ศ. 2532 นี้   แตกต่างไปจากเมื่อ 25ปีก่อนมากมายเหลือเกิน   

               บนถนนไม่เหลือกองทัพจักรยานที่ดาหน้ากันมาแน่นพรึบให้เห็นอีกแล้ว  อาจจะหลงหูหลงตาบ้างก็สัก 2-3 คัน  นอกนั้นก็จะเป็นรถจักรยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า 

ประเทศจีนมีกฎหมายบังคับให้รถมอเตอร์ไซด์ที่จะวิ่งในเมืองใหญ่  จะต้องเป็นรถที่ใช้พลังไฟฟ้าเท่านั้น   ห้ามรถมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งด้วยน้ำมันเด็ดขาด 


(เจ้าหม่อมคำลือ ในสมัยหนุ่มๆ)

ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดมลพิษทางอากาศแล้ว   ยังช่วยประหยัดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงแบบฟอสซิลได้มากทีเดียว

แต่สิ่งที่แย่กว่าที่มาแทนที่รถจักรยานก็คือ  รถยนต์หลากหลายชนิด   ตั้งแต่ถูกสุดเช่นยี่ห้อเชอร์รี่ ของจีน  จนถึงแพงสุดประเภทที่ไม่มีให้เห็นในประเทศไทยเลย  ซึ่งมาทำหน้าที่ในการผลาญเชื้อเพลิงแบบฟอสซิลแทนรถจักรยาน 

วิธีคิดของรัฐบาลจีนก็น่าสนใจดีนะ


(เจ้าหม่อมคำลือ  ถ่ายเมื่อไหร่ไม่ได้ระบุไว้) 

คืนวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557  เราสามคนนั่งทานอาหารค่ำด้วยกัน  ประกอบด้วย คนแก่ 2 คนคือ  ผม และ อาจารย์เจี่ย  แยนจอง  และ อีกหนึ่งหนุ่ม คือ เฉิน เทา  หรือ  เจษฎา 

เรื่องที่พูดคุยกันส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องในอดีต  เรื่องความหลัง  ในช่วงที่เรา  หมายถึง  อาจารย์เจี่ย และ ผม ได้เดินทางไปเกือบทั่วทั้งประเทศจีน  โดยเฉพาะเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

และ พูดคุยกันถึงสาเหตุที่ทำให้ผมได้มาพบอาจารย์เจี่ย ที่คุนหมิง

ตามหลักวิชาโหราศาสตร์สายภารตะที่ผมเล่าเรียนมา  คนที่อยู่ห่างกันไกลแสนไกล  แต่ได้มามาพบเจอกัน  ล้วนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ   แต่เป็นเพราะ  ต้องเคยทำบุญร่วมกันมาก่อนในชาติภพที่แล้ว   

เมื่อถึงเวลาแห่งบุญกุศล  ก็ต้องได้มาเจอกัน 


(ผลงานเขียนของอาจารย์เจี่ย  แยนจอง เรื่อง จีน กับสังคม วัฒนธรรมหลากหลายชาติพันธุ์ )

อาจารย์เจี่ย ถูกส่งตัวไปอยู่ที่เมืองซือเหมา และ  เชียงรุ่งอยู่นานนับสิบปี   ดูเหมือนจะเป็นวิบากกรรม  แต่ก็เป็นวิถีทางแห่งชีวิตที่ทำให้อาจารย์ได้พบหนทางใหม่ของตัวเอง 

ก่อนหน้าที่จะไปซือเหมา   อาจารย์เจี่ยบอกผมว่า  ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับชาวไทลื้อนัก   ทราบแต่เพียงว่า   เป็นคนที่พูดภาษาไท  ที่ไม่เหมือนกับภาษาจีนเลย 

อาจารย์เจี่ย  สนิทสนมกับชาวบ้านไทลื้ออย่างง่ายดาย  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาษาพูดที่สื่อสารกันได้สบายมาก  ระหว่างภาษาไทยปักษ์ใต้ กับ ภาษาไทลื้อ  ทำให้เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านทั่วไป  เรียกว่า  ค่ำไหนจะนอนบ้านไหนก็ได้  หิวเมื่อไหร่ก็ขอข้าวชาวบ้านกินได้เสมอ   


(ผลงานเขียนอีกเล่มของอาจารย์เจี่ย แยนจอง  เรื่อง สายสัมพันธ์ใกล้ชิด ไทย-จีน ซึ่งสถานกงสุลไทยประจำคุนหมิงพิมพ์ขึ้นเพื่อแจกในงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตของไทย-จีน ครบรอบ 40 ปี)

ช่วงดังกล่าวนี้เอง   ทำให้อาจารย์เจี่ย ได้รู้จักกับ  เจ้าหม่อมคำลือ  กษัตริย์องค์สุดท้ายของสิบสองปันนา  ก่อนที่จีนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์  

จุดประสงค์ของทั้งสองคนตรงกัน  ก็คือ ต้องการศึกษาวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ  ทำให้อาจารย์เจี่ย สามารถเดินหน้าศึกษาวัฒนธรรมไทลื้อได้อย่างเต็มที่  และทำให้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้าหม่อมคำลือ  จนคบค้าสนิทสนมกันจนทุกวันนี้ 

คลิปต่อไปนี้เป็นข่าวของสถานีโทรทัศน์ ทีวีไทย ที่ไปสัมภาษณ์เจ้าหม่อมคำลือ  โดยมีอาจารย์เจี่ย ทำหน้าที่เป็นล่ามเมื่อหลายปีก่อน  

คลิปข่าวเจ้าหม่อมคำลือ     https://www.youtube.com/watch?v=ROodUu09_B4


(อาจารย์เจี่ย แยนจอง ในวัย 84 ปี ที่ริมทะเลสาบชุ่ยหู)

               อาจารย์เจี่ย จึงกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน ไทลื้อ และ สิบสองปันนา ในสายของภาษาไทย  จากนั้น  อาจารย์ก็ได้รับเชิญให้มาบรรยายที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายต่อหลายแห่ง 

               จนกระทั่งสำนักข่าวแปซิฟิค คอปอร์เรชั่น ของอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล เดินทางไปทำข่าวเรื่อง สิบสองปันนา และ ได้เชิญทีมข่าวของสถานีโทรทัศน์เมืองคุนหมิงมาทำข่าวในประเทศไทย   ผมจึงได้มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์เจิ้ง ที่เป็นผู้ประสานงานของทีมข่าวของคุนหมิง 

               ด้วยคำชวนของอาจารย์เจิ้ง  ผมตัดสินใจที่จะทำทัวร์ไปสิบสองปันนา  และเดินทางมาคุนหมิง เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เพื่อขอให้อาจารย์เจี่ย เป็นไกด์ กิตติมศักดิ์ให้คณะทัวร์ของบริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่   


(แผนที่ประเทศจีน  ที่ผมและอาจารย์เจี่ย  แยนจอง ร่วมเดินทางไปมาจนเกือบหมดแล้ว)          

               ผมนึกย้อนหลังไปว่า  อาจารย์เจี่ย แยนจอง  ซึ่งเกิดในประเทศไทยที่จังหวัดสงขลาแท้ๆ ในตระกูลของท่านขุนนิพัทธ์นครจีน  ซึ่งเป็นท่านขุนคนสุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475   แต่อาจารย์ก็ต้องพลัดบ้านพลัดเมืองมาอยู่ในแดนไกลถึงประเทศจีน เมืองกวางโจว ในปีพ.ศ. 2491 หรือเมื่อ 66 ปีที่แล้ว 

และยังบังเอิญให้ต้องเดินทางต่อมายังคุนหมิง และ สิบสองปันนา  และได้ลงหลักปักฐานที่เมืองคุนหมิง เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว

เพื่อรอให้ผมเดินทางไปพบ  และร่วมเดินทางไปสำรวจประเทศจีนด้วยกัน

ผมหลับตานึกว่า   ถ้าอาจารย์เจี่ย ไม่ได้เดินทางไปเรียนหนังสือที่ประเทศจีน  และ ไม่ได้มาอยู่ที่เมืองคุนหมิง   เราก็คงจะไม่มีโอกาสได้พบกัน    

พรหมลิขิตแท้ๆ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *