เมื่อดวงชะตาชักนำให้มาพบกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง(ตอนจบ)

ซอกซอนตะลอนไป                 (16 มกราคม 2558 ) 

เมื่อดวงชะตาชักนำให้มาพบกับอาจารย์เจี่ย แยนจอง(ตอนจบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               คุนหมิงในปีพ.ศ. 2557  เปลี่ยนแปลงไปมากจนแทบจำไม่ได้

               ต้นสนที่ปลูกเป็นแนว ตามถนนสายหลักมากมายหลายสาย โดยเฉพาะถนนข้างโรงแรมคุนหมิง  ถูกโค่นทิ้งไปหมดแล้ว  เพื่อขยายถนนให้รถยนต์ และ มอเตอร์ไซด์วิ่งแทน   


(ถนนข้างโรงแรมคุนหมิงเมื่อ 25 ปีที่แล้ว  ก็สงบร่มรื่นใกล้เคียงกับถนนสายนี้)

               เมืองที่เคยได้ชื่อว่า   ไม่มีรถติดในอดีต  มีสภาพไม่ต่างจากเมืองใหญ่ๆทุกเมืองของจีน  ที่รถติดกันจนไม่ขยับ  จนทางการต้องสร้างรถไฟใต้ดินขึ้นมารองรับ  ซึ่งกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็คงจะต้องรออีก 5 -6 ปีเป็นอย่างน้อย

               เมื่อ 20 กว่าปีก่อน  การช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวก็ได้แต่อาศัยร้านเฟรนด์ชิป  หรือ ห้างหยิ่วหยี ที่บริการเชื่องช้าล้าสมัยอย่างยิ่ง   และสินค้าที่ขายก็มีเพียงสินค้าพื้นเมืองเท่านั้น


(นิตยสาร แม่น้ำโขง ที่อาจารย์เจี่ย เป็นผู้ดูแลตรวจสอบเรื่องการแปลจากภาษาจีน มาเป็นภาษาไทย)

               แต่เดี๋ยวนี้  มีห้างใหญ่ๆระดับ 5 ดาว เกิดขึ้นหลายแห่ง   ขายของนำเข้าจากต่างประเทศแบบที่ผมเองก็คาดไม่ถึง  เช่น  เครื่องครัวนำเข้าจากเยอรมันยี่ห้อ คนคู่ (ZWILLING)  ที่แพงแสนแพงชุดละเป็นแสนบาทก็จัดโปรโมชั่นกันขนานใหญ่ในห้างในวันที่ผมไปเดินชมด้วย 

               ถึงขนาดด้านหน้าของห้าง  มีป้ายขนาดใหญ่ติดโฆษณาครีมทาหน้ายี่ห้อดัง .“LA MER” อยู่   ใครๆก็รู้ว่า   ครีมยี่ห้อนี้ราคากระปุกเล็กๆกระปุกละ 2 – 3 หมื่นบาททีเดียว 


(อาจารย์เจี่ย  ยังได้รับการเคารพ และ ให้เกียรติอย่างดียิ่งจากสถานกงสุลใหญ่ไทยประจำเมืองคุนหมิง) 

               แสดงว่า  คนจีนรวยขึ้น   มีเงินมากขึ้น  สามารถจะใช้จ่ายของแพงๆเหล่านี้ได้แล้ว

               คุนหมิง เปลี่ยนไปทุกด้าน   รวมทั้งอาหารการกิน 

               ผมยังจำเวลาบ่ายสองของวันแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้วที่มาถึงคุนหมิงได้ดี  เมื่อต้องไปขอร้องให้พ่อครัวของห้องอาหารโรงแรมคุนหมิงช่วยทำก๋วยเตี๋ยวอะไร (ตามแต่จะกรุณา) ให้สักชามหนึ่ง  แต่คนเสริฟบอกว่า    ครัวปิดแล้ว 


(เคาต์เตอร์อาหารเช้าที่บริการ เส้นก๋วยเตี๋ยวสไตล์เมืองคนหมิง)

               พ่อครัวก็เลยทำก๋วยเตี๋ยวน้ำ ราดด้วยเศษหมูสับขยุ้มหนึ่งที่รสชาติไม่ได้เรื่องเอาเสียเลยมาให้ชามหนึ่งอย่าเสียมิได้     ผมยังจำรสชาติแย่ๆของก๋วยเตี๋ยวชามนั้นมาได้จนถึงวันนี้ 

               เป็นความแค้นที่ฝังใจยิ่งนัก  


(ก๋วยเตี๋ยว ที่มีเครื่องราดหน้าก๋วยเตี๋ยวให้เลือกมากมายหลายชนิด   พูดแล้วน้ำลายไหล)

               แต่วันนี้  ผมพักในโรงแรมสี่ดาว  ฮอลิเดย์อินน์ ที่อยู่ตรงข้ามกับโรงแรมคุนหมิง  ซึ่งในมื้ออาหารเช้าก็เสริฟก๋วยเตี๋ยวชนิดเดียวกันกับที่ผมเคยทานเมื่อ 25 ปีที่แล้วด้วย    แต่รสชาติดีกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้  มีเครื่องปรุงรสมากมายหลายแบบ   ซ้ำยังมีเครื่องเคียงราดหน้าให้เลือกมากชนิด  ไม่ว่าจะเป็นหมูสับ  หมูสามชั้นน้ำแดง  ไก่น้ำแดง  เนื้อตุ๋น เป็นต้น  

               ผมก็เลยขอสมนาคุณ  ซัดไปหนึ่งชามแบบราดหน้าเต็มที่ทุกหน้า   


(สภาพตลาดสดตอนเช้าใกล้บ้านอาหารเจี่ย)

               25 ปี   แก้แค้น ยังไม่สาย    เฮ้อ   อิ่ม  

               ผมกับอาจารย์เจี่ย  แยนจอง เดินทางไปแทบจะทั่วประเทศจีนด้วยกันเป็นเวลาประมาณ 10 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533    

               เราเดินทางตั้งแต่ภาคเหนือประมาณมองโกเลียใน ลงมายังภาคใต้ประมาณมณฑลกวางโจว   ตั้งแต่ภาคตะวันออก ประมาณเมืองเซี่ยงไฮ้ ไปจรดภาคตะวันตกประมาณ มณฑลซินเจียง และ ธิเบต


(คุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ  เป็นดินแดนแห่งเห็ดป่านานาชนิด  มีวางขายในตลาดสด)

               ขณะนั้น   คนจีนเขายังไม่มีปัญญาเที่ยวแบบทัวร์กัน  จะมีบ้างก็เป็นแบบคนสองคนเดินทางกันเอง   และไม่ได้เดินทางกันไปไกลๆแบบที่เราเดินทางกัน   

               จึงอาจเรียกได้ว่า  อาจารย์เจี่ย เป็นคนจีนคนแรกๆ ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปทั่วทั้งประเทศจีนครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดก็ว่าได้ 


(คุนหมิง ยังเป็นดินแดนแห่งอาหารหมักดอง  ซึ่งจำนวนมากจะมีรสเผ็ดจัดจ้านด้วย  เหมาะสำหรับคนไทย)

               ลำพังแค่ธิเบตที่เดียว  อาจารย์เจี่ย ก็น่าจะเคยไปสัก 10 หนแล้ว

               ในช่วงที่เดินทางด้วยกัน  ผมกับอาจารย์จะพักห้องเดียวกัน  ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสสนทนาหาความรู้จากอาจารย์ในทุกแง่ทุกมุม   ทั้งในแง่มุมของประวัติศาสตร์จีน  ธรรมเนียมประเพณีจีน  ประเพณีของชาวไทลื้อ  ประเพณีเรื่องอาหารการกินของชาวจีน 


(ร้านรับจ้างทำกุนเชียง  เพียงแต่ซื้อหมู และ เครื่องปรุงมาเท่านั้น   แต่ก็ต้องคอยเฝ้าเวลาเขาทำด้วย  เดี๋ยวจะได้หมูไม่ครบตามที่ซื้อมา) 

แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวจีนแคะ  ที่เราทั้งสองสืบเชื้อสายมาเหมือนกัน 

วันนี้   อาจารย์เจี่ย มีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 85  ยังแข็งแรงกว่าคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมากมาย    ยังคงทำงานวิชาการที่อาจารย์ชื่นชอบ  ด้วยการเป็นผู้ตรวจคำแปลจากภาษาจีนมาเป็นภาษาไทยที่จะตีพิมพ์ในนิตยสาร “แม่น้ำโขง”  ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในหมู่ประเทศตามแนวของแม่น้ำโขง


(หน้าห้างสรรพสินค้าแบบ 5 ดาวของคุนหมิง ที่ชื่อ จิน เก๋อ  โฆษณาครีมทาหน้าที่โคตรแพงอยู่หน้าห้าง)

อาจารย์เจี่ย พักอยู่ในอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่พอสมควรบนชั้นที่ 3  ที่ไม่มีลิฟท์  จึงต้องออกกำลังกายด้วยการเดินขึ้นลง 3 ชั้นทุกวัน   

บ้านของอาจารย์ อยู่ในทำเลที่ดี  ใกล้ทะเลสาบชุ่ยหู   ติดกับสวนสาธารณะที่เงียบสงบ   แต่ก็ไม่ห่างจากตลาดสดตอนเช้าเท่าไหร่นัก  จึงสะดวกที่จะซื้อหาอาหารการกิน

จากคนแปลกหน้าที่พบกันครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว   วันนี้  แม้นหากผมกับอาจารย์เจี่ย  จะไม่ใช่เกี่ยวดองเป็นญาติกัน   ความผูกพันกลับลึกซึ้งยิ่งกว่าฐานะการเป็นญาติกันทีเดียว 

หากผมไม่ได้พบกับอาจารย์เจิ้งที่กรุงเทพ    ผมก็คงไม่ได้มาพบอาจารย์เจี่ย   และผมก็คงจะไม่มีความทรงจำที่ดีของคุนหมิงในวันนี้ 

พรหมลิขิตแท้ๆทีเดียว

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *