สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                 (23 มกราคม 2558)

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น  ญี่ปุ่น(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อประเทศญี่ปุ่นเปิดมาตรการใหม่ให้แก่หลายประเทศ  ด้วยการยกเว้นไม่ต้องทำวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศนั้นๆ    หนึ่งในประเทศนั้นก็คือ  ประเทศไทย

               จึงเสมือนเป็นการเปิดประเทศครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น  แต่คราวนี้เป็นการเปิดประเทศให้แก่ประเทศไทย  ไม่ใช่ให้แก่โลกตะวันตก เช่นในปีพ.ศ. 2394 ของรัฐบาลยุคเอโดะ


(วัดหลวงพ่อโตที่เมืองนารา  กวางอยู่ร่วมกับผู้คนชาวญี่ปุ่น และ นักท่องเที่ยวมาเป็นเวลาช้านาน  ถ้าเป็นประเทศไทย  คงจะหมดไปแล้ว)

               คนไทยจึงได้รู้จักสิ่งที่ซ่อนเร้นของชาวญี่ปุ่นมาเป็นเวลาช้านาน   ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่คนไทยว่า  มีคนที่ดีแบบนี้ในโลกด้วยหรือ

               แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า  ชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน สายชินโตนั้น   แต่อันที่จริง  เขาแทบจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธอย่างแท้จริงเลย 


(สถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น  แนบแน่นอยู่กับธรรมชาติอย่างแยกไม่ออก  สะท้อนความร่มรื่น  สงบ)

               ชาวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเกือบทุกสาขาจากประเทศจีนมาเป็นเวลาช้านาน   ไม่ว่าจะในเรื่องการแต่งกาย   การกินอยู่  ศาสนา  และ ปรัชญาในการดำเนินชีวิต 

               แต่ดูเหมือนว่า  เมื่อศาสนาพุทธเผยแพร่จากจีนไปสู่ญี่ปุ่น ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเกาะญี่ปุ่นมานานนักหนา  ก่อนที่ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันจะเข้ามาคือ ชาวไอนุ(AINU)  ทำให้แนวคิดเรื่องศาสนาพุทธเปลี่ยนแปลงไป 


(เทศกาลขอบคุณธรรมชาติ  จัดขึ้นที่วัดแห่งหนึ่งในโตเกียว เพื่อแสดงความขอบคุณต่อ ธรรมชาติ ที่ช่วยทำให้เขามีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์)

               ศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่นที่เราเรียกขานกันว่า  นิกายชินโตนั้น   พระสามารถมีภรรยา  มีครอบครัวได้  พระสามารถทานอาหารวันละ 3  มื้อได้เหมือนคนปกติทั่วไป  ซ้ำยังสามารถดื่มเหล้าได้ทุกชนิดอีกด้วย 

               ดังนั้น  ศีลของพระญี่ปุ่นจึงต่ำกว่าศีลของพระไทย  พระไทยจึงไม่ต้องไหว้ตอบพระญี่ปุ่นเวลาเจอกัน 

               ในทางสังคมของชาวญี่ปุ่น  พระญี่ปุ่นจึงมีสถานะเป็นเพียงผู้ประกอบพิธีเท่านั้น   ซึ่งพิธีส่วนใหญ่ที่พระญี่ปุ่นจะทำก็คือ  พิธีแต่งงาน   ส่วนพิธีศพมักจะไม่ค่อยทำกัน 


(การประดับประดาจะใช้พืชพันธุธัญญาหารตามธรรมชาติต่างๆมาประดับประดา  ทำกันแบบตามมีตามเกิด  เน้นความจริงใจเป็นหลัก)

               ในด้านหนึ่ง  พระญี่ปุ่นก็คือผู้ประกอบพิธีทางศาสนา  เหมือนเป็นผู้เชื่อมต่อทางด้านจิตวิญญาณกับเบื้องบน   คล้ายๆกับพราหมณ์ของอินเดีย   อีกด้านหนึ่ง   พระญี่ปุ่นก็เหมือนคนธรรมดาสามัญทั่วไป

               ตอนประกอบพิธีทางศาสนา   ก็จะแต่งกายตามประเพณีนิยมของพระญี่ปุ่น   เมื่อประกอบพิธีเสร็จ  ก็สามารถเปลี่ยนเครื่องแต่งกายกลับมาเหมือนคนธรรมดา  ใส่สูทผูกเน็คไทได้ 

               ดูเหมือนพระญี่ปุ่นมีชีวิตที่สุขสบายพอสมควร  


(เทศกาลชักขะเย่อเชื่อกยักษ์ ที่ทำจากฟางข้าว   ก็เป็นแนวคิดในเรื่องการแสดงความขอบคุณธรรมชาติเช่นกัน)

               แต่ก็มิใช่ว่า   ใครอยากจะมาเป็นพระก็มาเป็นได้   เพราะดูเหมือนว่า  จะมีการจำกัดอยู่แต่ภายในแวดวงของครอบครัวของคนที่เป็นพระมาก่อน   คล้ายๆกับระบบสังคมพราหมณ์ของอินเดีย

               เพราะรายได้จากชาวบ้านที่ขอให้พระประกอบพิธีให้  ก็ไม่ใช่น้อยทีเดียว 

               แล้วชาวญี่ปุ่นนับถืออะไร 


(ในช่วงงานเอ็กซ์โป ในปีค.ศ. 1970 ที่โอซาก้า  เขาทำแคปซูลบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ของคนในยุคนี้เอาไว้ลงในหลุม   และมีกำหนดจะเปิดอีกครั้งในอีก 500 ปีข้างหน้า  เป็นการสื่อสารกับลูกหลานในอนาคตเพื่อให้เขารู้ว่า  ปู่ย่าตายยายเคยมีชีวิตอย่างไร   แนวคิดแบบพุทธที่ลึกซึ้งมาก)  

               ถ้าจะบอกว่า   ไม่นับถืออะไรเลยก็คงไม่ค่อยถูกนัก  แต่สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นเคารพนับถือค่อนข้างจะเป็นนามธรรม และ เป็นเรื่องที่มนุษย์ยุคโบราณกระทำกัน 

               คือชาวญี่ปุ่นจะนับถือ  ธรรมชาติ เป็นหลัก

               ถ้าจะว่าไป   ก็สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า ศาสนาชินโต เป็นสาขาของลัทธิเซ็น  และ  ลัทธิเต๋า  และบางส่วนที่เป็นหางๆของศาสนาพุทธด้วย


(คนญี่ปุ่นดื่มด่ำกับธรรมชาติค่อนข้างมาก   มีเทศกาลประกวดต้นไม้บอนไซ ควบคู่ไปกับงานขอบคุณธรรมชาติ)

               เพราะถ้าดูจากปฎิทินวันหยุดของญี่ปุ่นก็จะเห็นว่า   เขามี  วันข้ามวัยของเด็ก(COMING OF AGE DAY)หรือวันที่เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ,  วันต้นไม้เขียว(GREENERY DAY)  ,  วันท้องทะเล(MARINE DAY)  , วันภูเขา(MOUNTAIN DAY)  เหล่านี้เป็นต้น

               นอกจากนี้  ยังมีเทศกาลที่แสดงความเคารพ หรือ  คารวะต่อธรรมชาติ   หรือ เคารพต่อพืชพันธุธัญญาหาร ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงการเคารพต่อ ผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์  ,  ท้องฟ้าที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก    อากาศที่ดี    ฝนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของพื้นพันธุธัญญาหารด้วย


(บอนไซ ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าแห่งแนวคิดต้นไม่เล็กที่ว่านี้ )

               เพราะเขาถือว่า  ธรรมชาติทำให้คนญี่ปุ่นมีชีวิตรอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้ 

               นอกจากนี้  คนญี่ปุ่นยังมีวันหยุดราชการที่เรียกว่า เวอร์นัล อีควิน๊อกซ์ (VERNAL EQUINOX)  และวัน ออทัมนัล อีควิน๊อกซ์  (AUTUMNAL EQUINOX)  

               คนไทยจะรู้เรื่องนี้น้อยมาก  เพราะเป็นความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับโลก   ดวงอาทิตย์  และ จักรวาล  ผมก็ขอถือโอกาสขยายความสักเล็กน้อย   

               คำว่า  อีควิซ๊อกซ์ นั้น มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน  ที่แปลว่า  คืนที่เท่ากัน (EQUAL NIGHT) ภาษาไทยเรียกว่า  วิษุวัต  หรือ  จุดราตรีเสมอ   แปลว่า  วันที่ กลางวันกับกลางคืนจะยาวเท่ากัน

               สำหรับคนที่อาศัยอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตร  อีควิน๊อกซ์  จะเกิดขึ้นสองครั้ง  คือราววันที่ 21 มีนาคม  หนึ่งครั้งและ ราววันที่ 23 กันยายน  อีกหนึ่งครั้ง

               พูดง่ายๆก็คือ  วันที่พระอาทิตย์จะลอยอยู่ตรงหัว  ตั้งฉากกับพื้นโลกพอดี

               แต่คนที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ  เช่น ประเทศญี่ปุ่น  วันเวอร์นัล อีควิน๊อกซ์ (VERNAL EQUINOX)   หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า  วสันตวิษุวัต  ก็คือวันที่ 21 มีนาคม โดยประมาณ ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ    

และวัน ออทัมนัล อีควิน๊อกซ์  (AUTUMNAL EQUINOX)  หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า  ศารทวิษุวัต   ก็จะเป็นวันที่ 23 กันยายน  ตรงกับฤดูใบไม้ร่วง   

               คนญี่ปุ่นเขาสนใจเรื่องดาราศาสตร์มาช้านานแล้ว และเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาติของเขาพัฒนามาจนทุกวันนี้

               พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *