สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                 (30 มกราคม 2558 )

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ตามที่เราคนไทยได้รับการอบรมสั่งสอนกันมาช้านานว่า  ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนเป็นคนดี  สังคมจะได้เป็นสุข    แต่ในเมื่อคนญี่ปุ่นที่ไม่ได้นับถือศาสนาอะไรเป็นหลักเลย   ทำไมสังคมญี่ปุ่นจึงดำรงอยู่ได้อย่างสงบเรียบร้อย  เป็นระเบียบ  มีแบบแผน  และมีน้ำใจ  

               มากกว่าประเทศไทย  ที่เราพูดเสมอว่า  สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ

               คนญี่ปุ่นเขามีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว  หากไม่ใช่ศาสนา 


(ภาพขงจื่อ  จากเว็บวิกิพีเดีย)

               ญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมของจีนโบราณจำนวนมากเอาไว้เป็นของตนเอง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย  ภาษา  การกินอยู่   ศาสนา   และ  แนวคิดทางปรัชญา 

               แนวคิดทางปรัชญาที่ญี่ปุ่นรับเอามาจากจีนโบราณ  ที่ยังเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันก็คือ  แนวคิดของขงจื่อ (ผมเขียนตามเสียงในภาษาจีนกลาง  ที่ออกเสียงว่า  ขงจื่อ  ไม่ใช่  ขงจื้อ)   

               ขงจื่อ  เกิดในเดือนกันยายน ปี 551 ก่อนคริสตกาล  ถือว่าเป็นบุคคลร่วมยุคสมัยกับพระพุทธเจ้า    แนวคิดและคำสอนของท่าน ได้กลายเป็นรากฐานในการดำรงชีวิตของชาวจีนโบราณมานานนับพันปี  จนกระทั่งประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ 


(คำสอนของขงจื่อ  จากภาพยนตร์ซีรี่ทางโทรทัศน์)

               ระบอบคอมมิวนิสต์ปฎิเสธคำสอน  แนวคิด  และปรัชญาเก่าแก่ของขงจื่อทั้งหมด   ซ้ำยังสนับสนุนให้นำวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพ  ขึ้นมาใช้แทนวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ถ่ายทอดกันมานานหลายพันปีด้วย    เรียกว่า   เป็นการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในฉับพลันทันใด   

               จึงไม่แปลกที่จะเห็นชาวจีนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน  ยังคงขากถุยไม่เลือกสถานที่    

               ผิดกับวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน  ที่ยังคงรักษาปรัชญาแนวคิดของขงจื่อเอาไว้  แม้ว่าชาวญี่ปุ่นเองอาจจะไม่ได้ประกาศว่า   วัฒนธรรมของตนเอง เป็นวัฒนธรรมขงจื่อก็ตาม


(บันได  และ  ทางเดินต่างๆมักจะระบุชัดเจนให้เดินชิดด้านใดด้านหนึ่ง)

               ขงจื่อ สั่งสอนลูกศิษย์ของตนเองเสมอในเรื่องคุณสมบัติของการเป็น “บัณฑิต”  ที่เน้นย้ำในเรื่อง  การมีจริยธรรม  ประเพณี  แบบแผนของการดำรงชีวิต  ที่ภาษาจีนเรียกว่า  หลี่

               ขงจื่อ สอนเสมอว่า  บัณฑิต ย่อมจะต้องเกรงใจผู้อื่น   ซึ่งก็ตรงกับแนวความคิด และ ปรัชญาในการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่ว่า

               ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน 

               คนญี่ปุ่นจึงไม่นั่งบนขั้นบันไดตามที่สาธารณะ   เพราะจะทำให้คนที่สัญจรไปมาเดือดร้อน  ต้องคอยหลบหลีกเดินเลี่ยงไปทางอื่น 

               คนญี่ปุ่นจึงไม่ส่งเสียงเอะอะตามที่สาธารณะต่างๆ  เช่น  ในรถไฟใต้ดิน  รถโดยสารสาธารณะ  เพราะจะสร้างความรำคาญใจ  สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น 


(บรรยากาศในเขตเมืองเก่าของเกียวโต  ตอนพลบค่ำ   มีความสงบและเยือกเย็น )

               คนญี่ปุ่นจึงยืนชิดซ้ายบนบันไดเลื่อน  และเปิดทางให้คนที่รีบได้เดินแทรกขึ้นหน้าไป   และ  คนญี่ปุ่นจะมีระเบียบเดินชิดด้านซ้ายเป็นส่วนใหญ่    เพื่อว่าคนที่เดินสวนมาจะได้ไม่สับสนหรือเดินชนกัน

               คนญี่ปุ่นจึงไม่ทิ้งขยะตามท้องถนน  หรือ แม้แต่จะเอาขยะของตนเองไปทิ้งในถังขยะของเพื่อนบ้าน

               คนญี่ปุ่นจึงมีระเบียบของสังคมว่า  จะต้องเข้าคิวทุกอย่างเมื่อจะทำอะไรร่วมกับคนอื่นที่มีจำนวนคนมากกว่า 2 คนขึ้นไป


(ร้านซูชิชื่อดังของเมืองโอซาก้า  เป็นร้านเล็กๆที่มีคิวยาวเหยียดเหมือนกัน  เป็นร้านที่ผมขอแนะนำ)  

               ผมเคยถามคนญี่ปุ่นว่า  หากมีคนเดินเข้ามาแทรกตรงกลางคิว   คนญี่ปุ่นที่เข้าคิวอยู่จะทำอย่างไร 

               ได้รับคำตอบว่า   ถ้าเป็นคนต่างชาติเขาจะไม่ทำอะไร   แต่หากเป็นคนญี่ปุ่นด้วยกันเอง   อาจจะไม่มีใครทำอะไรก็ได้   แต่หากจะมีก็อาจจะเป็นว่า   เขาจะเดินเข้าไปบอกกับคนที่แซงคิวว่า

               “ฉันคิดว่า   คุณไม่ใช่คนญี่ปุ่นนะ”


(ภายในวัดญี่ปุ่น  ที่พระของเขาสร้างบรรยากาศให้สงบ  ร่มรื่น  สมกับเป็นที่พักใจของผู้มาเยี่ยมเยือน  ลองหลับตาคิดถึงวัดไทยดูนะครับ  ว่าแตกต่างกันขนาดไหน)

               ซึ่งคำๆนี้   คนญี่ปุ่นถือว่าเป็นคำด่าที่เจ็บแสบมาก   ใครที่ถูกคนอื่นๆพูดคำนี้ด้วย  ก็จะต้องก้มหน้าเดินหนีไปด้วยความอายแล้ว


(ร้านราเมงชื่อดังของญี่ปุ่น   คิวยาวมาก  บางคนต้องรอนานนับชั่วโมงกว่าจะได้กิน  แต่ก็อดทนรอกัน)

               แต่การพูดแบบนี้   คงจะไม่ได้ผลในประเทศไทย

               เมื่อหลายสิบปีก่อน   ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะอ้างอิงว่า   ตนเองนั้นมาจากประเทศจีน  หรือ อย่างน้อยที่สุดก็มีชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงกันอยู่  ซึ่งก็ยืนยันได้จากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่มีความเหมือนกับวัฒนธรรมของจีนอย่างมาก 


(ร้านอาหารจานด่วน   ทุกคนต้องเข้าคิว)

               แต่เดี๋ยวนี้   ชาวญี่ปุ่นเริ่มจะมีทัศนคติที่ว่า   ตนเองมีความใกล้ชิดทางสายพันธุ์กับชนพื้นเมืองเดิมของตนเองที่เรียกว่า  ชนเผ่าไอนุ   และเริ่มปฎิเสธว่ามีความเกี่ยวดองกับชาวจีนแล้ว

               อาจเป็นเพราะ  ชาวญี่ปุ่นได้เห็นมารยาทที่แย่ๆของชาวจีนแล้วว่าเป็นอย่างไร    หรือ  อาจจะเป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่ชักจะแหลมคมมากขึ้นทุกวันก็ได้

               แต่ไม่ว่าจะสืบเชื้อสายมากจากใครก็ตาม   ญี่ปุ่นในวันนี้  พัฒนาวัฒนธรรมของตนเองขึ้นมาสูงกว่าวัฒนธรรมดั่งเดิม  คือ วัฒนธรรมจีนอย่างไม่เห็นฝุ่นแล้ว   จนกลายเป็นประเทศที่ใครๆก็อยากไปเที่ยวกัน   

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *