สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                 (6 กุมภาพันธ์ 2558 )

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์ซึนามิ ในญี่ปุ่นเมื่อปีพ.ศ. 2554    ชาวโลกได้แต่แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมของชาวญี่ปุ่น และส่งทั้งกำลังใจ และ กำลังทรัพย์ไปช่วยกันอย่างล้นหลาม  

               แม้จะเป็นโศกนาฎกรรมที่ชาวโลกได้แต่แสดงความสลดใจต่อชาวญี่ปุ่น   แต่ชาวญี่ปุ่นก็ได้สอนบทเรียนที่สำคัญให้แก่ชาวโลกอย่างที่ไม่มีใครคาดถึงว่า 

               ชาวญี่ปุ่นจะมีระเบียบวินัย และ มีหัวใจที่แข็งแกร่งขนาดนี้


(สภาพหลังเกิดซึนามิ  ดูภาพนี้แล้วสะท้อนใจ  และ สงสารจับใจ)

               สำหรับท่านที่อาจจะนึกภาพไม่ออกว่า  ซึนามิ จะมีความร้ายกาจขนาดไหน  ผมจึงเอาลิงค์ของวิดีโอที่ชาวญี่ปุ่นได้ถ่ายภาพเหตุการณ์นี้เอามาให้ดูกันครับ   

               หลังจากซึนามิผ่านไป ชาวญี่ปุ่นอยู่ในสภาพบ้านไม่มีบ้านจะอยู่  ข้าวไม่มีจะกิน  เงินแทบไม่เหลือติดกระเป๋า  แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจว่า  ไม่มีข่าวเรื่องการปล้นสะดมเพื่อแย่งชิงอาหาร หรือ ทรัพย์สินกันเลย   ไม่ว่าจะหิวโหยขนาดไหน  ไม่ว่าคิวจะยาวขนาดไหน   ประชาชนชาวญี่ปุ่นจะเข้าคิวรอรับอาหารกันอย่างเงียบสงบ และ อดทน 


(อีกภาพหนึ่งที่สะท้อนถึงความรู้สึกที่สิ้นหวัง  หดหู่)

               เรื่องแบบนี้   จะไม่มีทางเกิดขึ้นในประเทศใดๆ  แม้แต่กับสหรัฐอเมริกา  ที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ  และมีมาตรฐานการศึกษาดีมากที่สุดชาติหนึ่ง  

               แต่ทำไมถึงเกิดขึ้นกับคนญี่ปุ่น 

               เพราะญี่ปุ่นถือ  จารีตประเพณี  ระเบียบสังคม  มารยาทที่ดี   แนวคิดไม่ทำให้ใครเดือดร้อน  การเคารพผู้อื่น   ให้เกียรติผู้อื่น  และจิตวิญญาณของการยอมเสียสละเพื่อผู้อื่น   อันเป็นแนวคิดของ ขงจื่อ  ที่เรียกว่า  หลี่   ที่สืบทอดกันมาช้านาน 


(ชาวญี่ปุ่นหลังซึนามิ  แม้จะไม่มีอะไรจะกิน  แต่ก็ยังมีระเบียบวินัย  อดทนเข้าคิวเรียงตามลำดับรอรับอาหารอย่างสงบ)

               เราจึงได้ยินเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นหลังเหตุการณ์ซึนามิ  ที่มีบางคนได้รับอาหารแล้ว หลังจากต้องเข้าคิวเป็นเวลานาน  ยอมยกอาหารให้คนอื่นที่เขาเห็นว่า  อ่อนแอ หรือ มีความจำเป็นมากกว่าตนเอง 

               จิตสำนึกเหล่านี้  หากเราจะสร้าง  คิดว่าจะต้องใช้เวลาในการสร้างสมนานสักเท่าไหร่ 

               ชาวญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า   เมื่อร้อยปีที่แล้ว  ในขณะที่ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ยากจนเนื่องจากมีพื้นที่สภาพเป็นเกาะ  เต็มไปด้วยภัยธรรมชาติมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว  ภูเขาไฟระเบิด   ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล  


(ความแข็งแกร่ง  ถ้าโง่  ก็ไม่อาจพลิกฟื้นแผ่นดินขึ้นมาใหม่ได้   เช่นภาพนี้เป็นเหตุการณ์ห่างกัน 1 ปีหลังเกิดซึนามิ ญี่ปุ่นพลิกแผ่นดินขึ้นมาใหม่  เตรียมพร้อมท่ะจต่อสู้ชีวิตต่อไป )

หรือ บางครั้งก็มีฝนตกมากเกินไปทำให้พืชผลทางการเกษตรไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร   ประกอบกับบางครั้งฤดูหนาวยาวนานกว่าปกติ   ทำให้ในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่ให้ผ่านพ้นฤดูหนาวได้


(ชาวญี่ปุ่นที่ไปชมกีฬาฟุตบอลโลก  แสดงให้ชาวโลกได้เห็นว่า  คุณภาพของชาวญี่ปุ่น เหนือว่าทุกชาติในโลก  ด้วยการช่วยกันเก็บเศษขยะในบริเวณที่ตัวเองนั่งอยู่   ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวญี่ปุ่นกระทำกันอยู่เป็นประจำในประเทศของตัวเอง)

นั่นหมายถึง  ปีนั้นก็จะต้องมีผู้คนจำนวนมากต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความแร้นแค้น   อดมื้อกินมื้อ  หรือ หากโชคร้ายไปกว่านั้น  ก็อาจถึงอดตายได้

มีคำเล่าขานกันว่า  ในยุคโบราณมีหุบเขาที่เรียกกันว่า  หุบเขาตายาย 

ทำไมถึงเรียกว่า   หุบเขาตายาย 

ในสมัยนั้น  ครอบครัวยังอยู่ร่วมกัน  พ่อแม่ ลูก ปู่ย่า หรือ ตายาย เป็นครอบครัวใหญ่   พ่อซึ่งเป็นผู้ชายที่แข็งแรงที่สุดภายในครอบครัว ก็จะต้องทำงานเพียงคนเดียว เพื่อหาเลี้ยงลูกๆ กับ ผู้อาวุโสของครอบครัว  

ไม่ต่างอะไรกับสังคมปัจจุบันนี้ที่เรียกว่า   สังคมผู้สูงอายุ   


(ภาพนี้ไม่ต้องมีคำบรรยาย  ขอขอบคุณผู้ที่เปรียบเทียบเหตุการณ์เหล่านี้ เพื่อเป็นสติเตือนใจคนไทยด้วยกันเอง)  

ในบางปีที่เลวร้ายสุดๆ   อาหารทำท่าจะไม่เพียงพอสำหรับคนทั้งครอบครัวที่จะผ่านฤดูหนาวอันแสนโหดร้ายได้   ตายาย หรือ อาจจะเป็นปู่ย่า ก็ได้  ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในครอบครัว  และเป็นผู้ที่ไม่อาจสร้างผลผลิต  แต่เป็นผู้บริโภคผลผลิตเท่านั้น ก็จำต้องคิดหาวิธีเพื่อจะให้สมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่อยู่รอดให้ได้

ครอบครัวจึงต้องพาผู้อาวุโสในครอบครัว  เดินทางเข้าไปในหุบเขา พร้อมด้วยอาหารพอกินได้สักไม่กี่มื้อ  แล้วทิ้งผู้อาวุโสเอาไว้ในหุบเขา   ตัวเองก็เดินทางกลับบ้าน

ปล่อยให้ผู้อาวุโสเสียชีวิตอยู่ในหุบเขาแห่งนั้น

แต่การวางแผนทำการแบบนี้  ว่ากันว่า  ก็ได้รับความเห็นชอบจากผู้อาวุโสด้วย  ที่พร้อมจะเสียสละชีวิตเพื่อให้สายเลือดของตัวเองมีชีวิตอยู่รอดต่อไป   ด้วยมองเห็นว่า   ตัวเองแก่แล้ว  และไร้ประโยชน์อันใดต่อครอบครัว

หากเอามาตรฐานทางคุณธรรมของโลกวันนี้ไปตัดสิน   เรื่องนี้ก็จะฟังดูโหดร้ายมาก และ ไร้ซึ่งคุณธรรม และ จริยธรรม   

แต่เรื่องนี้  สะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรม  และ  จริยธรรม ที่สูงส่ง  แสนจะลึกซึ้ง  ล้ำลึกที่คนธรรมดาที่มองอย่างผิวเผินยากจะเข้าใจได้  

และยังสะท้อนถึงจิตวิญญาณ  ของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคโบราณแล้วก็คือ  พร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่นได้ทุกเมื่อ   อันเป็นคุณธรรมที่สร้างสมขึ้นมาได้ยากที่สุดของมนุษย์

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *