สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                 (13 กุมภาพันธ์ 2558 )

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ใครที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก   จะต้องรู้สึกประทับบางสิ่งบางอย่างของชาวญี่ปุ่นเหมือนๆกัน  ก็คือ  ความอ่อนน้อมถ่อมตน 

               เป็นความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เรารู้สึกว่า   คงจะหาชาติใดที่จะอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว 


(วัฒนธรรมการโค้งคำนับ  เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่คนอื่น  เป็นวัฒนธรรมของ ขงจื่อ ที่ถ่ายทอดไปสู่ชาวญี่ปุ่น)

               อันที่จริง   เรื่องการอ่อมน้อมถ่อมตนนั้น   คนไทยก็ได้รับการอบรมสั่งสอนทั้งด้วยวัฒนธรรมไทย   และ วัฒนธรรมจีน ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน  เคารพผู้หลักผู้ใหญ่  ให้เกียรติผู้ที่มีอาวุโสกว่า  เหล่านี้เป็นต้น 

               เป็นวัฒนธรรมที่ผสมสานกันระหว่างวัฒนธรรมศาสนาพุทธ และ วัฒนธรรมฮินดู ที่รับมาจากอินเดีย   และ วัฒนธรรมของ ขงจื่อ ที่รับมาจากจีน  ผ่านชาวจีนที่อพยพมาอาศัยในประเทศไทย


(ญี่ปุ่นเข้มให้ความสำคัญในเรื่องมารยาทการโค้งคำนับมาก  จนมีโรงเรียนสอนการปฎิบัติตัวตามประเพณี  เช่น  ประเพณีการชงชาแบบโบราณ  และ วิธีการโค้งคำนับอย่างไรให้สวยงาม  เพื่อให้เป็นที่ประทับใจของผู้ได้พบเห็น)

               จึงอาจเรียกได้ว่า   วัฒนธรรมไทยในปัจจุบันได้กลายพันธุจากวัฒนธรรมฮินดู  วัฒนธรรมขงจื่อ  และ วัฒนธรรมศาสนาพุทธ   มาเป็นวัฒนธรรมใหม่   วัฒนธรรมแบบไทยๆ 

               ต่างจากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่ยังคงเหนียวแน่นในวัฒนธรรมของตนเอง   ทั้งนี้เนื่องแต่สภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ  ประการหนึ่ง

               แต่ที่สำคัญก็คือ  ธาตุแท้ของคนญี่ปุ่น  ที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่โหดร้ายมาโดยตลอด  จึงมีจิตใจที่แข็งแกร่ง  ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย 

               คนญี่ปุ่นจึงมีวัฒนธรรมให้ความเคารพต่อผู้อาวุโส  และ  อ่อนน้อมถ่อมตน


(ยูโตะ นางาโตโมะ  กองหลังของทีม อินเตอร์ มิลาน ได้รับเกียรติให้สวมปลอกแขนกัปตันทีม ในเกมที่เปิดบ้านชนะทีม เอซี มิลาน 1-0  หลังจบเกม นางาโตโมะ แสดงความขอบคุณ ซาเน็ตนิ กัปตันหมายเลข 1 ด้วยการโค้งคำนับตามธรรมเนียมญี่ปุ่น)   

               คนญี่ปุ่นจึงอ่อนน้อมถ่อมตนตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง  พูดจาสุภาพแม้จะพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องนัก 

               ผมเคยเจอเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น  ยื่นส่งหนังสือเดินทางกลับคืนด้วยมือสองมือ   เรื่องแบบนี้ไม่ต้องหวังกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทย   แค่ไม่ถูกตวาด หรือ ทำหน้าบึ้งใส่  หรือ  โยนหนังสือเดินทางกลับคืนมาให้  ก็เป็นบุญนักหนาแล้ว

               พนักงานขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นทุกคนสุภาพ   หากมีใครถามหาของที่ต้องการซื้อก็จะตอบด้วยความยินดี  ซ้ำบางทีถ้าเห็นคนถามไม่ค่อยเข้าใจ  ก็จะจูงมือพาเดินไปด้วยตัวเองเลย  


(รัฐมนตรีหญิงของญี่ปุ่น โค้งคำนับอย่างอ่อนน้อมที่สุด  เพื่อขอโทษประชาชน และ ลาออกจากตำแหน่ง   เนื่องจากมีข่าวอื้อฉาวว่าใช้เงินบริจาคผิดวัตถุประสงค์)

               เจ้าหน้าที่คิดเงินก็ยิ้มแย้มแจ่มใส  เขาจะโค้งคำนับ  และกล่าวคำสวัสดีด้วยใบหน้าแย้มยิ้มที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเต็มใจที่จะให้บริการ  พอคิดเงินเสร็จก็ถามอีกว่า  มีบัตรโน่นบัตรนี่มั้ย  จะได้ลดราคา   ถ้าไม่มีก็เสนอตัวจะทำให้ก่อนเพื่อจะได้ลดราคา 

               ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นกับพนักงานคิดเงินของซุปเปอร์มาเก็ตไทยแน่นอน 


(บริกรสาวในห้องอาหารที่บริการด้วยอัธยาศัยแบบญี่ปุ่น   ดูเหมือนว่าการบริการของไทยจะตามไม่ทันของญี่ปุ่นแล้ว)   

               พอจ่ายเงินเรียบร้อย  เขาก็โค้งคำนับอย่างสุภาพอ่อนน้อมอีก  พร้อมกล่าวคำขอบคุณที่มาใช้บริการด้วยใบหน้าแย้มยิ้มจริงใจ   

               ใครที่เคยช้อปปิ้งในซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมืองไทยจะเห็นว่า  พนักงานเยอะมาก  แต่ทำงานไร้ประสิทธิภาพสุดๆ   เอาแต่คุยเล่นกัน  เวลาถามหาอะไรก็ตอบส่งเดชแบบขอไปที

               การยกมือไหว้สวัสดีลูกค้าของพนักงานซุปเปอร์มาร์เก็ตไทยทุกแห่งก็เหลือทน  ไหว้เหมือนรำคาญเต็มที  หน้างอเป็นจวักเหมือนถูกสามีด่ามาจากบ้าน  


(พนักงานโรงแรม  จะยืนรอส่งแขกที่มาพักโรงแรม  และจะโค้งคำนับอย่างอ่อนน้อมเมื่อรถบัสแล่นออกไป   เพื่อแสดงความขอบคุณผู้มาใช้บริการ) 

               การยกมือไหว้พร้อมกล่าวคำสวัสดี หรือ ขอบคุณ พร้อมด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มจริงใจที่เคยเป็นจุดเด่นของคนไทย  หายไปหมดแล้ว   ผมไม่แน่ใจว่า  วันนี้ชาวญี่ปุ่นได้แย่งตำแหน่งนี้ไปจากเราแล้วหรือยัง 

               เพราะท่าทางการยกมือไหว้ การกล่าวคำว่าสวัสดี  หรือ  ขอบคุณ พร้อมเปิดปากยิ้ม  มันสามารถสะท้อนลึกลงไปถึงจิตใจของผู้ไหว้เป็นอย่างดีว่า   ทำด้วยความเต็มใจหรือไม่อย่างไร   

               จำได้ว่า   เคยดูภาพยนตร์ตะวันตกที่ล้อเลียนการโค้งคำนับของคนญี่ปุ่น  ผู้ชายคนหนึ่งยืนรอส่งผู้ชายอีกคนที่จะขึ้นรถหลังการรับประทานอาหาร  ยืนโค้งคำนับขอบคุณซึ่งกันและกัน  เมื่อฝ่ายหนึ่งโค้งคำนับ  อีกฝ่ายหนึ่งก็โค้งคำนับตอบ  อีกฝ่ายหนึ่งก็โค้งคำนับตอบอีก  ไม่สิ้นสุด 

               จนกระทั่งรถมารับ  ก็ยังยืนคำนับกันไป  คำนับกันมา   จนรถยนต์วิ่งออกไป  ทั้งสองคนก็ยังโค้งคำนับกันไม่เลิก 

               อันที่จริง   จิตวิญญาณเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตนของไทย  ก็ไม่ต่างจากคำสอนของ ขงจื่อ เท่าใดนัก   เพราะไทยเรามีสุภาษิตที่ว่า  ต้นข้าวที่เต็มรวง  จะอ้อนค้อมลงมา  ซึ่งตรงกับคำสอนของ ขงจื่อ ที่ว่า  บัณฑิตย่อมอ่อนน้อมถ่อมตน 

               วัฒนธรรมเรื่องความอ่อนน้ำถ่อมตนของญี่ปุ่น  หมายรวมถึงการมีมารยาท  รู้จักเกรงใจคนอื่น  เช่น  ไม่แสดงความคิดเห็นแบบหักหาญคู่สนทนา  แต่จะพูดแบบถนอมน้ำใจ  ,  จะไม่ไปเยี่ยมบ้านคนอื่นโดยไม่ได้รับเชิญ  และ  จะต้องไม่ไปในช่วงเวลาที่เจ้าบ้านรับประทานอาหาร   ยกเว้นแต่  เจ้าบ้านเขาจะเชิญให้ทานอาหารด้วย

               ว่าไปแล้ว   ก็ไม่ต่างจากวัฒนธรรมไทยเท่าไหร่นัก    แต่ของญี่ปุ่นเขาปฎิบัติกันอย่างจริงจังมากกว่า   

               จำได้ว่า   สมัยเด็กได้รับการสั่งสอนว่า  เมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ที่นั่งคุยกัน  ต้องเดินค้อมตัวลง   ,  เด็กต้องไม่นั่งเสมอผู้ใหญ่   , เมื่อแขกมาเยี่ยมบ้านต้องหาน้ำดื่มมาต้อนรับก่อนอื่น   เป็นต้น     

               แต่วันนี้   จิตวิญญาณในเรื่อง  ความอ่อนน้อมถ่อมตนของไทยได้หายไป  จนแทบจะเรียกได้ว่า  ไม่เหลือให้เห็นแล้ว  

               ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กระทรวงวัฒนธรรม  และ กระทรวงศึกษา  จะตระหนักถึงวัฒนธรรมที่ดีๆของไทยที่กำลังตายจากไป  และ ต้องรีบร่วมกันฟื้นฟูให้คืนกลับมาด่วน 

               ก่อนที่เสน่ห์ของ  ความเป็นไทย  จะกลายเป็นแค่ตำนานคำบอกเล่าของปู่ย่าตายายเท่านั้น     

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *