สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                 (20 กุมภาพันธ์ 2558 )

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ  

               “ความซื่อสัตย์  เป็นคุณธรรมของ บัณฑิต”     ขงจื่อ

               ใครลืมทรัพย์สิน หรือ ทำของหายในประเทศญี่ปุ่น  ไม่ว่าจะลืมในร้านอาหาร   ลืมในห้องพักของโรงแรม  ลืมในสถานีรถไฟ  ลืมในสนามบิน  เป็นต้น    99 เปอร์เซ็นต์จะได้รับของคืนครบถ้วน

               ทั้งนี้   เพราะชาวญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดในคุณธรรมข้อนี้เป็นอย่างมาก   หากอะไรที่ไม่ใช่ของตนเอง   เขาจะไม่หยิบฉวยมาเป็นของตนเองเป็นอันขาด 


(จุดขายของทุกประเทศก็คือ  การคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว) 

               จึงจะไม่มีทางเห็นภาพ รถบรรทุกคว่ำ  แล้วชาวบ้านแทนที่จะช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุ   แต่กลับไปแย่งชิง  ขโมย  หรือ ปล้น สิ่งของที่รถที่ประสบอุบัติเหตุบรรทุกมา   ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน และ  อาหาร   

               ผมเคยเข้าไปซื้อปลาย่างในซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างไดมารูตอนบ่ายวันที่จะเดินทางกลับกรุงเทพ   ผมบอกให้เขาช่วยห่อให้ดี  เพราะจะต้องนำกลับขึ้นเครื่องบินกลับไปกรุงเทพ  

               แม้ผมจะพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้   และสุภาพสตรีพนักงานขายก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย   แต่เธอก็คงจะเข้าใจความหมายที่ผมพยายามสื่อสาร  เป็นเรื่องน่าฉงนมากที่พนักงานขายปฎิเสธที่จะขายปลาย่างให้ผม


(ตรานี้แหละ  ที่นักท่องเที่ยวไทยต้องมองหาในสนามบินยุโรปด้วยใจระทึก   เพราะบางทีก็ปิด เลยชวดเงินคืนจำนวนมาก) 

               ด้วยความสงสัย   ผมก็พยายามถามเหตุผลด้วยความทุลักทุเล   จนกระทั่งได้ความว่า   ปลาจะต้องทานในวันนี้เท่านั้น  

               ผมก็จึงบอกเธอว่า  จะทานในวันนี้  นั่นถึงทำให้เธอยอมขายปลาย่างให้ผม   

               ทำไมเธอจึงไม่ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวแบบเรา ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสกลับไปต่อว่าทางร้านได้เลย  ไม่ว่าสินค้านั้นจะดีหรือไม่  จะเน่าเสียจนทานไม่ได้หรือไม่    


(ร้านค้าปลอดภาษีในญี่ปุ่น) 

               สอบถามในภายหลังจึงทราบว่า  พนักงานขายเกรงว่า  อาหารที่ขายในห้างไดมารูของเธอจะไม่อร่อย  เมื่อเอากลับไปทานที่ประเทศไทย   หรือ อาหารอาจจะบูดเน่าเสียก่อนก็เป็นได้ 

               นี่คือ ความซื่อสัตย์ของชาวญี่ปุ่น   เขาไม่เห็นแก่เงินจนเกินการ  หากการได้เงินจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน

               ที่น่าฉงน  และไม่เข้าใจคนญี่ปุ่นมากไปกว่านั้นก็คือ  ระบบการคืนภาษี VAT  หรือ  ภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นกลยุทธในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของทุกประเทศ  ทั้งในยุโรป และ เอเชีย


(ร้านค้าในเวลากลางคืนในย่านชินจูกุ  ซึ่งเดี๋ยวนี้  มีทั้งป้ายเขียนภาษาไทย  และ ประกาศเป็นภาษาไทยเรียกร้องให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าร้านกันแล้ว)

               หลักการก็คือ  นักท่องเที่ยวทุกคนได้รับสิทธิ์ไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อซื้อสินค้าในประเทศที่ตนเองไปเที่ยว  

               แต่ปัญหาก็คือ   จะทำอย่างไร จึงจะแบ่งแยกได้ว่า  นี่คือสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อ  และนี่คือสินค้าที่ประชาชนซื้อ 

               ในประเทศยุโรป   นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะซื้อนาฬิกา  กระเป๋า   เสื้อผ้า  รองเท้า   ผู้ซื้อจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อน  แล้วจึงค่อยไปรับเงินภาษีคืนภายในสนามบินภายหลัง   

               ขั้นตอนก็คือ  นักท่องเที่ยวจะต้องเอาสินค้าที่ตนเองซื้อ  ไปให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบว่าจะนำเอาของที่ซื้อนั้นออกไปนอกประเทศจริง  เมื่อตรวจสอบแล้ว   ก็จะต้องเอาสินค้านั้นๆในกระเป๋าเสื้อผ้าแล้วโหลดขึ้นเครื่องบินไปเลยต่อหน้าเจ้าหน้าที่ศุลการกร  


(ย่านช้อปปิ้งในร่มที่ยาวกว่า 5 กิโลเมตร ในเมืองโอซาก้า) 

               เพื่อว่าสินค้านั้นๆจะไม่ถูกนำกลับมาขายให้พลเมืองของประเทศนั้นอีกต่อหนึ่ง   ซึ่งถ้าทำแบบนี้  จะทำให้พลเมืองของประเทศนั้นๆ ไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม  

               ผิดกันกับวิธีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง   

               ปัจจุบัน   ญี่ปุ่นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 8 เปอร์เซ็นต์  และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ในไม่ช้า   นั่นหมายความว่า  นักท่องเที่ยวจะสามารถรับเงินภาษีคืนได้ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์  หรือ 10 เปอร์เซนต์ในอนาคต

               เมื่อนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าแล้ว  ก็สามารถเดินไปรับเงินภาษีคืนเป็นเงินสดได้เลยภายในบริเวณใกล้ๆกัน    

               และเมื่อไปถึงสนามบิน   นักท่องเที่ยวก็ไม่ต้องเอาสินค้ามาแสดงให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรดูเพื่อยืนยันว่า  จะนำเสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกนอกประเทศไปด้วย    


(ย่านช้อปปิ้งถนนคนเดินในโอซาก้า) 

               เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก   หรือ  เป็นเพราะคนญี่ปุ่นซื่อเกินไปหรือเปล่า

               ผิดกันกับของยุโรปทุกประเทศ  ที่หลังจากผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยาก   บางครั้งคิวในการแสดงสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่สนามบินจะยาวมาก   และมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรน้อยคนทำงาน(เหมือนไม่ต้องการจะคืนภาษี)   นักท่องเที่ยวจำนวนมากจำต้องตัดสินใจทิ้งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนเองควรจะได้ไป  เพราะกลัวจะไปขึ้นเครื่องไม่ทัน   

               ซ้ำเมื่อผ่านเข้าไปภายในสนามบินเพื่อขอรับเงินสดคืนจากสำนักงาน TAX FREE  ก็ปรากฏว่า   ถูกหักค่าคอมมิชชั่นไปหลายเปอร์เซ็นต์อยู่  


(สินค้ายอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวไทย  ตอนนี้มีป้ายบอกราคาเป็นภาษาไทยแล้ว) 

               และบางครั้งเมื่อต้องต่อเครื่องบินตอนกลางคืน   สำนักงาน  TAX FREE  มักจะปิด   ทำให้ไม่สามารถรับเงินคืนได้   ต้องทิ้งในเสร็จเอกสารทั้งหลายไปเปล่าๆ    ทั้งๆที่ผ่านขั้นตอนทางศุลกากรมาแล้ว 

               และในกรณีที่นักท่องเที่ยวต้องการจะให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ในรูปโอนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิต   ก็ปรากฏว่า  กว่าครึ่งไม่ได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนแต่อย่างใด   เสมือนกันปล้นเอาซึ่งๆหน้า   

               เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในประเทศยุโรปที่เจริญแล้ว  ประเทศที่มักจะเน้นย้ำเรื่อง  ธรรมาภาบาล  ชอบตรวจสอบประเทศอื่นๆว่าไม่โปร่งใส  คอรัปชั่น  ไม่ว่าจะเป็น  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมัน ฯ     

               แต่เมื่อลองถามคนญี่ปุ่นว่า   เขาไม่กลัวว่า คนญี่ปุ่นจะอาศัยช่องว่างของกฎหมายในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม  ซื้อของโดยไม่ต้องจ่ายภาษีแบบที่คนโกงสามารถคิดได้  

               คนญี่ปุ่นจะทำหน้างงๆ   เหมือนไม่เข้าใจ   แล้วถามกลับมาว่า 

               “ทำได้ด้วยเหรอ” 

               ตบหน้าชาวยุโรปที่อ้างตนว่ามีวัฒนธรรมสูงเสียฉาดใหญ่   พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *