สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 6)

ซอกซอนตะลอนไป                 (27 กุมภาพันธ์ 2558 )

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว  ผมเคยได้ยินคำพูดว่า  ชีวิตจะสุขเหมือนอยู่บนสวรรค์  หากได้อยู่บ้านฝรั่ง  กินอาหารจีน  มีเมียญี่ปุ่น  

               ทั้งนี้เพราะเป็นที่ร่ำลือว่า   ผู้หญิงญี่ปุ่นอ่อนน้อม   ปรนนิบัติเก่ง ซึ่งเป็นเรื่องจริง   แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว ซึ่งก็เป็นวิวัฒนาการของโลกในปัจจุบันนี้

               ทำไม       

               สิ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาจนทุกวันนี้  เพราะชาวญี่ปุ่นยึดมั่นและรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง   ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ในที่ทำงาน  และ  หน้าที่ในครอบครัว

               ทุกคนในที่ทำงานจะเคร่งครัด และ ใส่ใจ ในหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัด   การมาทำงานสาย  การพูดคุยเล่นหัวกันในที่ทำงาน   การอู้งาน  ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจให้อภัยได้  และ  ยากที่บุคคลผู้นั้นจะเติบโตในสายงานของตนเอง 

               นอกจากนี้  ระบบอาวุโส  หรือ  ระบบซีเนียริตี้ ของญี่ปุ่นยังเข้มแข็งมาก   ทุกคนจะต้องให้ความเคารพยำเกรงหัวหน้าของตัวเอง   เชื่อฟังคำสั่งของหัวหน้ามากเอาการอยู่   


(สภาพของที่ทำงานเกือบทุกแห่ง สัดส่วนของผู้ชายจะมากกว่าผู้หญิง  โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารสูงๆ)

               ดังนั้น   หากหัวหน้ายังไม่ออกจากที่ทำงาน   ลูกน้องก็จะยังไม่กล้าขยับกลับบ้าน    ทุกคนจึงทุ่มเททำงานให้องค์กรจนค่ำมืดดึกดื่น

               จึงไม่แปลกที่ผู้ชายทำงานมักจะกลับบ้านดึกดื่น   บางครั้งก็อยู่ในสภาพเมามาย  เพราะญี่ปุ่นมีประเพณีเลี้ยงดู  แต่ไม่ปูเสื่อลูกค้าของตนเองเสมอ  (ตอนต่อๆไป  ผมจะเขียนเรื่องเลี้ยงดู แต่ไม่ปูเสื่อครับ)  

               งานรับผิดชอบของชาวญี่ปุ่นจึงมักจะแบ่งแยกชัดเจนในเรื่อง  หน้าที่นอกบ้าน  และ  หน้าที่ภายในบ้าน   หลังจากแต่งงาน   ผู้หญิงจะทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน  ในขณะที่ผู้ชายจะดูแลเรื่องภายนอกบ้าน  เช่น  การหารายได้เข้าบ้านเป็นต้น 


(การแต่งงาน  จุดเริ่มต้นที่หวานชื่น  แต่ใครจะรู้จุดหมายปลายทางของมัน)    

               ผู้หญิงญี่ปุ่น (ในสมัยสัก 50 – 60 ปีที่แล้ว)  จึงต้องปรนนิบัติสามีอย่างดียิ่งตามประเพณีที่ได้รับการสั่งสอนกันมา 

               ผู้หญิงญี่ปุ่นจะต้องตื่นก่อน   นอนทีหลังสามี    เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็ต้องตระเตรียมอาหารเช้าให้พร้อม  เมื่อสามีทานอาหารเช้าเสร็จ  และจะออกไปทำงาน   ภรรยาก็จะต้องไปนั่งคุกเข่ารออยู่ที่ประตู   เพื่อโค้งคำนับอย่างสุภาพที่สุด และกล่าวคำอวยพรให้สามีออกไปทำงาน 

               หลังจากสามีออกไปจากบ้านแล้ว   ภรรยาก็ต้องดูแลงานบ้านทุกอย่างตลอดวัน 

               ตอนเย็นเมื่อสามีกลับมาถึงบ้าน   ภรรยาก็ต้องไปคุกเข่าคำนับที่ประตูอีกเช่นเคย  เพื่อต้อนรับสามีกลับบ้าน   จากนั้นก็ต้องปรนนิบัติ   หาน้ำชาให้ดื่ม   เตรียมน้ำร้อนให้อาบ   เตรียมอาหารค่ำให้พร้อม   สามีจะทานเมื่อไหร่สามารถทานได้ทันที 


(กิจกรรมของผู้สูงอายุของญี่ปุ่น  การออกกำลังการที่นิยมทำกันมาก  ทำให้สังคมของญี่ปุ่นเริ่มกลายเป็นสังคม ผู้สูงวัย)

               ก่อนจะนอน   ก็ต้องดูแลสามีให้เข้านอนให้เรียบร้อยก่อน  ตนเองจึงจะเข้านอนได้    ซึ่งจะว่าไป  ก็ไม่ต่างไปจากประเพณีไทยแท้แต่โบราณที่สอนให้  ภรรยาต้องดูแลสามี  แบบตื่นก่อนนอนทีหลัง เช่นกัน   

               ความเข้มข้นในการปฎิบัติต่อกันของคู่สามีภรรยาของญี่ปุ่น ค่อยๆลดน้อยลงตามวิวัฒนาการของโลก   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงที่ต้องทำงานนอกบ้านด้วย  เช่นเดียวกับผู้ชายเพราะสภาพเศรษฐกิจที่รัดตัวยิ่งขึ้น

               แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็มักจะลาออกจากงานหลังจากแต่งงาน  เพื่อทำหน้าที่แม่บ้านอย่างสมบูรณ์  ไม่ว่าจะดูแลสามี หรือ ดูแลลูก   

               ด้วยเหตุนี้   บริษัทส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นจึงมักจะไม่ค่อยจ้างผู้หญิงทำงาน   หรือ หากจ้างผู้หญิงทำงานก็มักจะไม่ค่อยเลื่อนตำแหน่งให้ผู้หญิงทำหน้าที่ที่สูงๆเท่าใดนัก


(ในรีสอร์ท สำหรับการสังสรรค์ของผู้สูงวัย  มีเวทีสำหรับร้องเพลง  ทานอาหาร  และสนทนากันอย่างสนุกสนาน)

               ดูเหมือนชีวิตครอบครัวของญี่ปุ่นก็น่าไปด้วยกันได้ดี    แต่เป็นเรื่องที่น่าตกใจก็คือ  กรณีหย่าร้างของคู่แต่งงานชาวญี่ปุ่นสูงขึ้นเรื่อยๆ   และที่น่าตกใจมากก็คือ  ฝ่ายหญิงเป็นคนขอหย่าร้างในขณะที่ตัวเองมีอายุประมาณ 60 ปีหรือมากกว่านั้น   

               ทำไม 

               ทั้งหลายทั้งปวงก็มีจากคำที่ฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย  คือคำว่า  หน้าที่ และ ความรับผิดชอบต่อผู้อื่น  ตามหลักคำสอนของ  ขงจื่อ      

               เพราะการแต่งงานไม่ได้หมายความว่า  ทุกคนจะมีความสุขในชีวิตการแต่งงาน   แต่สิ่งที่ทำให้ความเป็นครอบครัวยังสามารถดำรงอยู่ได้ ก็คือ  ความอดทน  อดกลั้น  หรือ  พูดอีกอย่างก็คือ  ความสำนึกในหน้าที่ และ ความรับผิดชอบ 


(อีกมุมหนึ่งของรีสอร์ทผู้สูงวัย)

               ผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากจึงต้องยังคงต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาไว้ซึ่ง  ความเป็นครอบครัว   เพื่อดูแลลูกๆ  และ สามี  ตามหน้าที่ของการเป็นภรรยา 

               เพราะไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะชอบชีวิตของการเป็นแม่บ้าน  ดังนั้น   การต้องฝืนทนการทำหน้าที่แม่บ้านเป็นระยะเวลายาวนาน 20 -30 ปี จึงเป็นเรื่องที่ทุกข์ใจพอสมควร   

               เมื่อภรรยาเหล่านี้หย่าขาดจากสามีแล้วเธอจะไปไหน 

               เธอก็ไม่ได้มีหนทางอะไรเป็นพิเศษ   เธอก็อาจจะอยู่ที่บ้านเดิม  โดยสามีย้ายออกไปอยู่นอกบ้าน  แล้วเธอก็ใช้ชีวิตแบบที่เธอต้องการมาเป็นเวลาช้านาน   เช่น   คบเพื่อนคบฝูง   เดินทางท่องเที่ยวไปกับเพื่อนฝูง   มีงานปาร์ตี้กับเพื่อน   หรือ ทำกิจกรรมอย่างอื่นที่อยากทำมานาน 

               จึงมีโรงแรม หรือ รีสอร์ท ที่ตระเตรียมเพื่อผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง ที่จะมาพบปะสังสรรค์   เพื่อพูดคุยสนุกสนานกัน ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

               เพราะเวลาที่เหลืออาจไม่มากแล้ว  

               นี่คืออีกมุมหนึ่งของชีวิตแม่บ้านของญี่ปุ่น

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *