“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (18 กันยายน 2558 )

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               อาจเพราะเด็กหญิงมณี ได้อ่านหนังสือนิยายฝรั่งมาตั้งแต่เด็กๆ  ไม่ว่าจะเป็นของ  อเล็กซานเดอร์  ดูมาส  และ วิคเตอร์ ฮิวโก  เนื่องจากมารดาที่เป็นชาวอังกฤษได้สอนให้เธออ่านหนังสือมาแต่อายุยังน้อย   จึงทำให้ลีลาการเขียนหนังสือของคุณหญิงมณีมีรูปแบบคล้ายๆการเขียนหนังสือของนักเขียนตะวันตก

               คุณหญิงมณีจะเกริ่นเรื่องราวในอนาคตไว้นิดหนึ่ง  เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากรู้ และติดตามอ่านต่อไป  และ ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่  และ ตัวละครที่สำคัญๆในเรื่องอย่างละเอียด 


(หนังสือ ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี  สิริวรสาร)

               เมื่อสิ้นบิดาไปคนหนึ่ง   และ มารดาก็ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพเป็นเรื่องเป็นราวได้  มารดาจึงนำเด็กหญิงมณีไปฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำเซนต์แมรี่ เอส พี จี  แล้วเธอก็จะเดินทางกลับไปอังกฤษ  เธอบอกกับทางโรงเรียนว่า  จะส่งค่าเล่าเรียนจากอังกฤษมาให้เอง  

               ขณะนั้น   เด็กหญิงมณีน่าจะอายุประมาณ 11-12 ขวบ    เธอไม่รู้เลยว่า  การแยกจากกันกับมารดาครั้งนี้จะต้องยาวนานถึง  7 ปี

               ช่วงเวลา 7 ปีที่เด็กหญิงมณี ต้องพักอยู่ในหอพักโรงเรียนประจำแห่งนี้ ถูกเล่าเป็นเรื่องราวอย่างละเอียดในหนังสือชุดนี้ 


(ภาพตอนสาวๆ สวยแบบแขก ผสม ฝรั่ง และไทย  )

ที่น่าสังเกตก็คือ  ในขณะที่คุณหญิงมณีเขียนหนังสือเล่มนี้นั้น   ท่านอายุประมาณ 70 ปีเศษ  การบรรยายเหตุการณ์เมื่อ 60 ปีที่แล้วเป็นเรื่องที่ผมคิดว่า ไม่ง่าย  ทั้งด้วยเรื่องรายละเอียดของสถานที่  เหตุการณ์ต่างๆ  และ ชื่อของบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์

แต่คุณหญิงมณี ก็ให้รายละเอียดได้อย่างน่าทึ่ง   ทั้งชีวิตประจำวันของเด็กชาวหอ ที่มีการแบ่งชนชั้นกัน  พวกเด็กลูกครึ่งเช่น พ่อเป็นฝรั่งแม่เป็นคนไทยจะถูกพวกนักเรียนเช้าไปเย็นกลับดูถูก  และ  ชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยก็จะดูแคลนเหยียดหยามคนที่ไปมีครอบครัวกับชาวตะวันออกด้วย    

คุณหญิงมณี ยังระบุชื่อของเพื่อนในหอเดียวกันได้อย่างแม่ยำ   เช่น  ท่านเขียนว่า   “มีเพื่อนคนหนึ่งมาจากตระกูลใหญ่ที่มีหน้ามีตา และฐานะดีมาก ชื่อ เมเบอร์ต(MEBERT) บิดาเป็นชาวอังกฤษ มารดาเป็นคนปากน้ำโพ”   

นอกจากนี้  ท่านยังพูดถึงรูปร่างหน้าตาบุคลิค  ชื่อของครู  และแม้กระทั่งรูปแบบและสีสรรของเสื้อผ้าที่ใช้กันในสมัยนั้นได้อย่างละเอียด   

ผมลองผูกดวงชะตาของคุณหญิงมณี  เพื่อดูเรื่องสมอง  และ ความจำของท่าน   ก็พบว่า   ดวงในจักรราศีบอกว่า   ท่านมีความที่ดี  และ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้อย่างดียิ่งทีเดียว


(ดวงชะตาจักรราศีของคุณหญิงมณี)  

ตลอดช่วงเวลา 7 ปีในโรงเรียนประจำแห่งนี้   มารดาของเด็กหญิงมณี ไม่อนุญาตให้ญาติฝ่ายบิดา คือ สมาชิกจากสกุลบุนนาค ไม่ว่าใครก็ตามมาเยี่ยม หรือ พาเด็กหญิงมณีออกไปเที่ยวข้างนอกเลย   ซึ่งแหม่มชาวอังกฤษที่เป็นผู้ดูแลโรงเรียนก็ต้องปฎิบัติตาม

ดังนั้น  7 ปีของการอยู่ในโรงเรียนประจำ  จึงเป็น 7 ปีแห่งความโดดเดี่ยวว้าเหว่อย่างยิ่ง   เพราะบรรดาเพื่อนๆที่อยู่หอเดียวกัน จะมีพ่อแม่มารับกลับบ้านในช่วงเสาร์-อาทิตย์  และ  วันปิดเทอมยาว 

ยกเว้นเด็กหญิงมณี บุนนาค  ที่กว่าญาติพี่น้องฝ่ายบิดาจะหาอุบายหลากหลายมาอ้างกับแหม่มผู้ดูแลโรงเรียน  จนโรงเรียนยอมให้ญาติฝ่ายบิดาพาเธอออกไปข้างนอกได้ก็หลายปีผ่านไปแล้ว  

หลังจากเข้าเรียนโรงเรียนประจำไม่กี่เดือน   มารดาของเด็กหญิงมณี ก็ไม่ได้ส่งค่าเล่าเรียนมาให้โรงเรียนอีกเลย 

หากไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน  ผู้ปกครองก็ต้องมารับเด็กออกไป   แต่ในกรณีของเด็กหญิงมณี  เธอไม่มีผู้ปกครองอยู่ในเมืองไทยเลย   โรงเรียนจะไล่เธอออกไปโดยไม่มีผู้ปกครองมารับก็เป็นสิ่งที่ครูใหญ่ของโรงเรียนไม่อาจทำได้     

เด็กหญิงมณีเอาตัวรอดให้สามารถอาศัยอยู่ในโรงเรียนประจำแห่งนี้ต่อไปได้อย่างไร   ผมอยากให้ลองไปอ่านดูนะครับ    

ในที่สุดเธอก็เรียนและพักในหอพักโรงเรียน เซนต์แมรีย์ เอส พี จี จนจบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 8 หรือ ม.8 ในสมัยนั้น   โดยไม่ต้องจ่ายเล่าเรียน  ค่าอาหาร และ  ค่าที่พักเลย  

ขณะนั้นเธอมีอายุ 18 ปี กำลังเข้าสู่วัยสาว


(ภาพคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ภาพจากเว็บไซต์)

เธอตัดสินใจสอบเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า   พ้นจากอาณาเขตของหอพักโรงเรียนเซนต์แมรีย์ แล้ว  เธอจะไปอาศัยอยู่ที่ไหน

โชคดีที่มารดาของเธอเดินทางกลับมาเมืองไทย    ทำให้เธอมีที่พึ่งที่จริงจังอีกครั้ง   และเป็นการหักเหของชีวิตครั้งสำคัญอีกครั้งของนางสาวมณี

เพราะหากมารดาของเธอไม่ได้กลับมาเมืองไทย   เธอก็คงจะต้องอาศัยพักพิงในโรงเรียนเซนต์ แมรี่ย์ ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย   โดยมีโรงเรียนเซนต์แมรี่ย์ เป็นผู้อุปถัมภ์  

ซึ่งเมื่อเธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เธอก็จะต้องกลับมาเป็นครูสอนนักเรียนที่นี่ต่อไป 

หากเป็นเช่นนั้น  วิถีชีวิตของนางสาวมณี  ก็คงจะเป็นเพียงครูสอนภาษาคนหนึ่งในโรงเรียนแห่งนี้    คงไม่มีโอกาสเป็นสะใภ้หลวงของรัชกาลที่ 7 อย่างแน่นอน 

ชีวิตมนุษย์  บางครั้งก็ยิ่งกว่าความฝัน 

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

(สำหรับท่านที่ต้องการซื้อหนังสือชุดนี้  ติดต่อได้ที่เบอร์ 099 425 9112  คุณเพชรชมพู  รายได้จากการจำหน่ายหนังสือจะเข้ามูลนิธิ มณี สิริวรสาร  เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ยากจน) 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *