นางาซากิ วันที่โลกต้องจดจำ(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (7 สิงหาคม 2558 )

นางาซากิ วันที่โลกต้องจดจำ(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 6 สิงหาคม ปีพ.ศ.2488  อเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู(ATOMIC BOMB) ลูกแรกลงที่เมือง  ฮิโรชิมา   เพื่อบีบบังคับให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้    แต่ญี่ปุ่นยังเงียบ

               วันที่ 9 สิงหาคม  ให้หลังไปอีก 3 วัน  อเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลูก ที่ 2 ที่เรียกว่า  FAT MAN ลงที่เมือง นางาซากิ   ยังผลให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 15  สิงหาคม พ.ศ. 2488  


(พวยควันที่พุ่งขึ้นในอากาศเหมือนดอกเห็ดมีความสูงประมาณ 10 กิโลเมตร  เป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติได้สัมผัสกับความโหดร้ายของอาวุธที่ว่านี้เป็นครั้งแรก)

               เดิมที  อเมริกาเลือกที่จะทิ้งระเบิดที่เมืองโคคูรา(KOKURA) เป็นเป้าหมายที่หนึ่ง   แต่ก็เปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย   เพราะสภาพอากาศที่เมืองโคคูราเต็มไปด้วยเมฆและหมอก  ทำให้ทัศนวิสัยแย่มาก   

               นักบินจึงเปลี่ยนมาใช้แผนสองคือ  เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นเมืองนากาซากิแทน   แม้จะรู้ว่า  มีผู้คนอยู่ในเมืองนี้ประมาณ 263,000 คน  เป็นคนพื้นเมืองส่วนใหญ่  นอกนั้นเป็นชาวเกาหลี และ ชาวตะวันตกที่เป็นเชลยศึก  และ  นักบวชทางศาสนาคริสต์ในโบสถ์


(เมืองที่ไม่เหลือสภาพเมืองเลย)

               อันที่จริง   เมืองโคคูรา  ก็เป็นเป้าหมายสำรองของการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ตั้งใจจะทิ้งที่เมือง ฮิโรชิมา มาก่อน  หากทัศนวิสัยของเมืองฮิโรชิมาไม่ดี   ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของโหราศาสตร์  ก็ถือว่า  ดวงเมืองของโคคูราคงจะแข็งเอาการ  และชาวเมืองโคคูราเองก็คงจะทำบุญเอาไว้มากทีเดียว  

               วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558  จะเป็นวาระของการครบรอบ 70 ปี ของการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น  โดยเฉพาะที่เมืองนากาซากิ   

               บังเอิญ  ตอนที่ไปชมพิพิทภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนากาซากิ (NAGASAKI ATOMIC BOMB MUSEUM)  ผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า  VOICES OF THE BOMB SURVIVORS NAGASAKI   มาจากพิพิทภัณฑ์ระเบิดปรมาณู ที่เมืองนากาซากิ  ซึ่งได้รวบรวมบันทึกของผู้รอดชีวิตจากระเบิดที่โหดร้ายที่สุดของมนุษยชาติในครั้งนี้จำนวนกว่า 1000 คน


(นาฬิกาเรือนนี้  ที่จัดแสดงในพิพิภัณฑ์ ระบุเวลาที่นาฬิกาหยุดเดินเมื่อตอนทิ้งระเบิดประมาณ 11.02 น.) 

               เป็นบันทึกที่แสนหดหู่ใจอย่างยิ่ง   ผมก็จึงขอนำเนื้อความของหนังสือเล่มนี้มาย่อยย่อให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันครับ   

               จากหลักฐานวัตถุคือนาฬิกาที่ตายเมื่อเวลา 11.02 น.  ระบุว่า   นี่คือ  วินาทีมรณะของเมืองนากาซากิ  และ  วินาทีที่ประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จำนวนนับแสนคนต้องเผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้าย 

               และไม่ใช่เพียงแค่วินาทีที่ระเบิดปรมาณูระเบิดขึ้นเท่านั้นที่สังหารชาวนากาซากิ   หากยังสังหารผู้คนอย่างต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี  ด้วยผลทางด้านรังสีร้ายที่แทรกซึมอยู่ในร่างกายคน   จนก่อให้เกิดโรคร้ายประหลาด  และ ความพิกลพิการทางร่างกาย    

               จุดที่ระเบิดปรมาณูตกนั้น  เรียกเป็นภาษาวิชาการว่า  ไฮโปเซ็นเตอร์ (HYPOCENTER) ขยายเป็นวงกลมออกไปโดยมีรัศมีประมาณ 500 เมตร  และ ขยายวงออกไปเรื่อยๆเป็นชั้นๆ   จนกระทั่งรัศมีที่ 3,000 เมตร หรือ  3 กิโลเมตร เป็นขอบเขตการทำลายล้างของระเบิดลูกนี้    

               ส่วนที่พวยพุ่งขึ้นมาเป็นลูกทรงกลมในอากาศนั้น   อุณหภูมิของมันจะอยู่ที่ประมาณหลายล้านองศาเซลเซียส   ดังนั้น   เราจึงน่าจะพอจินตนาการได้ว่า   ตรงจุดไฮโปเซ็นเตอร์ จะมีอุณหภูมิความร้อนกี่องศา

               คงน่าจะร้อนพอๆกับเปลวไฟในนรกขุมที่ลึกที่สุดนั่นแหละ 


(แผนผังที่แสดงให้เห็นถึงลำดับของความร้ายแรงของระเบิด จากจุดศูนย์กลางที่เรียกว่า  ไฮโปเซ็นเตอร์ออกมา)

               โดยผลของระเบิด  ผู้เคราะห์ร้ายที่อยู่ในเขตรัศมี 500 เมตรที่เรียกว่า ไฮโปเซ็นเตอร์นั้น  โอกาสรอดชีวิตแทบจะเป็นศูนย์   แต่ก็ยังมีคนรอด

               บันทึกในหนังสือข้างต้นบอกว่า  สุภาพสตรีท่านหนึ่งที่ชื่อ  โยเซ มัตซูโอ (YOSA MATSUO) ซึ่งขณะนั้น  เธออายุ 55 ปี

               ตอนระเบิด   เธอหลบอยู่ในหลุมหลบภัยใต้ดินที่อยู่ใต้คุกแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากจุด ไฮโปเซ็นเตอร์ เพียงแค่  184 เมตรเท่านั้น   ในจำนวนผู้หลบภัยในหลุมหลบภัยจำนวน 50 คน  มีผู้รอดชีวิตเพียง 7 คนเท่านั้น

               เธอเล่าว่า  มีแสงสว่างสีน้ำเงินวาบขึ้นมาในทันทีทันใด  และพื้นดินก็สะเทือนเลื่อนลั่น   เธอไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น   จากนั้นเธอก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรอีก  และเป็นลมล้มไป   อีกพักใหญ่ต่อมา    เธอลืมตาขึ้น  และมองเห็นคนตายจำนวนมากอยู่รอบๆตัว  

               ตอนนั้น  ร่างกายของเธอถูกเผาไหม้ไปมาก  เสื้อผ้าละลายหายไปจนเธออยู่ในสภาพเปลือยเปล่า   เธอพยายามจะขยับตัว  แต่ก็ไม่สามารถทำได้   และต้องนอนอยู่ตรงนั้นเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน  โดยไม่ได้ดื่มน้ำแม้แต่อึกเดียว    จนกระทั่งมีคนมาช่วยในที่สุด


(อานุภาพความร้อนแรง  และ  ร้ายแรงของระเบิด  ทำให้ลวดลายบนเนื้อผ้าหลอมละลายไปติดบนผิวหนังของผู้ใส่)

               หลังจากได้รับการช่วยชีวิตออกมา   เธอก็ไปพบหมอเพื่อรักษา   แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก   ผิวหนังเริ่มเปื่อย  เนื้อของเธอเริ่มเน่า  และส่งกลิ่นเหม็น   เธอเกรงใจคนอื่นที่จะต้องมาช่วยดูแล  จึงได้ขอสำลีเช็ดแผลมาทำความสะอาดแผลด้วยการเช็ดเอาผิวหนัง  และ เนื้อส่วนที่เน่าออกไปจนกระทั่งมองเห็นกระดูก

               แล้วเธอก็โรยแผลด้วยแป้งเด็ก  เพื่อทำให้แผลแห้งและตกสะเก็ด   ในที่สุด ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดี หรือ โชคร้ายของเธอกันแน่    เธอรอดชีวิตมาได้จนกระทั่งมาให้ปากคำในเหตุการณ์ครั้งนี้ในปีพ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นปีที่เธอเสียชีวิตพอดี ขณะมีอายุได้ 86 ปี    


(สภาพของผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกเผาไหม้เกือบทั้งตัวแบบนี้   ไม่ทราบว่า  ท่านผู้นี้รอดชีวิตหรือไม่)

               มัตซูโอ เสียชีวิตในปีพ.ศ. 2519   หลังจากต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการป่วยจากเหตุการณ์ระเบิดอีกนาน 31 ปี   สาเหตุหลักของการเสียชีวิตมาจากโรคเลือด ที่เรียกว่า  PURPURA  คืออาการที่ผิวหนังมีสีแดง และ สีม่วงอันเป็นผลมาจากเลือดออกใต้ผิวหนัง   ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากรังสีของระเบิดปรมาณู


(ผู้เคราะห์ร้ายบางราย   ผิวหนังชั้นนอกหลุดลอกออกมาเหมือนถอดเสื้อเลยทีเดียว) 

               ผมจะนำบันทึกของผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในครั้งนี้มาเล่าต่อในสัปดาห์หน้าครับ   อาจจะสยองขวัญสักหน่อย   แต่ก็เป็นความจริงที่เราต้องเรียนรู้ว่า

               มนุษย์เราโหดร้ายขนาดไหน

               (ผมขออโหสิกรรมจากผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ ที่นำภาพของท่านมาเผยแพร่  มิได้มีเจตนาลบหลู่แต่อย่างใด   เพียงเพื่อเป็นอุทาหรณ์ต่อคนรุ่นหลังที่ยังไม่รู้จักถึงความโหดร้ายของอาวุธชนิดนี้เท่านั้น   และขอภาวนาขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านี้  ได้ไปสู่ความสงบแล้วทุกท่าน)   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *