นางาซากิ วันที่โลกต้องจดจำ(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 สิงหาคม 2558 )

นางาซากิ วันที่โลกต้องจดจำ(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผลจากการทิ้งระเบิดปรมาณู FAT MAN ของสหรัฐอเมริกาลงที่เมือง  นากาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปีพ.ศ. 2488 นั้น   ทำให้มีคนเสียชีวิตทันที 70,000 คน  และ  บาดเจ็บอีกไม่น้อยกว่า 70,000 คน  


(ระเบิดปรมาณู FAT MAN จำลอง ที่จัดแสดงในพิพิฑภัณฑ์ระเบิดปรมาณู นากาซากิ)

               จะว่าไป  7 หมื่นคนที่ว่าอาจจะโชคดีก็ได้  ที่ได้เสียชีวิตไปในทันทีทันใด   โดยที่ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดเหมือนคนอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานอีกนานอีกหลายปีกว่าจะตาย 


(ผู้ที่เสียชีวิตทันทีที่ระเบิดลง  จะเห็นว่า  ผู้ตายเอามือกุมไว้ที่คอเหมือนกับพยายามจะหายใจ ด้วยความทรมานก่อนที่จะตาย)

               ไม่เหมือนกับครอบครัว ฟูจิตา (FUJITA)  ซึ่งมีสมาชิกในครอบครัวขณะนั้น 8 คน ประกอบด้วย บิดา คือนาย ฮัตซุยชิ(HATSUICHI) อายุ 42 ปี  ภรรยาคือ ซาโน(SANO) อายุ 36 ปี  พร้อมด้วยลูกชาย 1คน และ ลูกสาวอีก 5 คน


(ภาพถ่ายในวันเกิดเหตุ  และสิ่งของเครื่องใช้ที่เหลือมาจนถึงวันนี้  ถูกจัดแสดงในพิพิทภัณฑ์ที่เมือง นากาซากิ)

               สมาชิกของครอบครัวทั้งหมด 8 คน  ตาย 6 คน รอด 2 คนคือ นางซาโน และ ลูกสาวคนโต ที่ชื่อฮัตซู (HATSUE)  ซึ่งขณะนั้นอายุ 17 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนพาณิชยการ  แต่ถูกเรียกตัวไปทำงานในฝ่ายบัญชีของโรงงาน อาคูนูรา(AKUNOURA FACTORY) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเรือรบในเครือของบริษัท มิตซูบิชิ(MITSUBISHI SHIPYARD COMPANY) ที่อยู่ห่างออกจากจุดระเบิดออกไป

               ด้วยเหตุนี้   เธอจึงรอดชีวิต  

               นายฮัตซุยชิ ผู้เป็นสามี บาดเจ็บสาหัสจากการเผาไหม้ของระเบิด และ เสียชีวิตในอีก 5 วันต่อมาคือวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488  

               ผู้ที่เสียชีวิตทันทีในวันที่ 9 สิงหาคม ก็คือ ลูกสาวคนที่สอง  , ลูกสาวคนที่ 3 เสียชีวิตต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม ,   ลูกสาวคนที่สี่ เสียชีวิตเป็นรายต่อมาคือวันที่  14 สิงหาคม  และ  สมาชิกคนสุดท้ายที่เสียชีวิตในวันที่ 15 สิงหาคม คือ ลูกชายคนเดียวซึ่งเป็นลูกคนที่ 5 

               ทั้งหมดเสียชีวิตเพราะบาดแผลเผาไหม้จากระเบิดปรมาณูนี้ทั้งสิ้น

               ผมอดรู้สึกสงสารและเวทนา  ต่อผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลเผาไหม้หลายวันก่อนที่จะเสียชีวิตซึ่งมีอยู่จำนวนมากมาย   เพราะพวกเขาจะต้องทุรนทุรายมากน้อยขนาดไหน

               และรู้สึกเศร้าสลดใจ ต่อนางซาโน ที่ต้องทนดูคนที่ตนเองรัก  และ  ผูกพัน ล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตาทีละคน   ว่าหัวใจของเธอจะชอกช้ำสักแค่ไหน    


(มารดาคนหนึ่งกำลังปลอบโยนลูกน้อยด้วยการหวีผมให้  ในขณะที่แววตาของเด็กน้อยเต็มไปด้วยความตระหนกตกใจและหวาดกลัว  หูข้างซ้ายของเด็กน้อยได้ละลายหายไปแล้ว   ไม่มีข้อมูลว่าทั้งคู่รอดชีวิตหรือไม่)

               แต่สำหรับผู้ที่รอดชีวิต  วิบากกรรมของพวกเขาก็ยังไม่หมด  เพราะต้องทนใช้ชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากรังสีร้ายของระเบิด   ยังไม่ต้องพูดถึง  ความหวาดผวา   ฝันร้าย  และ ภาพหลอน  ที่ยังติดตามพวกเขาอยู่จนชีวิตจะหาไม่ 


(ผู้ที่ดีรับผลกระทบจากรังสีของระเบิด  ทำให้ร่างกายเกิดการผิดปกติ  นี่คือกรณีหนึ่งเท่านั้น)

               เช่นเดียวกับ  ฮิราโก ฮอนดา เพศหญิง ที่ประสบเหตุร้ายครั้งนี้ขณะอายุ 15ปี และต้องทนทรมานถูกความทรงจำที่เลวร้ายตามหลอกหลอนเป็นเวลากว่า 40 ปี

               แต่สำหรับรายของเด็กหญิงคนที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟังนี้   เธอคือ ซาซากิ ซาดาโกะ (SASAKI SADAKO) ซึ่งประสบเหตุร้ายครั้งนี้ตอนที่ระเบิดปรมาณูลูกแรกถล่มที่เมือง ฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488  ขณะที่อายุเพียง  2 ขวบเท่านั้น


(ซาดาโกะ ผู้พับนกกระดาษพันตัว)

               แม้ว่าเธอจะโชคดีมีชีวิตรอดจากระเบิดครั้งนี้มาได้   แต่ก็ไม่อาจหนีพ้นจากรังสีอำหิตของระเบิดที่ได้เข้าไปแทรกอยู่ในตัวของเธอได้

               หลังจากนั้นอีก 9 ปี  เมื่อเธอเติบโตขึ้น  และเรียนอยู่ในชั้นประถมแห่งหนึ่ง   เธอก็เหมือนเด็กคนอื่นๆทั่วไปที่ดูแล้วก็มีร่างกายแข็งแรงดี   และเธอก็ยังเป็นนักกีฬาของโรงเรียนด้วย 

               วันหนึ่ง   ขณะที่กำลังซ้อมวิ่งในสนามกีฬา  พลันเธอก็รู้สึกมึนศรีษะ  แล้วก็ล้มลง  เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายเธอก็พบว่า  เธอป่วยด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว  ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากระเบิดปรมาณูครั้งนี้ 


(อนุสาวรีย์สันติภาพแห่ง นากาซากิ  เพื่อรำลึกถึงระเบิดปรมาณู ที่โหดร้าย) 

               อนาคตในการเป็นนักกีฬาของเธอดับวูบลง   เหลือเพียงแต่รอวันตายเท่านั้น

               เพื่อนๆของซาดาโก ที่มาเยี่ยมเธอ  ได้บอกเธอถึงตำนานโบราณของญี่ปุ่นที่ว่า   หากใครสามารถพับนกกระดาษได้ครบ 1,000 ตัว   และอธิษฐานสิ่งใด   ก็จะได้สิ่งนั้นสมความปรารถนา

               ซาดาโกะ ลงมือพับนกกระดาษทันที  ด้วยความหวังที่ใสซื่อบริสุทธิ์แบบเด็กๆว่า   เธอจะหายจากโรคดังกล่าวเมื่อพับนกได้ครบ 1 พันตัว    


(ด้านข้างของอนุสาวรีย์สันติภาพ นากาซากิ  ก็คือ อนุสาวรีย์ นกกระดาษ   แม้ว่า  ซาดาโกะ  จะไม่ได้อยู่ที่ นากาซากิก็ตาม)

               เพื่อนๆทุกคนเอาใจช่วยเธอในภารกิจครั้งนี้ 

               เธอใช้เวลา 14 เดือนที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อพับนกกระดาษให้ครบ 1,000 ตัว    แต่อนิจจา   วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2498   ซาดาโกะ ก็เสียชีวิตเสียก่อนขณะอายุย่าง 12 ขวบ 

               เธอเพิ่งจะพับนกได้ 644 ตัวเท่านั้น 

               ไม่มีใครรู้ว่า   หากเธอสามารถพับนกกระดาษได้ครบ 1 พันตัว   เธอจะรอดชีวิตหรือไม่ 

               แต่แล้วเพื่อนๆขอเธอก็ช่วยสานต่อเจตนารมณ์ของเธอให้สำเร็จลุล่วงต่อไป  ด้วยการช่วยกันพับนกกระดาษจนครบ 1,000 ตัว  แล้วฝังนก 1,000 ตัวลงไปในหลุมฝังศพของซาดาโกะด้วย

               และหวังว่า   นกทั้ง 1,000 ตัวจะช่วยพาดวงวิญญาณของเธอไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่า   ดีกว่าภพภูมินี้ที่ผู้คนโหดร้ายเหลือเกิน  

               นกกระดาษจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคนี้ใช้รำลึกถึง ซาดาโกะ ผู้น่าสงสาร   และ  รำลึกถึงวันแห่งความโหดร้ายที่มนุษย์จากซีกโลกหนึ่ง  กระทำต่อมนุษย์ในอีกซีกโลกหนึ่ง  ทั้งๆที่ไม่เคยมีความโกรธแค้นเป็นการส่วนตัวมาก่อนเลย 

               เป็นวันที่โลกจะต้องจดจำไปอีกนานเท่านาน 


(วันที่โลกจะต้องจดจำไปอีกนาน  ถึงสันดานดิบที่โหดร้ายของมนุษย์ที่ร้ายกว่าสัตว์จากนรกขุมใดๆ)

               เดิมทีผมคิดว่า  จะเล่าเรื่องของผู้เคราะห์ร้ายอีกหลายตอน  แต่เมื่ออ่านเรื่องราวของเขาเหล่านี้แล้ว  ก็รู้สึกหดหู่ใจจนเกินกว่าที่จะเขียนต่อได้   จึงขอจบเรื่องราว “นากาซากิ วันที่โลกต้องจดจำ”  เอาไว้แค่นี้ครับ

               มีผู้ถาม อัลเบิร์ต ไอนส์ไตน์  เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ  ซึ่งเป็นตัวต่อยอดไปสู่การคิดค้นระเบิดปรมาณูว่า  สงครามโลกครั้งที่ 3  มนุษย์จะใช้อาวุธชนิดใดมาประหัตประหารกัน 

               ไอนส์ไตน์ ตอบว่า   เขาไม่รู้   รู้แต่ว่า   ในสงครามโลกครั้งที่ 4  มนุษย์จะใช้ไม้กระบอง และ หินเป็นอาวุธต่อสู้กัน

               สวัสดีครับ    

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *