อิตาลี เมืองหลวงของโลกศิลปะ(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (21 สิงหาคม 2558 )

อิตาลี เมืองหลวงของโลกศิลปะ(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในโอกาสที่บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  จะร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ ฟ้าวันใหม่  นำผู้รักศิลปะตะวันตก  ร่วมเดินทางไปกับคุณกรณ์  จาติกวณิช เดินทางท่องเที่ยวแบบเจาะลึก  อิตาลี – เมืองหลวงของโลกศิลปะ ระหว่างวันที่  18 ถึง 25 พฤศจิกายน นี้

               ผมจึงขอนำเอาเรื่องราวบนเส้นทางที่ผมจะนำชมมาเล่าสู่กันฟังครับ    

               ศิลปะของอิตาลีที่นักท่องเที่ยวไปชมนั้น  แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักก็คือ  ยุคกรีก-โรมัน(GRECO-ROMAN)กลุ่มหนึ่ง   และ ยุคเรอเนสซองส์(RENAISSANCE) หรือ  ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ อีกกลุ่มหนึ่ง

               ช่วงเวลาระหว่างยุคทั้งสองก็คือ  ยุคมืด(DARK AGES)  หรือ  ยุคกลาง(MIDDLE AGES) ซึ่งถือเป็นยุคแห่งความตกต่ำทั้งทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และ  ความตกต่ำทางด้านศิลปะ  เพราะศิลปะต้องพึ่งพิงต่อความมั่นคงของสององค์ประกอบก่อนหน้า 

               หากใครเคยไปเยือนพิพิทภัณฑ์สถานแห่งชาติของกรีก ในกรุงเอเธนส์ ก็คงจะเคยเห็นผลงานศิลปะสาขาปฎิมากรรมมากมายที่ยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของศิลปะในยุคนั้น  ว่ามีความก้าวหน้าอย่างไม่น่าเชื่อ   


(รูปหล่อบรอนซ์ ที่ไม่ยืนยันว่าเป็นเทพซุส หรือ เทพโพไซดอน ก้าวหน้ามากขนาดสร้างรูปหล่อที่ไม่ต้องมีฐาน โดยวางรูปทรงให้ยืนแยกขาจากกัน ทำท่าเหมือนกำลังพุ่งแหลน หรือ สามง่าม)

               ในยุคก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ยังทำให้เท้าชิดติดกัน หรือไม่ก็ก้าวเท้าข้างหนึ่งออกมา  และยึดอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม  เพื่อให้ฐานกว้างขึ้น  จะได้มีความมั่นคงเวลาตั้งยืน 


(ตัอวย่างรูปสลักของอียิปต์ ซึ่งอยู่ในยุคก่อนหน้ารูปบรอนซ์  จะมีฐานกว้างมาก)

               หากไปเที่ยวอิตาลี   จุดแรกที่ต้องไปชมก็คือ  นครรัฐวาติกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  พิพิทภัณฑ์วาติกัน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัตถุของยุโรปจำนวนมหาศาล  เพราะมีการสะสมกันมาต่อเนื่องนับพันปี 


(นครรัฐวาติกัน  ในยามพลบค่ำ  ภาพจากอินเตอร์เน็ต  ไม่ทราบที่มา)

               เพราะหลังจากที่โรมล่มสลายในปีค.ศ. 476  อาณาจักรโรมันก็ย้ายไปเติบโตที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล หรือ อีสตันบูลในปัจจุบันนี้  ซึ่งอยู่ห่างจากโรมออกไปประมาณ 3 พันกิโลเมตร 

               ทิ้งให้โรมค่อยๆเสื่อมถอยลง  จนพื้นที่รองเท้าบู๊ตที่เคยอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรโรมันแต่เพียงผู้เดียว  ต้องแตกแยกออกเป็นนครรัฐต่างๆมากมาย    


(แผนที่ของอิตาลีในปีค.ศ. 1494 ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นนครรัฐต่างๆ  ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

ในทางกลับกัน  วาติกัน ค่อยๆทรงอิทธิพลขึ้นเป็นลำดับ  จนสามารถแยกตัวออกมาจากศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ขึ้นมาเป็นศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคได้ 

               มุมหนึ่งในพิพิทภัณฑ์วาติกัน ที่ผมชอบเป็นพิเศษเมื่อพานักท่องเที่ยวไทยไปชมก็คือ   โถงแปดเหลี่ยมเบลแวร์แดร์(BELVEREDERE)  ที่รวบรวมงานปฎิมากรรมชิ้นเด่นๆเอาไว้หลายชิ้น   เช่น   เลาคูน(LAOCOON)  


(ภาพปฎิมากรรมเลาคูน  โดยผู้เขียน)  

               สันนิษฐานว่า   ภาพสลักเลาคูนชิ้นนี้   สร้างขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อนคริสตกาลด้วยการเลียนแบบรูปสลักเลาคูนชิ้นดั่งเดิมที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล 

               ภาพสลักนี้ได้รับการยกย่องและนำมาแสดงในที่นี้ก็เพราะ  ลักษณะการวางโครงสร้างของตัวละคร   แม้ว่าตัวละครแต่ละตัวจะไม่เท่ากัน  แต่ก็เพื่อต้องการสื่อความหมายบางอย่าง

               นอกจากนี้   การเน้นแสดงกล้ามเนื้อของตัวละครก็ถูกต้องตามหลักสรีระของมนุษย์ ซึ่งต้องย้ำว่า  นี้คือผลงานของมนุษย์เมื่อ 2 พันปีเศษ  ที่ยังไม่มีโรงเรียนศิลปะ ที่สอนนักศึกษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเช่นทุกวันนี้  และไม่มีโรงเรียนสอนวิชา  ANATOMY หรือวิชาโครงสร้างทางร่างกายของมนุษย์ 

นอกจากนี้    เรายังได้เห็นรายละเอียดของกล้ามเนื้อของแต่ละคนที่แตกต่างกันด้วย


(ภาพใบหน้าของเลาคูน  ที่แสดงถึงความเจ็บปวด  ดิ้นรน  และปวดร้าว)

เช่น  คนกลางจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง  และ ออกแรงต่อต้านการรัดของงูอย่างเต็มที่  ส่วนคนขวามือที่ยืนอยู่บนเท้าขวาข้างเดียว   พยายามปลดพันธนาการจากงู  กล้ามเนื้อยังแสดงออกถึงการใช้กำลัง 

ในขณะที่คนซ้ายมือ  ร่างกายของเขาอ่อนปวกเปียก  กล้าเนื้อไม่ได้เกร็ง  หรือแสดงการออกกำลังต่อต้านแต่อย่างใด    แสดงว่า   เขาได้ตายไปแล้ว

สัปดาห์หน้า  ผมจะเล่าที่มาของรูปสลักรูปนี้  และรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับกล้ามเนื้อครับ  

สำหรับท่านที่ต้องการจะเดินทางไปอิตาลีในทริปนี้   สามารถติดต่อได้ที่ไวท์ เอเลแฟนท์  ทราเวล เอเยนซี่  โทร 02 651 6900 หรือ 088 578 6666  

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *