ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอนจบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (31 กรกฎาคม 2558 )

ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอนจบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               คนเราตอนยังไม่ถึงคราวซวย   ทำอะไรแย่ๆ  เลวๆเอาไว้เยอะ  แต่ไม่เคยเป็นปัญหา  ครั้นถึงคราวเคราะห์  สิ่งเลวๆทั้งหลายที่ทำไว้ในอดีต ก็ประดังเข้ามาพร้อมกันเหมือนน้ำป่าที่ไหลทะลัก 

               ประเทศกรีซ ในวันนี้ก็เช่นกัน

               เงินที่เสียไปกับงบประมาณอาวุธ   งบประมาณจำนวนมากที่ละลายไปกับความพยายามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคหลายครั้ง    และ งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ทิ้งไปต่อหน้าต่อตาในการสร้างสนามกีฬาหลายแห่งในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค ในปี ค.ศ. 2004  ซึ่งสนามที่ลงทุนไปมากมายเหล่านี้   ก็ถูกปล่อยทิ้งอย่างไร้ค่า   ไม่เกิดประโยชน์

               ทำให้ประเทศกรีซขาดทุนอย่างย่อยยับในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคปี 2004   จนเป็นที่เข็ดขยาดของประเทศต่างๆที่จะเสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพในปัจจุบันนี้    

               ขณะเดียวกัน  สิ่งที่กัดกินประเทศมาตลอดเหมือนมะเร็งร้ายก็คือ  นโยบายประชานิยมของทุกรัฐบาลในอดีตที่ให้คนเกษียณอายุได้ตั้งแต่อายุ 45 – 50 ปี และยังได้เบี้ยบำนาญจำนวนมากเหมือนคนที่ยังทำงาน 

               แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของประชาชนชาวกรีก ที่รักแต่ความสนุก  ความสบายไปวันๆ  โดยไม่สนว่าจะเกิดหายนะในวันข้างหน้า  ซึ่งผู้รับกรรมก็คือลูกหลานของตัวเอง 


(ประเทศกรีซในวันนี้  (ภาพจากอินเตอร์เน็ต))     

               วันนี้  วันที่รัฐบาลกรีซไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมเดินลุยไฟเหยียบดาบตามที่ “สามพันธมิตร” (TROIKA) บังคับให้เดิน  ไม่ว่าจะเป็นการลดบำนาญของคนชรา  เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม   เพิ่มภาษีนิติบุคคล   และ  ยกเลิกการลดภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นสิทธิพิเศษของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ 

               การลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ประชาชนที่อยู่ตามเกาะต่างๆนั้น  ผลประโยชน์ตกอยู่กับเจ้าของธุรกิจโรงแรมจำนวนมหาศาล   เพราะโรงแรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำธุรกิจกับคนรวย  ราคาห้องพักแพงกว่าโรงแรมบนแผ่นดินใหญ่หลายเท่าตัว   

               ชาวกรีกที่เป็นชาวเกาะจึงมีฐานะร่ำรวยแบบเงียบๆมานาน  ผสมผสานกับพื้นฐานทางสังคมครอบครัวของชาวกรีก  ที่นิยมอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่    พ่อแม่ลูก อยู่ด้วยกัน    เมื่อลูกแต่งงานก็มักจะเอาลูกสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้านด้วย 

               คล้ายๆกับสังคมภาคใต้ของประเทศยุโรปประเทศอื่นๆ เช่น  อิตาลี  สเปน  โปรตุเกส  และ   ตุรกี 

               คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะมีเงินสะสม  คล้ายๆกับเงินนอกระบบ  และในวิกฤติของกรีซคราวนี้   ก็ได้ช่วยเข้ามาช่วยผ่อนหนักเป็นเบาในการรับมือกับเศรษฐกิจได้อย่างดีทีเดียว 

               เราจึงเห็นคนกรีกออกมาประท้วงเพียงแค่วันเดียว แล้วก็เงียบหายไป    หากเขาเดือดร้อนแสนสาหัสจริงๆ   ประชาชนจะต้องออกมามากกว่านี้

               ตอนนี้ก็มาถึงปัญหาว่า   รัฐบาลกรีซจะสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปจ่ายคืนเงินกู้ให้แก่ต่างประเทศได้หรือไม่   

               ปัญหาของกรีซในขณะนี้ก็คือ  คนว่างงาน  โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งประเมินกันว่ามีมากถึง 30 -40 เปอร์เซ็นต์   คนเหล่านี้เมื่อหางานในประเทศตนเองทำไม่ได้   ก็จะออกไปทำงานในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ

               เราจึงพบเห็นชาวกรีกทำงานในประเทศยุโรปมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็น  ออสเตรีย  สวิสฯ  เยอรมัน  หรือ อาจจะไปไกลถึง สแกนดิเนเวีย ด้วยซ้ำ 

               ภาษีมูลค่าเพิ่มที่อียูเพิ่มเพดานขึ้นมา   หวังจะเก็บรายได้ให้มากกว่าเดิม    เอาเข้าจริงแล้ว   จะเก็บได้ตามที่ตั้งเป้าหรือไม่   เพราะจำนวนประชากรในประเทศกรีซลดน้อยลง 

               ยังไม่พูดถึง  ประชากรชาวกรีกที่อยู่ในประเทศ  มีกำลังซื้อลดลงด้วยซ้ำ 

               เมื่อค่าครองชีพในประเทศกรีซสูงขึ้น  รายรับน้อยลง  แล้วจะมีเงินที่ไหนไปจับจ่าย และ เสียภาษี 

               คนหนุ่มสาวที่ยังทำงานได้   แต่ต้องไปหางานทำในต่างประเทศ  ก็เท่ากับไปช่วยจ่ายภาษี VAT และ ภาษีอื่นๆให้กับประเทศต่างๆในยุโรป    ทำไปทำมา  ประเทศกรีซอาจจะแย่หนักเข้าไปอีก 


(ธรรมชาติที่สวยงามของกรีซ  เป็นตัวสร้างรายได้สำคัญ)

               รายได้อย่างเดียวที่เป็นกอบเป็นกำของกรีซ ก็คือ การท่องเที่ยว  ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเพิ่มภาษีเหล่านี้เข้าไป  ราคาทัวร์ในกรีซก็น่าจะสูงขึ้น  จนอาจไม่อยู่ในสถานะที่จะแข่งขันกับเพื่อนบ้านในตลาดใกล้เคียงกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ตุรกี ซึ่งเป็นศัตรูยาวนาน

               สุดท้าย  ที่จะหนีไม่พ้นก็คือ  สินทรัพย์ที่เป็นของประเทศ   ไม่ว่าจะเป็น  ไฟฟ้า  ประปา  โทรศัพท์  รถไฟ  และสารพัด  ก็จะถูกพวก “สามพันธมิตร”เจ้าหนี้  ใช้อำนาจอันชอบธรรม เข้ามาบีบบังคับข่มขู่ให้รัฐบาลกรีซต้องเลหลังขายออกไปในราคาถูกๆให้แก่คนต่างชาติ 

               เพราะคนกรีกด้วยกันเองไม่มีเงินพอที่จะซื้อ 


(พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช)

               สุดท้าย  เจ้าของสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างกำไรแน่นอนในอนาคต  ก็จะตกเป็นของนอมินีรัฐบาลต่างชาติ  เช่น  สหรัฐอเมริกา  เยอรมัน  ฝรั่งเศส  อังกฤษ  อิสราเอล  ที่จะเข้ามาภายใต้หน้ากากของ  จีอี แคปปิตอล  , โกเลแมนแซค  และ อื่นๆ

               เหมือนกับที่เคยเกิดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540  ไม่มีผิด  

               หากมองในแง่ของกฎแห่งกรรม   กรีซ ตั้งแต่สมัยโบราณกว่า 2 พันปีที่แล้ว  เคยรุกรานชาติอื่นๆ   แล้วใช้ทหารที่เข้มแข็งกว่า ปล้นสะดมภ์ทรัพย์สินของชาติอื่นมาเป็นของตัวเอง  ไม่ว่าจะเป็น  เมืองทรอย    เมืองเอฟฟิซัส  เมืองเพอร์กามอน  อียิปต์  เปอร์เชีย  และ อินเดีย    


(เมืองเอฟฟิซัส ที่อยู่ชายฝั่งประเทศตุรกี  ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก )

(เมืองเอฟฟิซัส ที่เคยมีประชากรอยู่หลายแสนคน  มีโรงละครกลางแจ้งแบบนี้หลายแห่ง  และถนนตรงหน้านั้นก็มุ่งไปยังท่าเรือริมทะเล)

(แผนผังของเมืองเอฟฟิซัส โบราณ  ก่อนถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราชยึดครอง)

               วันนี้   จึงถูกแก้แค้นเอาคืน 

               มันเป็นเพราะวิบากกรรม  หรือ  เป็นเพราะภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ที่หล่อหลอมจนทำให้ชาวกรีก รักแต่ความสนุก  จนกลายเป็นหายนะในวันนี้    

               ขอให้โชคดีนะ  กรีซ   สวัสดี 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *