ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 กรกฎาคม 2558 )

ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สัปดาห์นี้  เป็นตอนที่ 104  ครบรอบ 2 ปีพอดีของคอลัมน์ “ซอกซอนตะลอนไป”  ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาโดยตลอดนะครับ   หากต้องการให้ผมเขียนเรื่องอะไร  ก็บอกมาได้นะครับ        

               สาเหตุที่นำประเทศกรีซไปสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจตามที่ผมได้พูดไปในตอนก่อนหน้านี้ก็คือ   การทุ่มเทในการซื้ออาวุธเพื่อมาต่อกรกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างตุรกี    และ  ความพยายามที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค  และได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในที่สุด    

               ซึ่งเปรียบเสมือนคนป่วยหนักที่รอวันฝีหนองในตัวระเบิดขึ้นมาเท่านั้นเอง 

ก้าวที่นำกรีกเข้าสู่หุบเหวแห่งหายนะอย่างแท้จริงก็คือ  การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรโซน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   การเข้าร่วมเป็นชาติหนึ่งที่ใช้เงินสกุลยูโร ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีค.ศ. 1999  หรือ ปีพ.ศ. 2542

เพราะการที่กรีซเข้าร่วมในการใช้เงินตราสกุลยูโร  มันเหมือนกับเอาทีมฟุตบอลระดับ อบต.  หรือ  ฟุตบอลโรงเรียนประจำจังหวัด  ไปร่วมแข่งขันกับทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ  และเล่นเกมส์ในกติกาที่พรีเมียร์ลีกกำหนด    มันไม่มีทางที่จะต่อกรกันได้เลย

นอกจากนี้   ด้วยสภาพของภูมิศาสตร์ที่กำหนดนิสัยใจคอของประชากร   ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้มักจะไม่ค่อยตรงไปตรงมาสักเท่าไหร่นัก    ประเภทถ้าฉวยโอกาสโกงได้  ก็จะโกง   


(จริยธรรมที่สูงส่งของชาวกรีกโบราณ   ไม่เหลือเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงลูกหลานชาวกรีกในวันนี้เลย)

ชาวกรีก ก็เช่นเดียวกัน  

อาจารย์สมชาย ภัคภาสน์วิวัฒน์  นักเศรษฐศาสตร์ผู้คร่ำหวอดในวงการ ได้เขียนเอาไว้ว่า  ถ้าพิจารณาคุณสมบัติตามความเป็นจริง   ประเทศกรีซ จะไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปได้เลย

กฎข้อหนึ่งของการเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซนก็คือ ประเทศนั้นๆจะต้องขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3 % ของ GDP   และมีหนี้สาธารณะไม่เกิน  60 % ของ GDP    แต่ประเทศกรีซก่อนเข้าร่วมยูโรโซน  ขาดดุลงบประมาณที่ 4.5 %   และ กรีซมีหนี้สาธารณะเกิน 100 % ของ GDP เข้าไปแล้ว  

ประเทศกรีซเล่นกลด้วยการเปลี่ยนตัวเลขขาดดุลงบประมาณ ลงมาเหลือแค่ 2.5 %  และ  แก้ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศมาเป็น  ไม่ถึง 60 % ของ GDP

ผมไม่แน่ใจว่า  การเล่นขี้โกงแบบนี้  จะเกิดขึ้นกับประเทศในภาคใต้ของยุโรปประเทศอื่นๆ  เช่น  อิตาลี   สเปน  โปรตุเกส  ด้วยหรือไม่ 

ต้องเรียกว่า  เป็นพฤติกรรมที่เห็นแก่ได้อย่างสิ้นเชิง   เพราะรัฐบาลของกรีซในยุคนั้นหวังจะได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของสหภาพยุโรปเพียงอย่างเดียว  โดยไม่สนว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อประเทศตัวเอง   เพราะข้อเท็จจริงก็คือ   กรีซคือคนพิการที่หลอกคนว่ายังวิ่งแข่ง 100 เมตรได้เท่านั้น 

ผลร้ายที่กระทบต่อชาวกรีซปรากฏให้เห็นทันทีเมื่อมีการประกาศใช้เงินสกุลยูโรแทนที่เงินตราสกุลท้องถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1999   


(เงินสกุลดรั๊กมา ของกรีซ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ยูโร)

บังเอิญผมมีโอกาเดินทางไปในหลายประเทศทางใต้ของยุโรป  เช่น   สเปน   กรีซ   อิตาลี ทั้งก่อนหน้า และ หลังจากประกาศใช้เงินยูโรแล้ว   

สิ่งที่ได้รับการบอกเล่าจากไกด์ท้องถิ่นเหมือนกันก็คือ   ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างน่ากลัว   ยกตัวอย่างเช่น  ราคาของมะเขือเทศ ซึ่งคนทางภาคใต้ของยุโรปใช้ในการปรุงอาหารมากนั้น   มีราคาสูงขึ้น 3 เท่าตัว

ท่านผู้อ่านอาจจะงงว่า   รู้ได้อย่างไรว่า  ราคามะเขือเทศเป็นยูโรสูงขึ้นกว่าราคามะเขือเทศเป็นสกุลท้องถิ่น เช่น  ดรั๊กมา ของกรีซ , เปเซตา ของสเปน  หรือ ลีร์ ของอิตาลี 

ขอเล่าให้ฟังว่า  ในตอนที่แต่ละประเทศจะเริ่มเอาเงินยูโรเข้ามาใช้ในตลาด  รัฐบาลจะต้องเก็บเงินสกุลท้องถิ่นออกไปจากตลาดให้หมด   วิธีการเก็บก็คือ  การให้ประชาชนนำเงินท้องถิ่นมาแลกกับเงินสกุลยูโรที่ธนาคาร 

การแลกเงินดังกล่าว  รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินท้องถิ่น  กับเงินยูโรว่า   อยู่ที่อัตราเท่าไหร่ 

ด้วยเหตุนี้   ประชาชนชาวกรีก หรือ ประเทศอื่นๆของยุโรป ก็จะรู้ว่า  เงิน 1 ยูโรเทียบเท่ากับกี่ดรั๊กมา  หรือ กี่เปเซต้า   สมมติว่า  เงิน  3  ดรั๊กมา สามารถแลกได้ 1 ยูโร  

หาก 1 ดรั๊กมาสามารถซื้อมะเขือเทศได้ 1 กิโลกรัม    แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเงินสกุลยูโร ปรากฏว่า  มะเขือเทศ 1 กิโลกรัมราคา 1 ยูโร  ชาวกรีกก็จะเห็นว่า   ราคาของแพงขึ้นอย่างเห็นๆถึง 3 เท่าตัว

ประเทศที่สบายที่สุดก็เห็นจะเป็น  เยอรมัน  และ  ฝรั่งเศส  ที่ค่าเงินเข้มแข็งกว่าประเทศในภาคใต้ของยุโรป 

แค่เริ่มเข้าแท่นสตาร์ทก็เห็นแล้วว่า   ใครได้เปรียบกว่ากัน 


(ลูกหลานของชาวกรีซในวันก่อนที่โกหกทุกอย่าง   เพื่อให้ได้เข้าร่วมกลุ่มสหภาพยุโรป   โดยหารู้ไม่ว่า  นั่นคือบันไดไปสู่หายนะ)  (ภาพจากสำนักข่าวเอเอฟพี)

กรีซ  และ  ประเทศในภาคใต้ของยุโรปพลาดอย่างหนักที่เข้าไปเล่นเกมส์ที่ประเทศยุโรปเหนือกำหนดให้เล่น   ทั้งๆที่ตัวเองไม่มีศักยภาพในการต่อสู้  หรือแข่งขันเลย    ผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็น


(แม้แต่เทพี อเธน่า  ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ   ก็ไม่อาจช่วยอะไรชาวกรีกได้เลย)  

แล้วกรีซจะฟื้นตัวได้หรือไม่   พบกับสัปดาห์หน้าครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *