ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (17 กรกฎาคม 2558 )

ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               กีฬาโอลิมปิคสมัยใหม่ครั้งที่ 28 ที่ประเทศกรีซในปีค.ศ. 2004 หรือ ปีพ.ศ. 2547   ถือเป็นโอกาสดีของกรีซที่จะทำรายได้จำนวนมหาศาลเข้าประเทศ  หลังจากได้ทุ่มทุนจำนวนมากลงไปก่อนหน้านั้น

               แต่กรีซ ก็เสียโอกาสครั้งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย 

               ประการแรก   สายการบินโอลิมปิค แอร์เวย์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ มีรัฐบาลเป็นเจ้าของประสบปัญหาขาดทุน  ทำให้ต้องยกเลิกการบินในหลายๆประเทศ  รวมทั้งประเทศไทยด้วยตั้งแต่ก่อนหน้าปีค.ศ.2004 

               เมื่อรู้ล่วงหน้าว่าจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค ในปีค.ศ. 2004 เป็นเวลาอย่างน้อยที่สุดก็ 4 ปี   แทนที่รัฐบาลจะหาหนทางขยายเที่ยวบินเข้าประเทศในปริมาณที่มากขึ้น  ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม   แต่รัฐบาลกรีซในยุคนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรเลย  

               คนทั้งประเทศคงจะมัวหลงระเริงดีอกดีใจที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคเสียเพลิน  โดยไม่ได้คิดถึงความคุ้มค่าทางการลงทุน  ซึ่งมักจะเป็นวิธีคิดของผู้คนในภาคใต้ ที่คิดแต่จะเอาสนุกไปวันๆ  ที่แตกต่างจากคนในภาคเหนือ   


(ผมพบภาพนี้ในเฟซบุ๊ค  ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อนะครับ  เพื่อสะท้อนภาพของความแตกต่างของทั้งสองชาติเมื่อ 2500 ปีที่แล้ว   ซึ่งในวันนี้   คงต้องสลับรูปกันแล้ว) 

               ดังนั้น   สายการบินที่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ประเทศกรีซเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค ในครั้งนี้ก็คือสายการบินของชาติอื่นๆ   รวมทั้งสายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์  ที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตของกรีซด้วย    

               ซ้ำร้าย ความพร้อมของบรรดาโรงแรมที่พักที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกก็ไม่เพียงพอ  

               แต่ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้   เป็นประสบการณ์ตรงกับสถานทูตกรีซประจำประเทศไทย ที่สะท้อนการทำงานที่แสนจะโง่เขลาเบาปัญญาอย่างยิ่ง ของหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลกรีซ  ที่ไม่ได้มีการประสานงานกันเลย 


(นี่คือสภาพของสนามกีฬาที่กรีซลงทุนสร้างเพื่อใช้ในกีฬาโอลิมปิค   เมื่อกีฬาจบแล้ว  ก็อยู่ในสภาพทิ้งร้าง  หาประโยชน์อะไรไม่ได้ ขาดทุนอย่างย่อยยับ   ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับหลายๆชาติที่เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค)

               โดยปกติ   สถานทูตกรีซประจำประเทศไทยก็ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามอยู่แล้ว   แต่เมื่อถึงช่วงเวลาของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรีซเป็นเจ้าภาพ   การทำงานของสถานทูตกรีซประจำประเทศไทยกลับแย่ลงไปกว่าเดิมเสียอีก

               กล่าวคือ   ในช่วงเวลาธรรมดา   การขอวีซ่าก็ต้องแสดงพาสปอร์ตที่มีอายุใช้งานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป   ภาพถ่าย  เอกสารการเงิน  เอกสารการทำงาน  เป็นต้น

               แต่คราวนี้   สถานทูตกรีซมาแปลกไปอีก  กล่าวคือ   ผู้ยื่นขอวีซ่ากับสถานทูตกรีซประจำประเทศไทย เพื่อจะไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคครั้งนี้  จะต้องไปขอเอกสารรับรองจากสำนักงานตำรวจสันติบาลเสียก่อน  เพื่อยืนยันว่ามีประวัติที่สะอาด

               สอบถามไปทางสถานทูตว่า   ทำไมต้องใช้เอกสารดังกล่าวด้วย    ได้รับคำตอบว่า

               สถานทูตกรีซต้องการสกัดกั้นไม่ให้พวกผู้ก่อการร้ายเดินทางเข้าประเทศกรีซในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคครั้งนี้

               เป็นคำตอบที่เรียกว่า   โง่มาก


(เหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2004 ที่ประเทศกรีซ  ที่กรีซ ต้องใช้ชะตาชีวิตของประชาชน เป็นเครื่องซับน้ำตาต่อหายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดจากกีฬาโอลิมปิคครั้งนี้ด้วย)

               เพราะในปีค.ศ. 2004  เป็นปีที่สหภาพยุโรปใช้วีซ่าแบบเชนเก้นแล้ว   หมายความว่า   ใครก็ตามที่มีวีซ่าเข้าประเทศยุโรปที่เป็นสมาชิกของวีซ่าเชนเก้น   ย่อมสามารถเดินทางไปสู่ประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิกวีซ่าเชนเก้นของยุโรปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าใหม่


(บรรดาชาติต่างๆที่ใช้วีซ่าเชนเก้นในปัจจุบันนี้)

               ในกรณีนี้   หากคนไทยต้องการจะเดินทางเข้าประเทศกรีซ   แต่ไม่ต้องการจะไปขอใบรับรองจากตำรวจสันติบาล   ก็ไปยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกของวีซ่าเชนเก้นแทนซะ   ก็สามารถบินเข้าประเทศกรีซได้ในภายหลัง   

               สมาชิกของวีซ่าเช่นเก้นในปีค.ศ. 2004 ก็อาทิ  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  อิตาลี  สเปน  ออสเตรีย  เป็นต้น 

               สมมติว่า   มีคนไทยบางคน ที่เป็นพวกผู้ก่อการร้ายจะเดินทางเข้าไปก่อการร้ายในประเทศกรีซ   ก็อย่าไปขอวีซ่ากับประเทศกรีซ  แค่นี้ก็สิ้นเรื่อง

               จึงทำให้นักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวที่บริษัทห้างร้านต้องการจะเชิญไปเที่ยวชมกีฬาโอลิมปิคที่ประเทศกรีซ  ด้วยเหตุผลที่สามารถทำยอดขายสินค้าถึงเป้า   จำต้องยกเลิกแผนการไปเที่ยวประเทศกรีซ  แล้วเลือกไปเที่ยวประเทศยุโรปอื่นๆแทน 


(การต่อสู้ของประชาชนชาวกรีกต่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในวันนี้  เป็นเรื่องน่าเห็นใจมาก  โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องร่วมรับเคราะห์กรรมที่คนรุ่นก่อนได้ก่อเอาไว้  โดยที่ตัวเองไม่รู้เรื่องเลย)

               รายได้ที่จะเข้าประเทศไม่ว่าจะเป็นค่าโรงแรม   ค่าอาหาร  ค่ารถรับส่ง  ค่าบัตรผ่านประตู ที่กรีซควรจะต้องได้   ก็เลยลดน้อยถอยลง   ซ้ำเงินค่าธรรมเนียนในการขอวีซ่าคนละประมาณ 3000 บาทที่สถานทูตจะได้รับ   ก็ไม่ได้ 

               นี่แหละครับ   การทำงานแบบคนกรีก    แล้วจะไม่ให้ประเทศฉิบหายทางเศรษฐกิจได้ยังไง 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *