ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 กรกฎาคม 2558 )

ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

หายนะทางเศรษฐกิจของประเทศกรีซ ชุดที่สองที่ตามหลังการใช้จ่ายเงินที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต  ด้วยการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลลงไปในการซื้ออาวุธ  ก็คือแนวคิด  “เห็นช้างขี้  อยากขี้ตามช้าง” 

เป็นที่ทราบกันดีว่า  ชาวกรีซโบราณเป็นผู้ให้กำเนิด “กีฬาโอลิมเปียด” ขึ้นมา  ซึ่งถูกยกเลิกไปในภายหลังเมื่อศาสนาคริสต์เริ่มมีอิทธิพลในโลกเมดิเตอร์เรเนียน 

สาเหตุของการยกเลิกกีฬาโอลิมเปียด    ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป


(พิธีจุดไฟคบเพลิงอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการจุดไฟจากแสงอาทิตย์ที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ)

(จากนั้น  ไฟดังกล่าวก็ถูกส่งต่อไปยังประเทศที่เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค)

(ในอดีต  เคยมีวิหารขนาดใหญ่ของกรีกโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพซุส ในเมืองโอลิมเปีย  ซึ่งเป็นที่มาของกีฬาโอลิมเปียดโบราณด้วย)

(การแข่งกีฬาโอลิมเปียดในสมัยโบราณ  ผู้แข่งขันซึ่งเป็นผู้ชายเท่านั้น จะต้องเปลือยกายทั้งหมด  ดังนั้น  จึงห้ามผู้หญิงเข้าชมโดยเด็ดขาด  ใครฝ่าฝืนมีโทษ)

หลังจาก กีฬาโอลิมเปียด เงียบหายไปจากโลกเป็นเวลาพันกว่าปี  จนกระทั่งปีค.ศ. 1896 จึงได้มีการรื้อฟื้นการแข่งขันกีฬาโอลิมเปียดโบราณขึ้นมาใหม่   แล้วเรียกชื่อว่า  กีฬาโอลิมปิค


(สนใจอ่านเรื่องราวของประเทศกรีซโบราณ และ ความเป็นมาของกีฬาโอลิมเปียด  สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเว เอเยนซี่ โทร 02 651 6900)

หลังจากนั้น  ก็มีการจัดการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ทุกๆ 4 ปี  โดยหมุนเวียนไปจัดในประเทศต่างๆตามแต่ประเทศใดจะเสนอตัว  และ ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมของคณะกรรมการโอลิมปิดสากล

กีฬาโอลิมปิค หมุนเวียนไปจัดในประเทศต่างๆ จนมาถึงปีค.ศ. 1996 หรือ ปีพ.ศ. 2539  อันเป็นกีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 26

ประเทศกรีซ คิดว่า  กีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 26 จะเป็นวาระของการครบรอบ 100 ปีของกีฬาโอลิมปิคสมัยใหม่  และคิดว่า   ตัวเองสมควรจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ 

โดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

อย่าลืมว่า   การขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคนั้น   จะต้องทำกันล่วงหน้าอย่างน้อย 8 ถึง 12 ปีก่อนปีการแข่งขัน   นั่นหมายความว่า  กรีซต้องเสนอตัวเข้าแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 หรือ ปีค.ศ. 1986

การเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคนั้น  ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล  และเป็นงบประมาณประเภทสูญเปล่า    เพราะหากไม่ได้รับการคัดเลือก   เงินทุนที่ลงไปก็จะละลายหายวับไปกับตา


(ความฝันเฟื่องอยู่กับประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของกรีก ก็คือ  อยากจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในโอกาสครบรอบ 100 ปีในสนามเดียวกันกับที่เคยใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคสมัยใหม่ครั้งที่ 1 ในปีค.ศ.1896)

ด้วยความไม่พร้อม(จริงๆ)ของประเทศกรีซ   จึงทำให้เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 26 ตกไปเป็นของเมืองแอตแลนตา  ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลายปีก่อนกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 26   ผมบังเอิญมีโอกาสนำคณะทัวร์ของบริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ไปเที่ยวประเทศกรีซบ่อยครั้งมาก   ก็ยังรู้สึกแปลกใจไม่ได้ว่า   ประเทศกรีซเอาอะไรไปต่อสู้ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค 

ในขณะนั้น   โรงแรมของกรีซมีจำนวนไม่มากนัก   ยิ่งในระดับ 5 ดาวแทบจะนับโรงแรมได้  ซ้ำโรงแรมระดับห้าดาวในกรุงเอเธนส์   หากเทียบกับโรงแรมในมาตรฐานเดียวกัน และ ในราคาที่ใกล้เคียงกัน   โรงแรมในประเทศกรีซถือว่า   แย่ที่สุดในยุโรป

การจราจรในเอเธนส์ก็แย่สุดๆ   รถติดกันแทบไม่ขยับ   

ซ้ำสนามที่จำเป็นต้องใช้ในการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆก็ยังไม่พร้อม  หรือ  ยังไม่มี   แทบจะต้องสร้างขึ้นมาใหม่หมด 

นั่นหมายถึง  ต้องลงทุนด้วยเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล  ซึ่งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า   รายได้จากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 26 นี้  จะมากน้อยแค่ไหน  และคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่

แต่ความหน้าใหญ่ของกรีซ  ก็ทำให้หน้ามืดตามัวเดินหน้าต่อไป   

ในที่สุด   หลังจากพลาดหวังการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค ปี ค.ศ. 1996  ประเทศกรีซยังคงเสนอตัวชิงการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคครั้งต่อไป คือ โอลิมปิคประจำปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นครั้งที่ 27   


(สัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิคปี 2004 ที่ประเทศกรีซ เป็นเจ้าภาพ)

แต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย 

กรีซยังไม่ยอมแพ้   เสนอตัวเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปอีก  จนในที่สุดก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคประจำปี ค.ศ. 2004  ซึ่งเป็นครั้งที่ 28    

ลองหลับตานึกภาพดูนะครับว่า   กรีซ ต้องหมดเงินเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำประชาสัมพันธ์   ค่าใช้จ่ายในการทำพรีเซนต์เทชั่น   ค่าใช้จ่ายในการล็อบบี้ประเทศสมาชิกอื่นๆ   และ อีกสารพัดที่จะต้องทำตามเงื่อนไขของคณะกรรมการโอลิมปิคสากล   

การได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ประจำปี ค.ศ. 2004 ของกรีซนั้น    กรีซต้องดิ้นรนต่อสู้แข่งขันมาไม่น้อยกว่า 12 ปี   เป็น 12 ปีที่ถลุงเงินงบประมาณของประเทศจำนวนมหาศาล


(ภาพของเดือนกรกฎาคม 2558  ชายวัยเกษียณอายุร้องไห้หน้าธนาคาร เมื่อไม่สามารถเบิกเงินบำนาญ ซึ่งลดลงอย่างมากจนไม่อาจดำรงชีพของตนเองได้   เพราะรัฐบาลถังแตก  ไม่มีเงินจ่าย)

ชาวกรีซ ต่างก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจกันทั้งประเทศ  เพราะเหมือนกับว่า  วันเวลาแห่งความรุ่งเรืองในอดีตกาวที่ยาวนานกว่า 2 พันปีที่แล้ว  ได้กลับมาลุกโชติช่วงชัชวาลอีกครั้ง     โดยหารู้ไม่ว่า  ประเทศกำลังก้าวเท้าเข้าไปหาหลุมดำแห่งหายนะที่รออยู่เบื้องหน้า 

ทั้งนี้ทั้งนั้น   เพราะความโง่เขลา  ความหยิ่งยะโส  ความขี้เกียจ ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐทุกหน่วย เป็นตัวทำให้โอกาสที่ประชาชนทุกคนรอคอย ด้วยความตื่นเต้นดีใจที่จะได้เฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ และ รุ่งเรืองของชาวกรีซในอดีต   กลายเป็นโอกาสที่จะต้องจัดงานศพของประเทศในเวลาต่อมา 

ในบทต่อไป  ผมจะเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้กีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ 28 กลายเป็นหายนะของชาติกรีก  ก่อนที่จะมาถึงการตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถจ่ายเงินกู้คืนให้แก่เจ้าหนี้ได้ในวันนี้

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *