ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 กรกฎาคม 2558 )

ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

อาจเป็นเพราะภาคใต้ของยุโรปมีพื้นที่ติดทะเลมาก  และอากาศอบอุ่นกว่าภาคเหนือ  จึงทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการกินอยู่มากเท่ากับคนทางตอนเหนือที่อากาศโหดร้ายกว่า 

นานเข้าก็เลยติดนิสัยขี้เกียจ   ไม่อยากคิดไม่อยากทำอะไรที่มันยากๆ  ชอบทำอะไรที่ง่ายเข้าว่า  และบางเรื่องอาจจะดูโง่ด้วยซ้ำ


(แผนที่ประเทศกรีซ มีทะเลล้อมรอบแทบทุกด้าน และมีเกาะที่อยู่ภายใต้การครอบครองหลายพันเกาะ)

เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว   ตอนผมพาคณะนักท่องเที่ยวของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  เดินทางไปเที่ยวประเทศกรีซ  เราออกไปเที่ยวตามเมืองเล็กที่ห่างจากเอเธนส์  เช่น  โอลิมเปีย และ สปาร์ต้า   ก็พบว่า  โรงแรมตามเมืองเล็กๆเหล่านี้  มีปัญหาเรื่องแรงงานมากโขอยู่   โดยเฉพาะแรงงานผู้ชาย  

เจ้าหน้าที่ขนกระเป๋าตามโรงแรมเป็นผู้หญิงทั้งหมด  จากเครื่องแต่งกายของเธอพอจะเดาได้ว่า  หน้าที่หลักของเธอคงจะเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องพัก  และ แม่ครัว   แต่ละคนยกกระเป๋าด้วยความแข็งแกร่งไม่แพ้ผู้ชาย 

แล้วผู้ชายไปไหนหมด

ผู้ชายชาวกรีกมักจะสุมหัวกันอยู่ในร้านกาแฟ เพื่อดื่มน้ำชากาแฟสังสรรค์พูดคุยกันในหมู่เพื่อนฝูง   ปล่อยให้ผู้หญิงทำงานกันไป 

ทั้งนี้อาจจะเป็นนิสัยที่ถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน   เพราะชาวกรีกโบราณเป็นนักคิด  นักปรัชญา  นักพูด  และ  เป็นนักรบด้วย      แต่จะเก่งหรือ  เป็นเรื่องที่พูดยาก       


(ในอดีต  ชาวกรีกมีชื่อเสียงในเรื่องการเป็นนักรบ  เคยไปเป็นนักรบรับจ้างในอียิปต์โบราณด้วยซ้ำ) 

และอาจเป็นเพราะธรรมชาติที่สบายเกินไป  ที่เป็นตัวบั่นทอนความกระตือรือร้นของผู้คนในภูมิภาคนี้ให้เฉื่อยชา   เพราะถึงจะไม่ดิ้นรนก็ไม่อดตาย  คล้ายๆกับประเทศไทยที่เราบอกว่า   เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ  แม้แต่หมาก็ไม่อดตาย   


(ปฎิเสธไม่ได้ว่า  กรีซ เป็นประเทศที่มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม  และน่าสบายมากที่สุดชาติหนึ่งของยุโรป) 

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป   ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไป  ใครที่ตามไม่ทันก็ตกขบวนรถ กลายเป็นชาติล้าหลังไปในที่สุด 

หายนะของประเทศกรีซ ถูกบ่มเพาะมาเป็นเวลาช้านาน  แต่ฝีเพิ่งจะมาแตกเอาในช่วงนี้   ผมจะค่อยๆลำดับความทีละเรื่องนะครับ  

ทั้งนี้ทั้งนั้น  หายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในวันนี้  ก็ด้วยฝีมือของพี่น้องชาวกรีก  ที่เรียกกันว่า เฮลลาส(HELLAS) นั่นเอง   จะไปโทษใครไม่ได้เลย

เมื่อประมาณ 30 -40 ปีที่แล้ว   กรีซ และ ตุรกี  ต่างก็เป็นคู่อริกันอย่างแรง  ชนิดที่เรียกว่า  ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ    เพราะตุรกีในอดีต ในขณะที่ยังเป็นอาณาจักรออตโตมาน(OTTOMAN EMPIRE)ที่ยิ่งใหญ่  ได้เคยยึดครองประเทศกรีซมาก่อน  

วิหารพาร์เธนอน ที่มีหลังคาทำด้วยหินอ่อนเสียหายยับ  ก็เป็นฝีมือของพวกตุรกีนั่นเอง


(ความเสียหายของวิหารพาร์เธนอน  เป็นผลจากการทำสงครามกับตุรกี  วันนี้ไม่ทราบว่าซ่อมหลังคาเสร็จหรือยัง)

ความขัดแย้งบนเกาะไซปรัส  ก็เป็นผลมาแต่ความเป็นคู่อริมาตั้งแต่อดีต  ซึ่งพักนี้ดูเหมือนจะเงียบสงบลงบ้างแล้ว

ความขัดแย้งที่รุนแรงนี้  ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันตามแนวชาวแดนของทั้งสองประเทศมาตลอด    โดยหาข้อสรุปไม่ได้


(พ๊อคเก็ตบุ๊คที่ผมเขียนเรื่อง  อียิปต์-กรีซ –ตุรกี  ติดต่อซื้อได้ที่ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  โทร 02 651 6900)

ความขัดแย้งดังกล่าว   มีทั้งกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย  จนกระทั่งการปะทะกันด้วยอาวุธและมีผู้เสียชีวิตด้วย   จึงทำให้ทั้งสองประเทศต้องจัดหาอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูงๆเอามาไว้ในครอบครอง

ทำให้เมื่อประมาณ 15 – 20 ปีที่แล้ว  กรีซเป็นประเทศที่ใช้จ่ายเงินในเรื่องอาวุธมากที่สุดเป็นอันดับ หนึ่ง หรือ สองของโลก  ใกล้เคียงกับตุรกี 

กรีซ และ ตุรกี ก็เลยจนลงๆ  ชาติที่ผลิตอาวุธขายก็รวยเอาๆ 

ความบาดหมางดังกล่าวต่อเนื่องกันมาไม่หยุด   จนเมื่อกรีซเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มอียูในรุ่นแรกๆ  ก็พยายามกีดกันไม่ให้ตุรกีเข้าเป็นสมาชิกของอียูด้วยตลอดเวลา 

ทุกครั้งที่มีวาระการลงมติว่า   จะรับตุรกีเข้าเป็นสมาชิกของอียูหรือไม่   ประเทศกรีซ เป็นต้องใช้สิทธิในการเป็นสมาชิกอียู ออกเสียงคัดค้านทุกครั้งไป   มิใยว่าตุรกีพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองตามเงื่อนไขของอียูโดยตลอด  โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นภาษีต่างๆ  จนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของตุรกีจนทุกวันนี้ 

แต่จนแล้วจนรอด   ตุรกีก็ยังไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของอียูได้ 

ถ้าวันนี้  ลองถามคนตุรกีว่า   ดีใจหรือเสียใจที่ประเทศไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของอียู   ก็ไม่แน่ว่า   ชาวตุรกีอาจจะดีใจ  แทนเสียใจก็เป็นได้ 

และแอบสมน้ำหน้ากรีซอยู่ในใจ   

ขณะเขียนบทความนี้   กรีซ เป็นประเทศที่ล้มเหลวในการจ่ายหนี้ที่ต้องชำระตามเส้นตายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558ไปเรียบร้อยแล้ว   แต่ก็ยังยื้อต่อขอให้ประชาชนลงประชามติว่า   จะยอมรับเงื่อนไขต่างๆจากเจ้าหนี้ที่บังคับให้รัดเข็มขัดในวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 ต่ออีกเฮือกหนึ่ง  

ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร  ตอนหน้าเราจะมาว่ากันต่อเรื่องสาเหตุของการล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศกรีซกันต่อ    สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *