ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 มิถุนายน 2558 )

ว่าด้วย ภูมิ-เศรษฐศาสตร์ ของ กรีซ(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สิ้นเดือนมิถุนายน 2558  จะเป็นวันชี้ชะตาชาวกรีก ลูกหลานพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ว่าจะล่มสลายทางเศรษฐกิจหรือไม่   หากไม่ทำตามเงื่อนไงของเจ้าหนี้มากหน้าหลายตา เช่น กลุ่มยูโร  และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่บีบคั้นให้รัฐบาลกรีซต้องหันคมมีดกลับไปเชือดคอคนในชาติของตนเอง 

               วันนี้  ผมขอนำเรื่องของประเทศกรีซ มาพูดกัน  แต่จะพูดถึงในแง่มุมของ ภูมิเศรษฐศาสตร์  ที่อาจจะมีผลในการหล่อหลอมอุปนิสัยใจของคนที่อยู่ในภูมิภาคนั้นๆ  จนนำไปสู่วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน  

               ว่ากันว่า   สภาพภูมิประเทศ และ ภูมิอากาศ ของแต่ละประเทศ  จะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต  อุปนิสัยใจคอ  และ วิธีการคิดของผู้คนในประเทศนั้นๆ

               ส่วนใหญ่มักจะแยกภูมิศาสตร์ที่กำหนดบุคลิกลักษณะของผู้คนด้วย  ภาคเหนือ  และ ภาคใต้กัน 


(แผนที่ยุโรป)

               กล่าวคือ  ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศหนึ่ง มักจะมีแนวโน้มเป็นคนที่จริงจัง  คิดในกรอบ  ดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบ   ขยันขันแข็ง   ตรงไปตรงมา 

ในขณะที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศหนึ่ง  มักจะมีแนวโน้มเป็นคนไม่ค่อยจริงจัง  หรืออาจจะออกไปในทางเหยาะแหยะด้วยซ้ำ  คนในภาคใต้มักจะมีอิสระทางความคิดมากกว่า  ไม่ชอบคิดในกรอบจนบางครั้งจะออกไปในทางมีเล่ห์เหลี่ยม มีลูกเล่น   คนภาคใต้มีแนวโน้มที่จะดำเนินชีวิตอย่างสนุกสนาน  ไม่คิดมาก   ใช้ชีวิตเหมือนกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย  จนออกไปในทางประมาทเลินเล่อ 

คนในภาคใต้มีแนวโน้มจะเป็นคนเห็นแก่สบาย  ไม่ค่อยขยัน  จนออกไปในทางขี้เกียจด้วยซ้ำ   และคนในภาคใต้มักจะไม่ค่อยตรงไปตรงมา   หลบได้เป็นหลบ  โกงได้เป็นโกง   โกหกได้เป็นโกหก 

ต้องย้ำนะครับว่า  ที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่า  ทุกคนจะต้องเป็นแบบนี้  แต่เป็นแนวโน้มที่มีโอกาสสูงมาก

ยกตัวอย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ประชากรในภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมเยอรมัน  จะมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างเคร่งครัดระเบียบวินัย  มากกว่าประชากรที่อยู่ทางใต้ซึ่งส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมอิตาเลี่ยน

ดูได้จากนิสัยการขับรถ   คนสวิสฯทางเหนือจะเคารพกฎจราจรมาก  แค่เห็นคนยืนอยู่ริมฟุตบาท  คนขับรถก็ต้องรีบจอดรถทันทีให้คนเดินข้ามถนน 

บ่อยครั้งที่ผมเดินเล่นไปตามถนนในเมืองทางเหนือของสวิสฯ  เห็นวิวสวยๆก็หยุดยืนบนฟุตบาทมองดูด้วยความชื่นชม   รถยนต์ที่วิ่งไปวิ่งมาจอดกันเป็นแถว  นึกว่าผมจะข้ามถนน

นอกจากนี้   เขายังไม่นิยมบีบแตรรถยนต์  ยกเว้นกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน  หรือ  เป็นขบวนแต่งงานของคู่บ่าวสาวที่ออกจากโบสถ์เท่านั้น  

แต่พอไปถึงทางใต้ของสวิสฯ  แถบเมืองลูกาโน่   ต่อให้เราก้าวลงไปยืนบนพื้นถนนด้วยซ้ำ   คนขับรถยนต์ยังไม่ยอมจอดให้เลย   ประหนึ่งว่า  ไม่ชนก็บุญเท่าไหร่แล้ว 

ซ้ำบางทียังบีบแตรด่าคนเดินถนนเสียอีก  

เป็นสิ่งที่ชาวสวิสฯเองก็ยอมรับในเรื่องมาตรฐานของคนในชาติที่แตกต่างกันอย่างมากเช่นนี้

เมื่อมองภาพโดยรวมของยุโรป   วิถีชีวิตของประชากรของยุโรปเหนือ ไม่ว่าจะเป็น นอร์เวย์  สวีเดน เดนมาร์ก  เยอรมัน เบลเยี่ยม  เนเธอร์แลนด์ ฯ  จะแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจากวิถีชีวิตของประชากรในประเทศยุโรปใต้ เช่น  สเปน , โปรตุเกส  , อิตาลี  และ กรีซ  ทั้งๆที่ต่างก็เป็นยุโรปเหมือนกัน 

คนทางภาคใต้จะใช้ชีวิตแบบประมาท  ใช้ชีวิตเหมือนต้องตายวันพรุ่งนี้  เช่น   คนสเปนที่ดื่มกินจนดึกดื่นบางทีก็สว่าง   จนต้องมีเวลาพักผ่อนนอนตอนกลางวันที่เรียกว่า “เซียสต้า” (SIESTA)

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว  ตอนที่ต่างชาติเริ่มเข้าไปลงทุนในสเปน  บริษัทเหล่านี้ประสบปัญหาการจ้างงานชาวสเปนอย่างมาก  สาเหตุไม่ใช่เพราะให้เงินเดือนน้อย  แต่ปัญหาก็คือ   นายจ้างไม่ยอมให้มีการนอนกลางวัน  ก็เลยลาออกซะงั้น

เช่นเดียวกันกับ อิตาลี   โปรตุเกส  และ กรีซ

ผิดกันกับผู้คนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของยุโรป   ที่นอกจากต้องดิ้นรนต่อสู้กับมนุษย์ด้วยกันเองแล้ว   ยังต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติอันแสนจะทารุณโหดร้ายในฤดูหนาวอีกด้วย

ผมเขียนเอาไว้ในไกด์บุ๊ค เล่ม ที่ 4 ที่ชื่อ  “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม กับเสรษฐวิทย์” ตอน สวิตเซอร์แลนด์  พูดถึงชาวสวิสฯโบราณในยุคเมื่อประมาณ 2000 ปีที่แล้วว่า   


(หนังสือ “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม กับ เสรษฐวิทย์” แล่ม 4 “สวิตเซอร์แลนด์”  ติดต่อซื้อได้ที่ 02 651 6900)

ชาวสวิสฯ เป็นเชื้อสายของชนเผ่าเฮลเวติ(HELVETII)  อาศัยอยู่ในหุบเขาที่กันดาร  และ ยากลำบากมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว   บางปีที่อากาศหนาวยาวนานกว่าปกติ  ก็ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชอาหารได้เพียงพอ  ชีวิตจึงต้องเผชิญกับการอดอยากปากแห้ง  จนถึงอดตาย    

ดังนั้น  ประมาณปี 58 ก่อนคริสตกาล  ชาวเฮลเวติจึงอพยพจากถิ่นฐานบ้านเดิมไปทางตะวันตก ไปหาดินแดนที่อุดมสมบูรณ์กว่าที่เรียกว่า กอล(GAUL) ซึ่งก็คือ ประเทศฝรั่งเศสโดยประมาณ   

แต่พื้นที่แถบนี้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของพวกโรมัน โดยจูเลียส ซีซาร์(JULIUS CAESAR) ซึ่งไม่ต้องการให้ชาวเฮลเวติ อพยพเดินทางเข้าไปในภาคตะวันตก   เพราะจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสาธารณรัฐโรมัน  เนื่องจากจำนวนของผู้อพยพนั้นมีมากเกือบ 5 แสนคน

จูเลียส ซีซาร์  นำทหารไปสกัดชาวเฮลเวติ ที่ริมทะเลสาบเจนีวา ใกล้เทือกเขาจูรา(JURA) ไม่ให้เดินทางต่อไปยังดินแดนกอล  และบังคับให้เดินทางกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเดิมทันที  


(แผนที่สวิตเซอร์แลนด์  ทางใต้ของทะเลสาบเจนีวา เป็นบริเวณที่เกิดสงคราม)

แต่ชาวเฮลเวติ ซึ่งมีทั้งผู้ชาย  ผู้หญิง  คนหนุ่ม คนสาว  เด็ก และ คนชรา ไม่มีทางเลือกอื่น   เพราะถ้าเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเดิม   ก็ต้องตาย  ในที่สุดก็เกิดการปะทะและสู้รบกัน 

ชาวบ้านที่เป็นชาวป่าชาวเขา  และเป็นเกษตรกรธรรมดาๆ ไหนเลยจะสู้กับทหารอาชีพเช่นชาวโรมันได้    ชาวเฮลเวติ จึงจำต้องยอมถอยกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเดิม  หลังการสู้รบที่โหดร้าย และชาวเฮลเวติ ต้องสังเวยชีวิตนับแสนคน

ต่อมาภายหลัง   เมื่อไม่สามารถอพยพย้ายถิ่นฐานได้   แต่ชีวิตยังต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด   ผู้ชายชาวสวิสฯ จึงเลือกที่จะทำงานหาเงินพิเศษด้วยการเป็นทหารรับจ้างให้แก่บรรดาเจ้าผู้ครองนคร หรือ  ใครก็ตามที่มีเงินมากพอที่จะจ้าง

ทำให้บ่อยครั้งที่ชาวสวิสฯที่เป็นทหารรับจ้าง  ต้องต่อสู้และสังหารญาติพี่น้องของตัวเองโดยไม่รู้ตัว  เพราะอยู่คนละฝ่ายกัน    และบ่อยครั้งที่ทหารรับจ้างเหล่านี้  ต้องยอมต่อสู้ปกป้องนายจ้างของตนเองทั้งที่รู้ว่า  ตัวเองจะต้องตาย  เพราะพวกเขาซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และความรับผิดชอบ

จนในที่สุด  ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์สิงโตบาดเจ็บที่เมืองลูเซิร์น  เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษของชาวสวิสฯที่กล้าหาญ และ ซื่อสัตย์ในการทำหน้าที่อย่างไม่กลัวตาย 


(อนุสาวรีย์สิงโตบาดเจ็บที่เมืองลูเซิร์น)

กิตติศัพท์แห่งความซื่อสัตย์ของทหารรับจ้างชาวสวิสฯ ปรากฏชัดเมื่อพวกเขายอมตายในการต่อสู้เพื่อประวิงเวลาให้สันตะปาปาจูเลียส ที่ 2  หนีจากการจับกุมตัวของทหารชาวฝรั่งเศสที่บุกเข้ามาในวาติกัน

ความดีความชอบนี้   ทำให้วาติกันออกระเบียบว่า  ทหารที่จะมาทำหน้าที่เป็นสวิสการ์ด   จะต้องเป็นคนสัญชาติสวิสฯเท่านั้น   ตราบจนทุกวันนี้             


(สวิสการ์ด ประจำวาติกัน  คัดเลือกเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติสวิสฯเท่านั้น)

               ว่าจะพูดถึงเรื่องกรีซ  ยืดยาวจนมาลงที่สวิตเซอร์แลนด์   ไว้สัปดาห์หน้าค่อยมาว่ากันต่อครับ

               สวัสดี  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *