อันเนื่องจากมาจาก พระแสงดาบของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5(ตอนจบ)

ซอกซอนตะลอนไป                 (19 มิถุนายน 2558)

อันเนื่องจากมาจาก พระแสงดาบของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5(ตอนจบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์คุนส์ตคาเมอรา  พาคณะนักท่องเที่ยวของทีวี “ฟ้าวันใหม่” ที่ร่วมกับ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด  เข้าไปในห้องรับรอง   สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือ  โต๊ะขนาดใหญ่ที่อยู่กลางห้อง

               บนโต๊ะมีกล่องที่บรรจุพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัววางเปิดอยู่ 3 กล่อง  มีกระถางแจกันแบบจีนอีกกระถางหนึ่ง  และ ภาพถ่าย 2 ภาพ   


(พระแสงดาบเล่มแรกที่เป็นศิลปะของภาคกลาง) 

               มาดามอีวานโนว่า  ได้บรรยายรายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องกับพระแสงดาบทั้งสามเล่มนี้ว่า  พระแสงดาบเล่มแรก เป็นศิลปะของภาคกลางของประเทศสยาม    พระแสงดาบเล่มที่สองเป็นศิลปะของภาคใต้ของประเทศสยาม    ส่วนพระแสงดาบเล่มที่สาม   เป็นศิลปะของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสยาม

               พระแสงดาบทั้งสามเล่มหุ้มทองคำสวยงาม  และ มีลวดลายที่ละเอียด   แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป   ก็มีร่องรอยของการชำรุดสึกหรอให้เห็น   แม้ว่าเจ้าหน้าของพิพิธภัณฑ์จะดูและเป็นอย่างดีก็ตาม

               เมื่อจะจับต้องพระแสงดาบทุกครั้ง  ยังต้องใส่ถุงมือผ้าเพื่อป้องกันด้วยซ้ำ

               ในความคิดของผม  ก็น่าที่กระทรวงวัฒนธรรมของไทยจะยื่นมือเข้าไปเพื่อเสนอความช่วยเหลือในการบูรณะพระแสงดาบทั้งสามเล่มนี้ด้วย   เพื่อไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้


(รายละเอียดการฉลุของพระแสงดาบ  และ ลวดลายบนปลอกของพระแสงดาบ)

               ผมมาคิดเอาเองว่า   พระแสงดาบทั้งสามเล่ม และ กระถางแจกัน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้แก่พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่2 ของรัสเซีย นั้น   น่าจะต้องมีนัยยะความหมายอะไรบางอย่างแฝงอยู่

               พระแสงดาบเล่มแรก  ที่เป็นศิลปะของประเทศสยามภาคกลางนั้น   คงจะหมายถึง ตัวแทนของพระนคร อันเป็นศูนย์กลางการปกครองของสยามประเทศ 


(ส่วนปลายของพระแสงดาบเริ่มชำรุดเสียหาย)

               พระแสงดาบเล่มที่สอง   เป็นศิลปะของภาคใต้ของประเทศสยาม เรียกจำเพาะลงไปว่า  กริช  ซึ่งแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังพบเห็นได้ทั่วไปในภาคใต้ของไทย 

               ล้นเกล้ารัชการที่ 5 ทรงมอบพระแสงดาบที่เป็นศิลปะของภาคใต้ให้แก่พระเจ้าซาร์  ก็คงต้องการแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของศิลปะของแต่ละท้องถิ่นของประเทศสยาม 


(กริช) 

               น่าเสียดายว่า  สยามประเทศต้องสูญเสียดินแดนทางภาคใต้อันประกอบด้วย  รัฐกลันตัน  ตรังกานู  ไทรบุรี  และ ปะริส ให้แก่อังกฤษเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ปีพ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นครั้งที่ 13 ของการเสียดินแดนของไทย  เพื่อแลกกับอำนาจของศาลไทยที่จะบังคับคดีความผิดของคนอังกฤษในสยามประเทศ 


(กริชที่เป็นอาวุธของชาวภาคใต้ของประเทศสยาม)

               พระแสงดาบเล่มที่สาม ตามที่มาดาม อิวานโนว่า เล่ามาว่าเป็นศิลปะของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ   ก็น่าจะหมายถึง ดินแดนประเทศลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยาม


(พระแสงดาบเล่มที่สาม)

(พระแสงดาบเล่มที่สาม  ที่เริ่มมีร่องรอยชำรุดที่ด้ามจับแล้ว) 

               แต่เมื่อไล่ดูลำดับเวลาแล้วก็พบว่า  การเสียดินแดนของประเทศไทยจากทั้งหมดจำนวน 14 ครั้งนั้น   การเสียดินแดนครั้งที่ 10 ซึ่งทำให้ประเทศสยามต้องสูญเสียอาณาจักรล้านช้าง หรือ ประเทศลาวในปัจจุบันให้แก่ฝรั่งเศสนั้น  เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปีพ.ศ. 2436 

               แต่การเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2440   นั่นหมายความว่า  หลังจากที่สูญเสียอาณาจักรล้านช้างไปแล้ว

               ดังนั้น   พระแสงดาบเล่มนี้  อาจไม่ใช่ศิลปะของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยก็ได้   แต่อาจจะหมายถึง  ศิลปะของดินแดนมณฑลบูรพา ที่รวมถึง  พระตะบอง  เสียมราฐ  และ  ศรีโสภณ  ที่ประเทศสยามต้องเสียให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปีพ.ศ. 2449  เพื่อแลกกับ  ตราด  เกาะกง  ด้านซ้าย  และ  อำนาจของศาลไทยที่จะบังคับต่อคนในบังคับของฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในสยาม

               เป็นแนวคิดของผมเอง  ผิดถูกอย่างไรก็ช่วยการตรวจสอบดูนะครับ   

               เมื่ออ่านดูประวัติศาสตร์การเสียดินแดนของเราแล้ว   อดไม่ได้ที่จะ “ของขึ้น”  และเห็นถึงความเลวของประเทศตะวันตกที่เข้ามาเอาเปรียบประเทศไทย  ด้วยการเอาอาวุธที่ทันสมัยกว่ามาข่มขู่ 

               แม้จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เลิก  เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการให้แยบยลกว่าเดิม   

               สุดท้ายก็คือ  กระถางแจกันลวดลายจีน   ซึ่งน่าจะหมายถึงชุมชนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตสำเพ็งนั่นเอง 


(กระถางแจกันลวดลายแบบจีน) 

               เพราะล้นเกล้ารัชการที่ 5 ทรงเมตตาต่อชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยเดิมจากบริเวณท่าเตียน ไปอยู่บริเวณคลองวัดสามปลื้ม ไปจนถึง คลองวัดสำเพ็ง 

               สำเพ็งมีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยของรัชกาลที่ 4 เพราะมีการทำการค้าขายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง  จนกลายเป็นแหล่งแออัด  เพราะบ้านเรือนปลูกชิดติดกันจนแน่นไปหมด   จนมีคำกล่าวว่า “ไก่บินไม่ตกพื้น”

               ต่อมา   พระพุทธเจ้าเหลวง จึงโปรดให้ตัดถนนผ่าเข้าไปตรงกลางสำเพ็งหลายสาย  และโปรดให้สร้างอาคารบ้านเรือนทรงฝรั่ง เพื่อให้เป็นที่ค้าขายของชาวบ้านแถบนี้  อันเป็นประโยชน์มาจนทุกวันนี้ 

               เรื่องราวของพระแสงดาบของล้นเกล้าราชการที่ 5 ที่พระราชทานให้แก่พระเจ้าซาร์  และไปอยู่อย่างมิดชิดในประเทศรัสเซียมาเป็นเวลานานกว่า 100 ปี  ก็ได้เปิดเผยให้เราคนไทยได้ชื่นชมเป็นบุญตา 

               ผมถึงได้เปิดเรื่องตั้งแต่ตอนที่ 1 ว่า  สงกรานต์ปีนี้   เป็นปีที่ดีมากของผมไงครับ     สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *