อันเนื่องจากมาจาก พระแสงดาบของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                 (12 มิถุนายน 2558 )

อันเนื่องจากมาจาก พระแสงดาบของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5(ตอน 3)

โดย        เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               พิพิทภัณฑ์ที่เก็บรักษาพระแสงดาบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายให้แก่พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซียนั้น  เรียกว่า พิพิธภัณฑ์คุนส์ตคาเมอร่า (KUNSTKAMERA)   ก่อตั้งโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช ในปีค.ศ. 1727  หรือ ตรงกับปีพ.ศ. 2270   


(พิพิทภัณฑ์ คุนส์ตคาเมอรา)

               ก่อนหน้าที่จะมีการลงหลักเมืองของกรุงเทพ 55 ปี  และถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศรัสเซีย  

               คุนสต์คาเมอรา เป็นคำในภาษาดัตช์ เชื่อว่าคนที่นำคำนี้มาให้ชาวรัสเซียรู้จักก็คือ นายแพทย์สเตฟานุส แบลงคาร์ต(STEPHANUS BLANKAART) ที่มาทำงานในรัสเซีย    ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของรัสเซีย  ที่จัดแสดงสิ่งของต่างๆเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของมนุษย์บนโลกนี้  มีสิ่งของต่างๆจัดแสดงอยู่เกือบ 2 ล้านชิ้น

               แต่พระแสงดาบทั้งสามเล่ม   ถูกเก็บเอาไว้ในห้องนิรภัยที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี   เพราะทางพิพิธภัณฑ์ตระหนักว่า  เป็นสิ่งของล้ำค่าของชาติ 

               อันที่จริง   ถัดจากพิพิธภัณฑ์คุนส์ตคาเมอร่า ไปอีกหน่อย   ก็คือพิพิธภัณฑ์สัตว์ ที่จัดแสดงพันธุ์สัตว์ต่างๆทั่วโลก  ก่อตั้งโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราชอีกเช่นกัน   เป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง 


(พระเจ้าปีเตอร์มหาราช ผู้ก่อตั้งพิพิทภัณฑ์คุนส์ตคาเมอรา)

               หลายปีก่อน  ตอนที่ผมจัดทัวร์รัสเซีย 7 คืน 10 วัน    ก็พาเข้าชมพิพิธภัณฑ์สัตว์นี้ด้วย    แต่เดี๋ยวนี้  หลังจากปรับลดวันลงมาเหลือเพียง 5 คืน   ก็ไม่มีเวลาพอที่จะเข้าไปชม 

               ใครก็ตามที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศรัสเซียแล้ว  จะต้องรู้สึกเคารพต่อแนวคิด และ วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชเป็นที่ยิ่ง   เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ปฎิรูปแทบจะทุกสิ่งในรัสเซีย  และนำพารัสเซียเข้าสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจ  ทั้งทางเศรษฐกิจ  ทางทหาร  และ  วัฒนธรรม 


(แมมมอท(MAMMOTH) น้อยที่พบแข็งตายในไซบีเรียถูกนำมาแสดงไว้ที่พิพิทภัณฑ์สัตว์ ที่พระเจ้าปีเตอร์ได้สร้างขึ้นอีกแห่งหนึ่ง)

               ทั้งนี้เพราะพระองค์มีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศต่างๆในยุโรปหลายประเทศก่อนที่จะขึ้นครองราชย์   และ ยังมีเพื่อนเป็นราชทูตของประเทศต่างๆหลายประเทศที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อีกด้วย

               ลำพังการริเริ่มตั้งพิพิธภัณฑ์ในประเทศก็เป็นสิ่งพิเศษแล้ว   แต่แค่นั้นยังไม่พอ 


(ภายในพิพิทภัณฑ์ คุนส์ตคาเมอรา)

               พระเจ้าปีเตอร์มหาราช ยังได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศรวบรวมร่างของเด็กทารกที่เกิดมาผิดธรรมชาติ  แล้วส่งมาให้พระองค์เพื่อจะจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดของพระองค์ที่จะพยายามวิจัยค้นคว้าหาสาเหตุของการที่มนุษย์เกิดมามีรูปร่างผิดปกติ 

               มนุษย์เมื่อ 300 ปีที่แล้วคิดได้แบบนี้   ต้องถือว่า  ยอดคน 


(ศพของเด็กที่พิการตั้งแต่เกิด ถูกดองเอาไว้และแสดงอยู่ในพิพิทภัณฑ์คุนส์ตคาเมอรา)

               ผู้ดูและรับผิดชอบในส่วนของประเทศไทยของพิพิธภัณฑ์คุนส์ตคาเมอรา  และเป็นผู้บรรยายชมให้แก่คณะของเราก็คือ  มาดามอิวานโนว่า  ซึ่งเคยเดินทางไปประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว  และได้ซื้องานศิลปะของไทยหลายอย่างเพื่อมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย 

               วันนั้น   นอกเหนือจากเรื่องพระแสงดาบ และ สิ่งของอื่นๆที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทานให้แก่ พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 แล้ว   มาดามอิวานโนว่า  ยังได้เล่าเรื่องราวการเดินทางของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไปประเทศสยามในขณะที่ดำรงพระยศเป็น มกุฎราชกุมาร ในปีพ.ศ. 2434 อีกด้วย

               มาดามเล่าว่า    การเดินทางครั้งนั้น   มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียได้นำเอาเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายร่วมเดินทางไปด้วย   หนึ่งในนั้นก็คือ  เจ้าหน้าที่จดบันทึกเกี่ยวกับการเดินทาง

               มาดามได้เอ่ยชื่อบุคคลผู้นี้  แต่เนื่องจากเวลาค่อนข้างฉุกละหุก   ผมก็เลยไม่ได้จดชื่อของบุคคลผู้นี้เอาไว้ 


(ผู้เขียนกับมาดาม อิวานโนว่า  ผู้หลงใหลในศิลปะวัฒนธรรมไทย)

               มาดามอิวานโนว่า ยังได้บอกอีกว่า  บันทึกดังกล่าวนอกเหนือจากที่บันทึกเหตุการณ์ตอนที่มกุฎราชกุมาร แห่งรัสเซีย เดินทางไปในประเทศต่างๆ เช่น  อียิปต์  อินเดีย  สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่นแล้ว    ยังบันทึกเหตุการณ์ตอนที่ประทับอยู่ในประเทศสยามอีกด้วย   

               แน่นอนว่า  บันทึกดังกล่าวเป็นภาษารัสเซีย  และปัจจุบันนี้ก็ยังเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

               จะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยทีเดียว   หากจะมีหน่วยงานรัฐสักหน่วยงานหนึ่ง  ติดต่อไปยังรัฐบาลรัสเซีย  เพื่อขอแปลเอกสารดังกล่าวออกมาเป็นภาษาไทยให้คนไทยได้อ่าน  เพื่อจะได้รู้ว่า  ชาวรัสเซียเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วคิดอย่างไรกับประเทศสยาม


(พระพุทธรูปเชียงแสน  ที่มาดามอิวานโนว่า ซื้อมาจากประเทศไทยด้วยเงินส่วนตัว  เพื่อมาแสดงในพิพิทภัณฑ์)

               และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ  เราจะได้เห็นภาพในอดีตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านมุมมองของ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย  และ มุมมองของข้าราชการชาวรัสเซียเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วด้วย 

               ผมว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย   ก็อยากรู้เหมือนกัน  พบกันใหม่ตอนหน้า  สวัสดีครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *