อิตาลี เมืองหลวงของโลกศิลปะ(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (4 กันยายน 2558 )

อิตาลี เมืองหลวงของโลกศิลปะ(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ตั้งแต่ยุคกลาง  หรือ  ยุคมืดเป็นต้นมา   ความรู้เก่าแก่ตั้งแต่ยุคกรีก – โรมัน   และ ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้  ถูกผูกขาดอยู่กับชนชั้นปกครอง   พวกอัศวิน  และ  นักบวช เท่านั้น  

               ชาวบ้านธรรมดาอ่านหนังสือไม่ออกเลย  

               เมื่อมีเพียงแค่ 3 ชนชั้นเท่านั้นที่อ่านหนังสือออก  การเข้าสู่ความรู้เก่าแก่ยุคโบราณในทุกๆด้าน   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์  ศาสนา  ศิลปะ  และ ปรัชญา  ก็จึงถูกจำกัดวง

               เมื่อชาวบ้านทั่วไปประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อน ก็มักจะไปหาพระในโบสถ์   เพราะพระอ่านหนังสือออก   สามารถอ่านพระคัมภีร์ไบเบิ้ลได้   จึงเสมือนมีอำนาจผูกขาดในการติดต่อกับสวรรค์ได้ด้วย

               ประกอบกับ อาณาจักร สามารถประสานผลประโยชน์กับ ศาสนจักรโรมันคาธอลิค ได้   จึงมีการจัดตั้ง  อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์(HOLY ROMAN EMPIRE)ขึ้น เริ่มต้นจาก จักรพรรดิชาร์เลอมาญ แห่ง แฟร้งค์(CHARLEMAGNE)    ทำให้ศาสนาโรมันคาธอลิคยิ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้น  และ  มั่งคั่งขึ้นโดยลำดับ

               เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ นครรัฐวาติกันมีวัตถุโบราณล้ำค่าอยู่ในสะสมมากมาย   เพราะในยุคกลาง  ศิลปะมีไว้แค่เพื่อศาสนาเท่านั้น 


(รูปสลักของ ลอเรนโซ ผู้ยิ่งยง ที่วางอยู่หน้าพิพิทภัณฑ์อุฟฟิซี่  ภาพโดยผู้เขียน)

               จนเมื่อย่างเข้าสู่ยุคเรอเนสซองส์  ชนชั้นพ่อค้าเริ่มสร้างความมั่งคั่งของตนเองจนเป็นปึกแผ่น จึงอยากจะทำตัวให้มีวัฒนธรรมแบบชนชั้นปกครองบ้าง   พ่อค้าบางตระกูล  อาทิเช่น  ตระกูลบอร์เจีย(BORGIA FAMILY) ที่มั่งคั่งร่ำรวยมากจนสามารถส่งลูกหลานเข้ามาเป็นพระในศาสนจักรวาติกัน  และผลักดันให้ลูกหลานเติบโตจนถึงขั้นเป็นสันตะปาปาด้วยซ้ำ

               นอกจากตระกูลบอร์เจียแล้ว  อีกตระกูลที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กันก็คือ  ตระกูลเมดิชี่(MEDICI FAMILY) จากเมืองฟลอเร้นซ์  ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในยุคของ ลอเรนโซ ผู้ยิ่งยง (LORENZO)

               และที่เมืองฟลอเร้นซ์นี่เอง  ที่ได้ปั้นศิลปินชั้นยอดขึ้นมามากมายหลายคนในยุคเรอเนสซองส์  อาทิเช่น  ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ , บ๊อตติเชลลี  ,  ไมเคิลแองเจโล  และ ราฟาเอล ซานติ


(ไมเคิลแองเจโล ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

(ราฟาเอล  ซานติ ภาพจากอินเตอร์เน็ต)  

               โดยเฉพาะ 2 คนหลัง  ที่มีโอกาสเข้ามาทำงานในราชสำนักวาติกัน   เขาจึงมีโอกาสได้ชมผลงานศิลปะชั้นยอดมากมายจากยุคกรีก-โรมันที่สะสมอยู่ในวาติกัน   

               ผมค่อนข้างชอบผลงานปฎิมากรรมชิ้นหนึ่ง  มีชื่อเรียกว่า  TORSO  หรือ  ลำตัว เป็นพิเศษ   


(รูปสลักที่เหลือเพียงส่วนลำตัว  จึงเรียกว่า TORSO  มีลักษณะที่เน้นให้เห็นถึงกล้ามเนื้อที่ชัดเจนคล้ายกับภาพสลัก เลาคูน  ภาพโดยผู้เขียน )

               รูปสลักชิ้นนี้   ไม่แน่ชัดว่าเป็นผลงานของศิลปินท่านใด   เพราะแตกหักเสียหายจนเหลือเพียงส่วนลำตัวเท่าที่เห็น   ทำให้ส่วนที่ใช้แกะสลักนามของผู้รังสรรค์ ผลงานสูญหายไปด้วย 

               แต่คาดว่า   น่าจะเป็นผลงานในยุคกรีก-โรมัน ในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล   บ้างก็ว่า   เป็นรูปสลักของ อโพโลนิออส  บ้างก็ว่าเป็นรูปสลักของ เฮ็คเตอร์  นักรบชาวกรีกผู้หนึ่งที่ไปร่วมรบในสงครามแห่งทรอย   แต่บ้างก็ว่า  เป็นรูปสลักของเฮอร์คิวลิส 


(ภาพเฟรสโก้ หรือ ภาพสีปูนเปียก ของไมเคิลแองเจโล บนเพดานโบสถ์ซีสทีน  ได้รับอิทธิพลจากผลงาน TORSO  มาอย่างชัดเจน  ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               จะเป็นใครก็แล้วแต่   สิ่งที่ได้รับการกล่าวขานกันต่อๆมาก็คือ   ไมเคิลแองเจโล หลงใหลในความงดงามของรูปทรงของ TORSO เป็นอันมาก  และ มักจะมาศึกษารูปสลักอันนี้อยู่เสมอ  

               และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของเขาในการสร้างสรรค์ผลงานในเวลาต่อมา 

               ภาพข้างบนนี้  เป็นผลงานของไมเคิลแองเจโล ภายในโบสถ์ ซีสทีน  ที่ซึ่งใช้ในการประชุมลับเพื่อสรรหา และ เลือกตั้งสันตะปาปาพระองค์ใหม่   ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก   ใครก็ตามมาเที่ยววาติกัน   แล้วไม่ได้ชมภาพเขียนชุดนี้ก็น่าเสียดายอย่างยิ่ง

               สนใจเที่ยวอิตาลีแบบเจาะลึก และเข้าชมพิพิทภัณฑ์วาติกันด้วย ระหว่างวันที่ 18 – 25 พฤศจิกายน นี้ สำรองที่นั่งได้ที่ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  โทร 02 651 6900  หรือ 088 578 6666

               ผมจะเป็นผู้บรรยายชมเอง   


(ภาพ THE SCHOOL OF ATHENS ภายในพิพิฑภัณฑ์วาติกัน ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               ราฟาเอล ซานติ  เป็นศิลปินหนุ่มที่มีผลงานโดดเด่นมากในยุดเรอเนสซองส์   แต่น่าเสียดายว่า   เขาตายตั้งแต่อายุแค่ 37 ปีเท่านั้น   ผลงานจึงไม่มากเท่าไหร่  

               แค่ผลงานที่เขาได้ฝากทิ้งไว้   ก็แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพอย่างชัดเจน  เช่นภาพ  THE SCHOOL OF ATHENS  ที่เขาได้ใช้จินตนาการนำเอา  พลาโต้ นักคิด นักปรัชญา และ นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก  มาเดินเคียงข้างกับ อริสโตเติล  นักปรัชญา ชาวกรีก  


(พลาโต (ซ้าย) เดินเคียงคู่มากับ อริสโตเติล (ขวา)ภาพจากอินเตอร์เน็ต )

               เรื่องราวของการท่องเที่ยวอิตาลี  เมืองหลวงแห่งโลกศิลปะ  ยังไม่จบครับ  แต่เพื่อที่จะให้การนำเสนอเรื่องราวให้มีความหลากหลาย   สัปดาห์หน้า   ผมจึงของเปลี่ยนบรรยากาศของท่านผู้อ่านไปท่องเที่ยวผ่านหนังสืออัตชีวประวัติของบุคคลผู้หนึ่ง  ซึ่งผมคิดว่า  โลดโผน พลิกผัน อย่างน่าติดตามยิ่ง

               “ชีวิตเหมือนฝัน  คุณหญิงมณี” เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ครับ

               พบกับเรื่องราวของ คุณหญิงมณี  ผู้ซึ่งมีลีลาชีวิตที่ไม่เหมือนใคร  จนคุณจะวางหนังสือไม่ลงทีเดียว  

               พบกันสัปดาห์หน้าครับ   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *