อียิปต์ ดินแดนแห่งความท้าทายภูมิปัญญา(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 ตุลาคม 2558 )

อียิปต์ ดินแดนแห่งความท้าทายภูมิปัญญา(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ระหว่างวันที่ 3 – 13 ธันวาคม นี้  ผมจะนำคณะนักท่องเที่ยวของบริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ เดินทางไปท่อง อียิปต์ ดินแดนแห่งฟาโรห์  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศดีที่สุด  เพราะเย็นสบายมาก   

               เมื่อพูดถึงอียิปต์  ผู้คนก็มักจะนึกถึงแต่ พีระมิด 3 องค์ ที่เมืองกีซ่าเท่านั้น  ทั้งๆที่ อียิปต์ยังมีอะไรให้ชมอีกมากมายซึ่ง   ซึ่งโปรแกรมท่องเที่ยวคราวนี้ ของ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวลเอเยนซี่ จะพาไปดูจนครบหมด


(ภาพพีระมิดสามองค์ ถ่ายภาพจากจุดชมวิว)

               ทำไมจึงพูดถึงแต่พีระมิด 

               เพราะพีระมิดเป็นสิ่งก่อสร้างด้วยหินที่มีรูปร่างแลกที่สุด  มีขนาดใหญ่ที่สุด และยังหาสิ่งก่อสร้างใดๆเสมอเหมือนได้   และนักโบราณคดีอียิปต์ก็เชื่อว่า   พีระมิดเป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยหินขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกของโลก  สร้างเมื่อประมาณ 4,600 ปีที่แล้ว 

               เพื่อเป็นที่เก็บศพของฟาโรห์เพียงองค์เดียว 


(พีระมิด องค์แรก และ ใหญ่ที่สุดในบรรดาพีระมิดทั้งสามองค์  เป็นของฟาโรห์คีออฟส์)

               นอกเหนือจากนั้นแล้ว   เรื่องราวต่างๆยังเป็นเพียงเรื่องสันนิษฐานทั้งนั้น  ยังไม่อาจจะสรุปยืนยันได้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ   แต่ไม่ว่าจะสันนิษฐานอย่างน่าเชื่อถืออย่างไร   ก็จะมีแนวคิดอื่นที่น่าเชื่อถือกว่ามาหักล้างได้เสมอๆ 

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  คำถามที่ว่า   คนอียิปต์โบราณ สร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร

               ตามประเพณีของอียิปต์โบราณ  เชื่อกันว่า  เมื่อฟาโรห์ขึ้นครองราชย์  สิ่งแรกที่ต้องเตรียมการก็คือ  สร้างสุสานของตนเองขึ้นมาก่อน   เพราะชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า  เขาเป็นตัวแทนที่เทพเจ้าของเขาส่งมาเกิด  เมื่อตายไปแล้ว  ก็จะกลับไปหาพระเจ้าของเขาอีกครั้ง 

               การกลับไปหาเทพเจ้าของเขา  จึงต้องตระเตรียมความพร้อมเพื่อความสมบูรณ์พูนสุขในโลกหน้า   ดังนั้น  ภายในสุสานของฟาโรห์จึงต้องมีข้าวของเครื่องใช้  และทรัพย์สมบัติต่างๆที่ฟาโรห์เคยใช้มาก่อนตอนยังมีชีวิตอยู่ฝังรวมไปด้วย

               เพื่อว่าฟาโรห์จะได้ใช้ข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ในโลกหน้า 

               และสุสานของฟาโรห์เมื่อประมาณ 4,600 ปีที่แล้วคือ  พีระมิด นั่นเอง 

               สิ่งที่ยังเป็นปริศนา  และ ยังไม่อาจหาคำตอบที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัดก็คือ   เขาสร้างพีระมิดเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร  เพราะเมื่อ 4,600 ปีก่อน  มนุษย์ยังไม่นำเหล็กมาใช้ได้  โลหะแข็งก็จะมีเพียงบร็อนซ์ เท่านั้น ซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่าเหล็ก

               จึงเกิดคำถามว่า  ชาวอียิปต์ในยุคนั้นใช้วัสดุอะไรในการตัดหิน 

               แต่คำถามที่ยากจะหาคำตอบมากกว่าก็คือ  ชาวอียิปต์โบราณขนหินขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 2.5 ตัน ไปจนถึง 15 ตัน จำนวนประมาณ 2ล้าน 3 แสนก้อน ขึ้นไปวางซ้อนๆกันแบบนี้จนสูงประมาณ 150 เมตรภายในเวลาประมาณ 8 ปีได้ยังไง


(เทียบอัตราส่วนความสูงของหินที่ใช้สร้างพีระมิด)

               ทำไมจึงเป็น 8 ปี

               เพราะฟาโรห์คีออฟ(CHEOPS) หรือ คูฟู(KHUFU) ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่ 4  ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผู้สร้างพีระมิดองค์ใหญ่ที่สุดที่เมืองกีซ่านั้น  ครองราชย์ประมาณ 23 – 24  ปี  หมายความว่า  พระองค์มีเวลาในการสร้างพีระมิดองค์นี้มากที่สุดไม่เกิน 24 ปี  

               แต่ในทางโบราณคดีระบุให้ระยะเวลาในการสร้างพีระมิดดังกล่าวคือ 20 ปี  และแรงงานที่ใช้ในการสร้างพีระมิดก็เชื่อกันว่า   เป็นแรงงานชาวไร่ชาวนา  ไม่ใช่แรงงานทาส    

               อียิปต์จะเกิดน้ำท่วมหนักทั้งสองฝั่งแม่น้ำไนล์ ทุกปีตามธรรมชาติ  และกินเวลานานประมาณ 4-5เดือน   จึงเชื่อกันว่า   การสร้างพีระมิดก็จะเป็นในช่วงเวลานี้  

               ถ้าประมาณว่า  ใน 1 ปีมีเวลาในการสร้างพีระมิด 5 เดือน   20  ปีก็จะมีเวลาสร้างประมาณ 100  เดือน หรือ 8 ปี 4 เดือน

               หินที่ใช้สร้างพีระมิดมีจำนวนประมาณ 2.3 ล้านก้อน  เฉลี่ยแล้วแต่ละเดือนจะต้อง ตัด และ ขนขึ้นมากองแบบนี้จำนวน 23,000 ก้อน  หรือ เฉลี่ยวันละ 766 ก้อน

               แหล่งตัดหินที่นำมาสร้างพีระมิดแห่งนี้  สันนิษฐานว่ามาจากเทือกเขาอันเป็นที่ตั้งของป้อมปราการของ ซาลาดิน(SALADIN) และ สุเหร่าของมูฮัมหมัด อาลี(MOSQUE OF MUHAMMAD ALI)  ที่อยู่คนละฝั่งของแม่น้ำไนล์ และห่างจากจุดที่สร้างพีระมิดไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร

               ลองคิดกันเล่นๆดูนะครับว่า  เขาตัดหินและขนส่งกันมาอย่างไร เพื่อยกขึ้นไปวางซ้อนๆกันขึ้นไปให้ได้วันละ 766 ก้อน   แสดงว่า  ชาวอียิปต์โบราณจะต้องมีระบบลอจิสติคที่สมบูรณ์แบบทีเดียว

               ที่สำคัญก็คือ  เมื่อ 4600 ปีที่แล้ว  ยังไม่มีเครื่องทุ่นแรงประเภทลูกรอกที่ใช้ทดแรงเพื่อยกหินขึ้นไปวางบนที่สูงๆ  จะมีก็เพียงคานดีดคานงัด  และ ทางลาด (LAMP)เท่านั้น


(จินตนาการของนักโบราณคดี ถึงวิธีการสร้างพีระมิดด้วยการใช้คานงัดคานดีด)

(ภาพจินตนาการ การลากหินขึ้นทางลาดไปวางบนพีระมิด)

               แต่เชื่อมั้ยครับว่า   ทุกทฤษฎีของวิธีการสร้างพีระมิด  ไม่ว่าจะดูน่าเชื่อถือขนาดไหน   ต่างก็มีข้อโต้แย้งได้ทั้งสิ้น   ก็เลยยังหาข้อสรุปที่ยอมรับกันได้จริงๆแม้แต่ทฤษฎีเดียว 

               และนี่คือเสน่ห์ของอียิปต์  ดินแดนแห่งความท้าทายภูมิปัญญา 

               สนใจร่วมเดินทางไปอียิปต์ระหว่าง 3 – 13 ธันวาคม กับผม  สำรองที่นั่งได้ที่ โทร 02 651 6900  เหลือที่นั่งไม่มากแล้วครับ

               สวัสดี  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *