เมื่ออาทิตย์ส่องผ่าน 15 ช่องประตู กับ จันทรคราส(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                 (17 เมษายน 2558 )

เมื่ออาทิตย์ส่องผ่าน 15 ช่องประตู กับ จันทรคราส(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แนวคิดแบบเดียวกันกับ  พระอาทิตย์ส่องแสงผ่าน 15 ช่องประตูนั้น  มิใช่เพิ่จะมาเกิดขึ้นกับสถาปัตยกรรมการสร้างวิหารของฮินดูเท่านั้น    แต่ได้เกิดขึ้นมาเมื่อกว่า 3200 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อยในประเทศอียิปต์โบราณ


(พระอาทิตย์ส่องผ่าน 15 ช่องประตูที่ปราสาทหินพนมรุ้ง)

               เพียงแต่ของอียิปต์จะแตกต่างจากของปราสาทหินพนมรุ้งตรงที่   แสงอาทิตย์จะส่องผ่านเพียงแค่ 4ประตูเท่านั้น 

               วิหารที่ผมพูดถึงนี้ก็คือ  วิหารอาบู(ABU SIMBEL TEMPLE) ซิมเบล  ที่ฟาโรห์ รามเซส ที่ 2(RAMSES II) ได้โปรดให้สร้างขึ้น


(วิหารอาบูซิมเบล ซึ่งมีสองวิหาร  เรียกว่า  วิหารใหญ่ และ  วิหารเล็ก)

               อาบู ซิมเบล เป็นหมู่บ้านเล็กๆอยู่ทางภาคใต้สุดของประเทศอียิปต์  ชื่อของวิหารก็มาจากชื่อของหมู่บ้านนี่เอง   วิหารหลังนี้เป็นศิลปะแบบ ขุดเข้าไปในภูเขา (ROCK CUTED TEMPLE)

               ตัววิหารตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ด้านทิศตะวันตก    ดังนั้น  ตัววิหารจึงหันหน้ารับแสงอาทิตย์ตอนที่พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก 


(คณะท่องเที่ยวถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหน้าวิหารอาบู ซิมเบล ปลายปีนี้ก็จะจัดอีกครั้งในเดือนธันวาคม)  

               เมื่อแรกสร้าง   วิหารนี้เคยอยู่ริมแม่น้ำ  แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนใหญ่แห่งเมืองอัสวานเมื่อประมาณเกือบ 50 ปีที่แล้ว   ระดับน้ำเหนือเขื่อนก็ค่อยๆสูงขึ้นเรื่อยๆ  กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 

               จึงมีการย้ายวิหารทั้งสองหลังขึ้นมาให้สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 50 – 60 เมตร   ด้วยการตัดวิหารออกเป็นชิ้นๆแล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่ในโดมจำลองที่ทำเลียนแบบภูเขา  เพื่อว่า  วิหารทั้งสองหลังจะได้ไม่ถูกน้ำท่วมเสียหาย 


(มหัศจรรย์ของการย้ายวิหารอาบูซิมเบล  หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่ในที่สูง)

               วิหารอาบู ซิมเบล สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้า  ราฮอรัคติ(RA HORAKHTY)   หรือ  สุริยเทพ   และ  เทพเจ้าอามุนรา(AMUN RA)  ซึ่งก็คือ สุริยเทพในอีกชื่อหนึ่ง  และ  เทพเจ้าปตาห์(PTAH) เทพเจ้าแห่งเมืองเมมฟิส เมืองโบราณที่ถือว่าศักดิ์สิทธิที่สุดของอียิปต์โบราณ 

               ทุกๆปีในราววันที่ 21 กุมภาพันธ์  และ 21  ตุลาคม จะมีนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก  เดินทางไปเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ธรรมชาติของพระอาทิตย์ที่วิหารหลังนี้


(ภาพจำลองที่แสดงให้เห็นจุดที่ตั้งเดิม ที่หากไม่ย้านจะอยู่ใต้น้ำแล้ว  และ วิหารอาบูซิมเบล บนจุดที่ตั้งใหม่ ที่อยู่สูงขึ้นมาจากจุดเดิมประมาณ 50 เมตรเศษ)

               ปรากฎการณ์ที่ว่านี้ก็คือ   การที่ลำแสงของพระอาทิตย์ตอนรุ่งอรุณ  จะส่องผ่านประตูบานแรกของวิหารเข้าไป   ผ่านช่องประตูทีละประตูจนกระทั่งแสงของพระอาทิตย์จะไปฉาบฉายอยู่บนผนังห้องสุดท้ายของวิหาร


(ทางเข้าไปสู่ห้องศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  ที่มีรูปสลัก 4 องค์อยู่บนผนังห้อง)

               ห้องสุดท้ายของวิหาร  ซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  HOLY OF THE HOLIES  ที่ปกติจะเป็นห้องที่มืดมิดที่สุดในวิหาร  

               ในห้องนี้   โดยทั่วไปจะมีรูปเคารพของเทพเจ้าที่เป็นเจ้าของวิหาร  หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ประดิษฐานอยู่ภายในเรือที่ทำด้วยไม้วางอยู่บนแท่นที่ทำด้วยหินแกรนิตกลางห้อง  


(ในห้องที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  โดยปกติจะต้องมีเรือทำด้วยไม้สำหรับบรรจุเทวรูปหล่อด้วยทองคำ วางอยู่บนแท่นหินแกรนิต  แบบนี้)

               นับเป็นภูมิปัญญาของคนในยุคเมื่อ 3 พันปีเศษโดยแท้   เพราะหากองศาของประตูคลาดเคลื่อนไปไม่กี่องศา  ปรากฏการณ์นี้ก็จะไม่เกิด 

               เพราะดูเหมือนว่า   หลังจากที่นักโบราณคดีสมัยใหม่ ได้ย้ายวิหารทั้งหลังให้พ้นจากน้ำท่วมขึ้นมาเรียบร้อยในปีพ.ศ. 2511     ปรากฏว่า  แกนของวิหารเคลื่อนไปจากเดิมเล็กน้อย  ทำให้ปรากฏการที่พระอาทิตย์ส่องแสงเข้าไปถึงผนังห้องสุดท้ายเร็วขึ้นมาจากเดิม 1 วันกลายเป็นวันที่ 21 ของเดือนกุมภาพันธ์  และ  21 ของเดือนตุลาคม ของทุกปี        

               แต่ที่โดดเด่น และน่าทึ่งกว่านั้นก็คือ   บนผนังห้องสุดท้ายของวิหาร  จะปรากฏรูปสลัก 4 องค์นั่งเรียงชิดติดกันแบบไหล่ชนไหล่ 


(รูปสลัก 4 องค์ที่นั่งเรียงกัน  ขวามือคือ ราฮอรัคตี  , ถัดมาคือ ฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 ,  เทพอามุน รา  และ ซ้ายสุดคือ เทพปตาร์ เทพเจ้าแห่งความมือ ) 

               จากขวามือสุด  ก็คือ  เทพรา ฮอรัคตี  เทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์   ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่วิหารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายให้     ถัดมาก็คือ  ฟาโรห์ รามเซส ที่ 2  ผู้สร้างวิหารหลังนี้ 

               องค์ที่ 3 ก็คือ เทพอามุน รา   เทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์   แต่เป็นอีกชื่อหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชนในเมืองธีบส์ หรือ ประมาณเมืองลักซอร์ในปัจจุบัน 

               องค์ที่ 4 ซึ่งอยู่ซ้ายมือสุดก็คือ เทพปทาห์   เทพเจ้าแห่งเมืองเมมฟิส  เมืองโบราณอายุกว่า 5-6 พันปี  ที่อยู่ใกล้ไคโร  

               แสงของพระอาทิตย์ยามเช้าจะส่องตรงไปยังผนังห้องชั้นในสุด   จับต้องที่รูปสลักที่นั่งเรียงรายกัน  เพียงปีละ 2 ครั้ง 

               ที่น่าสนใจก็คือ   แสงพระอาทิตย์จะจับต้องเพียงรูปสลัก 3 องค์ขวามือเท่านั้น    ส่วนองค์ที่ 4 ที่อยู่ซ้ายมือสุดนั้นจะไม่โดนแสงของพระอาทิตย์

               ทำไม

               ไม่รู้ว่าจะด้วยความจงใจ หรือ เหตุบังเอิญก็ตามที  การที่แสงอาทิตย์ ไม่ตกต้องรูปสลักองค์ซ้ายมือสุด    เพราะ เทพปตาห์ เป็นเทพเจ้าแห่งความมืด  เป็นเทพเจ้าแห่งคนตาย 

               จึงไม่จำเป็นจะต้องได้รับแสงของพระอาทิตย์ 

               น่าทึ่งไม่น้อยไปกว่าแสงของพระอาทิตย์ส่องผ่าน 15 ช่องประตูเข้าไปถูกศิวะลึงก์ ในวิหารของศาสนาฮินดูเลยทีเดียว 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *