ไต้หวัน เมื่อจำต้องใช้นโยบายเปิดประเทศ(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (23 ธันวาคม 2559 )

ไต้หวัน เมื่อจำต้องใช้นโยบายเปิดประเทศ(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               จะว่าไปแล้ว  การที่อาณาจักรญี่ปุ่นเข้ามายึดครองไต้หวัน  ระหว่างปี ค.ศ.1895 จนถึงปีค.ศ. 1945  ถือเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกของประชาชนบนเกาะฟอร์โมซาให้ยาวนานไปอีกหลายปี  

การแตกแยกของประชาชนบนเกาะฟอร์โมซา แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ ระหว่างชนชาวจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่จีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง และ ราชวงศ์ชิง  กับ ชนพื้นเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา  และ ชาวญี่ปุ่นที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนเกาะฟอร์โมซา ในช่วงราชวงศ์หมิง และ ราชวงศ์ชิง 

               สิ่งที่อาณาจักรญี่ปุ่นต้องการอย่างมากจากเกาะฟอร์โมซา  ก็คือ ไม้หอม หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า  ฮิโนกิ(HINOKI) หรือ ต้นสนในตระกูลไซเปรส (CYPRESS) ซึ่งเรียกว่า TAIWANIA  และบังเอิญว่า  ต้นสนชนิดนี้มีอยู่บนภูเขาแถบภาคใต้ของเกาะฟอร์โมซาค่อนข้างมาก  โดยเฉพาะบนเขาอาลีซาน ใกล้เมืองเจียอี้(CHIA-I)


(หมู่บ้าน คิโนกิ ในเมืองเจียอี้  ที่แสดงตัวตน และ จิตวิญญาณของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่ยังคงฝังรากลึกในภาคใต้ของญี่ปุ่น)

               ดังนั้น  ญี่ปุ่นจึงเข้ามากอบโกยทรัพยากรไม้เหล่านี้กลับไปประเทศตัวเองกันขนานใหญ่  โดยอาจจะตอบแทนชาวพื้นเมืองด้วยทรัพย์สินเงินทองเล็กๆน้อยๆ  และทำให้ชาวพื้นเมืองมีความรู้สึกที่ดีต่อชาวญี่ปุ่น  หรือ อาจจะรู้สึกว่าชาวญี่ปุ่นเป็นผู้มีพระคุณต่อพวกเขาด้วยก็ได้ 


(ความชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นของชาวไต้หวันที่เมืองเจียอี้  มีมากขนาดแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบบญี่ปุ่น เข้ามาเดินเล่นในหมู่บ้าน ฮิโนกิ)

               ทำให้ประชาชนครึ่งภาคใต้ของไต้หวันนับตั้งแต่เมืองไถจงลงไปโดยประมาณ  มีความนิยมต่อชาวญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษ 


(จังหวัด และ เมือง ไถจง ที่อยู่ตรงกลางของประเทศไต้หวัน  แบ่งไต้หวันออกเป็นภาคเหนือ และ ภาคใต้)

               เรื่องนี้ก็คงจะไม่ต่างจากจากเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว  ที่ชาวตะวันตกเข้ามาตัดไม้สักจากเมืองไทยแล้วขนกลับบ้านกันอย่างมโหฬาร   โดยที่คนไทยเราก็ยังรู้สึกภูมิใจว่า  สินค้าส่งออกสำคัญของไทยคือ  ไม้สัก และอาจจะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อพวกฝรั่งที่มาขนทรัพยากรของเราออกไปด้วยซ้ำ โดยแลกกับเศษเงินเล็กๆน้อยๆเท่านั้น  

               แต่ก็ต้องยอมรับว่า  อาณาจักรญี่ปุ่นได้สร้างประโยชน์ให้แก่เกาะไต้หวันเช่นกัน  เพราะได้นำเอาการขนส่งระบบรางมาใช้ในไต้หวัน   แม้จะเริ่มต้นรถรางที่ใช้การขับเคลื่อนด้วยแรงคนหรือสัตว์   แต่ก็เป็นการวางรากฐานของรถไฟบนเกาะไต้หวันในเวลาต่อมา  


(รถไฟที่ญี่ปุ่นนำเข้ามาใช้ในเมืองเจียอี้ ในยุคแรกๆ  เพื่อใช้ในการขนถ่ายไม้หอมจากบนภูเขาอาลีซาน ลงมาสู่เมืองเจียอี้)

               นอกจากนี้  ญี่ปุ่นยังได้ก่อตั้งธนาคารแห่งไต้หวันขึ้น  โดยเป็นการร่วมลงทุนกันระหว่าง  บริษัทมิตซูบิชิ  กับ  มิตซุย กรุ๊ป ซึ่งนำความเจริญก้าวหน้าทางการเงิน การธนาคารมาสู่ไต้หวัน       


(ธนาคารแห่งไต้หวัน ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อตั้งให้ ในปีค.ศ. 1897 ในกรุงไทเป)

               นี่คือสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนชาวไต้หวันส่วนหนึ่งมีความนิยมชมชอบต่ออาณาจักญี่ปุ่น   

               จนเมื่อ  นายพล เจียง ไค เช็ค นำพลพรรคประมาณ 2 ล้านคนไปตั้งหลักปักฐานบนเกาะไต้หวัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีค.ศ. 1949    ขณะนั้น  อาณาจักรญี่ปุ่นได้ถอนตัวออกไปจากเกาะไต้หวันประมาณ 4 ปีแล้ว 

               การปกครองคนในประเทศที่ก่อตั้งใหม่ ที่มีความแปลกแยกกันทางความคิดอย่างสุดขั้วแบบนี้  เป็นเรื่องไม่ง่าย 

               ด้วยเหตุที่เจียง ไค เช็ค ได้นำผู้คนประมาณ 2 ล้านคนมาปักหลักในภาคเหนือของเกาะที่เมืองไทเป    อาจเป็นเพราะรู้ดีอยู่แล้วว่า  ผู้คนทางเหนือของไต้หวันมีใจฝักใฝ่ต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งง่ายต่อการกลมกลืน และ และปกครอง 

               แต่กับผู้คนทางใต้  ซึ่งมีความผูกพันกับอาณาจักรญี่ปุ่น  และ  น่าจะมีผู้คนเชื้อสายญี่ปุ่นอาศัยอยู่มาก  คงไม่ง่ายที่เจียง ไค เช็ค จะปกครองภาคใต้ได้อย่างราบรื่น 


(แม้แต่เสื้อยืดที่ระลึกที่ขายในหมู่บ้านฮิโนกิในปัจจุบันนี้  ยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่า  นิยมชมชอบอาณาจักรญี่ปุ่น  ถึงขนาดมีตัวหนังสือบนเสื้อระบุว่า  ไถหนาน และ ไถจง เป็นอาณาจักรญี่ปุ่น(EMPIRE OF JAPAN))

               ดังนั้น  ในประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งที่มิได้บันทึกของไต้หวัน  แต่มีผู้รู้เล่าให้ฟังก็คือ  รัฐบาล เจียง ไค เช็ค ต้องใช้อำนาจกำปั้นเหล็กในการปราบปรามผู้ที่ไม่ยอมรับ และพวกที่แข็งขืนต่อต้านรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋งอย่างหนัก  

               ว่ากันว่า  มีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก  ซึ่งอาจจะเป็นบาดแผลในจิตใจของผู้คนทางใต้ที่ผูกใจเจ็บต่อรัฐบาลของพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง เรื่อยมาแม้จนทุกวันนี้ก็ได้ 

               ยิ่งไปกว่านั้น   การที่รัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ได้ประกาศว่า ชื่อของประเทศว่า “ประเทศสาธารณะรัฐจีน มณฑลไต้หวัน” (แปลจากชื่อของประเทศที่ประกาศเป็นภาษาจีน  แต่ไม่ปรากฎในชื่อในภาษาอังกฤษ)  เท่ากับว่า  รัฐบาลเจียง ไค เช็ค ยอมรับว่า  ไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ 

               ไม่รู้ว่าเป็นแนวนโยบายยอมรับจีนแผ่นดินใหญ่จีน  หรือ  เจียง ไค เช็ค  หวังลึกๆว่า  สักวันหนึ่ง  จะนำทัพกลับไปยึดจีนแผ่นดินใหญ่กลับคืนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน

               จึงได้ผูกมัดแผ่นดินใหญ่จีน กับ ไต้หวัน เสียขนาดนี้

               พบกันใหม่สัปดาห์ครับ

               สนใจเดินทางท่องเที่ยวไต้หวัน  อิหร่าน  และ อียิปต์ ในช่วงฤดูหนาวนี้   เชิญติดต่อ  บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด โทร 02 651 6900 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *