ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 8)

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 พฤษภาคม 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 8)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               จากวิหาร  พาราสุราเมศวา ในเมือง บูบาเนสชวา  ของรัฐโอดิสสา ที่ผมได้พูดไปในตอนที่ 3 ขอนำท่านผู้อ่านมาที่วิหาร มุคเตสชวารา วิหารขนาดเล็กที่สวยงาม อยู่ใกล้ๆกัน

               นอกจากศิลปะในการสร้างอันสวยงามในสไตล์ คาลิงกา แล้ว   วิหารหลังนี้ ยังมีชื่อเสียงในฐานะวิหารที่ชาวฮินดูจำนวนมากนิยมมาบูชาเพื่อ “ขอลูก”


(วิหาร มุคเตสชวารา)

               ในประเทศไทย และ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเช่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ จีน ไต้หวัน  สถานที่ที่จะขอลูกที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ ศาลพระพรหม ที่สี่แยกเอราวัณ  สันนิษฐานว่า  ความนิยมดังกล่าวอาจจะมาจากแนวคิดที่ว่า   พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก  เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในจักรวาล ก็ได้  

               แต่สำหรับชาวฮินดูในอินเดีย  เขาจะไม่ขอลูกกับ พระพรหม  หากแต่จะขอลูกกับ พระศิวะ   

               บางท่านอาจรู้สึกแปลกใจว่า   โดยหลักการของศาสนาฮินดูแล้ว พระพรหม เป็นผู้สร้าง  ในขณะที่  พระศิวะเป็นผู้ทำลาย   ทำไม  ชาวฮินดูจึงขอลูกจากพระศิวะ

               แนวคิดเกี่ยวกับพระศิวะ ระบุว่า   หากพระศิวะอยู่องค์เดียวโดดๆ  บทบาทของพระศิวะจะออกไปในแนวทางการทำลาย  ตามบทบาทหน้าที่หลักของพระศิวะ 

               แต่หากพระศิวะ อยู่ร่วมกับพระแม่ปาร์วาตี ซึ่งเป็นมเหสี   บทบาทของพระศิวะจะเปลี่ยนไป อาจจะเป็นเพราะความอ่อนโยนทางจิตใจของ พระแม่ปาร์วาตีก็ได้   ทำให้บทบาทของพระศิวะกลายเป็นเทพเจ้าแห่งการเจริญพันธุ์ 

เพราะในห้องศักดิ์สิทธิ์ ของวิหารที่อุทิศถวายแด่พระศิวะ จะต้องมีสัญลักษณ์ตัวแทนของพระศิวะ กับ พระแม่ปาร์วาตี ประดิษฐานอยู่  เรียกว่า


(ศิวะลึงก์ อยู่บนฐานโยนี จะเห็นขีดนอน 3 ขีด เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเคารพบูชาพระศิวะ ที่เรียกว่า ทริปุนดา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ศิวะลึงก์ ตั้งอยู่บนฐานโยนี

               ส่วนบน ที่เป็นศิวะลึงก์  เรียกว่า  พาราศิวะ  หรือ ตัวแทนของพระศิวะ  ส่วนแผ่นวงกลมที่ศิวะลึงก์ตั้งอยู่  เรียกว่า  พาราชัคติ  ตัวแทนของพระแม่ปาร์วาตี รวมกันกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมพันธุ์  สัญลักษณ์แห่งการก่อกำเนิดของชีวิต

               ดังนั้น  วิหารมุคเตสชวารา จึงกลายเป็นสถานที่ที่ชาวฮินดูนิยมมาบูชาพระศิวะ เพื่อขอลูก

               วิธีการขอลูกก็คือ  หญิงผู้ต้องการจะขอลูก  จะต้องมาอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในบ่อด้านข้างวิหาร  บ่อนี้จะมีประตูเหล็กปิดกั้นทางเข้าอย่างแข็งแรง 

               พิธีอาบน้ำดังกล่าว  แน่นอนว่าจะต้องจัดการโดยพราหมณ์ผู้ดูแลวิหารหลังนี้

               ที่น่าสนใจก็คือ  หญิงผู้โชคดี ที่จะได้เข้าไปทำพิธีอาบน้ำขอลูกจะมีเพียงคนเดียว  และ พิธีกรรมนี้จะจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น

               แต่ละปี  จะมีหญิงจำนวนหลายสิบคน หรือ เป็นร้อยคนที่มาขอเข้าพิธี   แล้วใครจะเป็นผู้ได้สิทธิ์นั้น


(ผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง คงสนใจเรื่องจะมีลูก เดินทางมาที่วิหาร เพื่อปรึกษากับพราหมณ์เรื่องขอลูก ด้านหลังก็คือ  บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์)

               วิธีการคัดเลือกของวิหารก็คือ   การประมูล  ใครเป็นคนให้ราคาสูงสุด  คนนั้นจะได้อาบน้ำขอลูก  บางปี  ผู้ชนะประมูลต้องจ่ายเงินกว่า 4 แสนรูปีเลยทีเดียว

โดยผู้ที่จะรับเงินก็คือ พราหมณ์ ผู้ดูแลวิหารนั่นเอง

               พราหมณ์เหล่านี้นี่เอง  ที่เป็นผู้ที่คอยต่อสู้ประคับประคองศาสนาฮินดูในประวัติศาสตร์อันยาวนาน  ทำให้ศาสนาฮินดูสามารถพลิกผันกลยุทธ  และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของพระคัมภีร์ออกมาเรื่อยๆ  เป็นสาเหตุทำให้บทบาทหน้าที่ของเทพแต่ละองค์เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปในแต่ละยุค 

และเป็นสาเหตุที่ทำให้  พระวิษณุ มี 10 ปาง  โดยที่ปางที่ 9 ก็คือ ปางพระพุทธเจ้า

ไม่ว่ารายละเอียดในศาสนาฮินดู จะพลิกผัน  เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคอย่างไร  ผู้ที่มีบทบาทในการพยุงศาสนาฮินดูเอาไว้ก็คือ  บรรดาพราหมณ์เหล่านี้ 


(วิหาร เวนคาเตสวารา ที่เมือง ทิรูมาลา- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               แต่ปัญหาเรื่องไวรัส โควิด 19 ก็เริ่มออกฤทธิ์  วิหาร เทพ เวนคาเตสวารา ในเมือง ทิรูมาลา (TIRUMALA)ในรัฐอานธรประเทศ(ANDHRA PRADESH) ในประเทศอินเดีย  ได้ออกมาประกาศแล้วว่า  วิหารอาจจะต้องล้มละลาย  เพราะกองทุนของวิหารต้องสูญเงินไปกว่า 4000 ล้านรูปี เนื่องจากไม่มีผู้เดินทางมาทำบุญที่วิหารหลังนี้

และ วิหารเองก็มีค่าใช้จ่ายอยู่มากพอสมควร

ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง 

               สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดีย ในหลายเส้นทางกับผม  โทร 088 578 6666 หรือ Line ID 14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .