ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 9)

ซอกซอนตะลอนไป                           (31 พฤษภาคม 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 9)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วัฒนธรรมของศาสนาฮินดู  กลมกลืน และ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยอย่างแทบจะแยกไม่ออกในทุกๆด้าน  ไม่ว่า  จะเป็นภาษาศาสตร์  ความเชื่อ   ดาราศาสตร์  โหราศาสตร์ และ ประเพณีวัฒนธรรม  

ประเพณีที่เราคนไทยคุ้นเคยกันดีก็คือ  ประเพณีวันสงกรานต์

ก่อนที่จะพูดถึงประเพณีวันสงกรานต์  ผมขอนำท่านผู้อ่านไปที่วิหารสุริยเทพ แห่ง โคนารัค ในรัฐโอดิสสา เสียก่อน


(วิหารสุริยเทพแห่งโคนารัค-ภาพจากวิกิพีเดีย)

วิหารหลังนี้ สร้างในศตวรรษที่ 13 โดยกษัตริย์นรสิงหะเทวา ที่ 1  ของราชวงศ์คงคาตะวันออก วิหารออกแบบให้เหมือนกับราชรถเทียมม้า  7  ตัวของ สุริยเทพ

สุริยเทพ  มาจากคำว่า  สุริยา(SURYA) ในภาษาสันสกฤติ

สุริยเทพ จะทรงรถเทียมม้า 7 ตัว ที่มีเทพอรุณเป็นสารถี   สองข้างของเทพอรุณก็คือ  เทพีสององค์ถือคันธนู คือ เทพีอุษา  และ เทพี ปรัตยุสา

ด้วยเป็นวิหารของสุริยเทพ  จึงปรากฎรูปสลักของเทพพระอาทิตย์อยู่มากมายหลายจุดบนตัววิหาร โดยเฉพาะในส่วนที่เรียกว่า GRABHAGRIHA หรือ ที่ท่านอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ท่านสหวัฒน์ แน่นหนา ได้แนะนำว่า  น่าจะใช้คำว่า ครรภคฤหะ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของสุริยเทพ

แม้ว่าอาคารส่วนที่เรียกว่า  ครรภคฤหะ จะพังทลายเสียหายไปเกือบหมดแล้ว  แต่ก็ยังปรากฎรูปสลักของสุริยเทพอยู่ 3 ด้าน คือ  ด้านทิศใต้  ทิศตะวันตก  และ  ทิศเหนือ


(สุริยเทพ ขณะทรงรถเทียมม้า 7 ตัว)

ด้านที่อยู่ทางทิศใต้ สุริยเทพ จะมีร่างกายแข็งแรง บึกบึน ทรงรถเทียมม้า 7 ตัว  เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ตอนรุ่งสาง  สุริยเทพเพิ่งจะเริ่มทำงาน

               สุริยเทพทางทิศตะวันตก  ตัวจะเล็กกว่า  และไม่บึกบึนเท่า   แม้ว่าจะทรงม้า 7 ตัวเช่นกัน  

               ที่น่าสนใจมากก็คือ  สุริยเทพที่ประดิษฐานอยู่ทางทิศเหนือ  ซึ่งหากเทียบกับสุริยเทพทางทิศใต้  ก็จะเท่ากับ พระอาทิตย์ตอนกำลังจะลับฟ้า   เพราะอยู่ทิศตรงกันข้ามกับพระอาทิตย์ตอนรุ่งสาง 


(สุริยเทพ  ทรงม้าตัวเดียว สัญลักษณ์ของตอนพลบค่ำ)

               ศิลปินในสมัยศตวรรษที่ 13 ก็เข้าใจคิด  เขาทำรูปสลักทางทิศเหนือ  เป็นสุริยเทพทรงม้า  แต่เหลือเพียงตัวเดียวเท่านั้น   สันนิษฐานว่า  คงต้องการสะท้อนภาพว่า  สุริยเทพกำลังอ่อนแรง  เพราะใกล้จะหมดวันแล้ว

ย้อนกลับมาพูดถึง ประเพณีสงกรานต์ของไทย 


(ขอขอบคุณเจ้าของภาพครับ)

ถือกันว่า  วันมหาสงกรานต์ประจำปีพ.ศ. 2563  ตรงกันวันจันทร์ ที่ 13 เมษายน 2563 เวลา 21 นาฬิกา 27 นาที 0 วินาที  นางสงกรานต์ประจำปีนี้ คือ นางโคราคะเทวี ประทับ “เอนกาย” บนหลังเสือ


(ขอขอบคุณเจ้าของภาพครับ)

ปีก่อนหน้าคือ พ.ศ. 2562 วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 14 เมษายน 2562 เวลา 15 นาฬิกา 3 นาที 3 วินาที  นางสงกรานต์ประจำปีนี้ก็คือ นางทุงสะเทวี  ซึ่งประทับ “นั่ง” บนหลังครุฑ

               ดูเผินๆก็ไม่น่าจะมีนัยยะอะไรสำคัญมากนัก  แต่แท้ที่จริงแล้ว  มันแฝงนัยยะเกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์พระเวท หรือ โหราศาสตร์ฮินดูเอาไว้

               เพราะการกำหนดวันมหาสงกรานต์ของไทยนั้น  จะถือเอาตอนที่พระอาทิตย์ โคจรเข้าสู่ราศีเมษเป็นหลัก

               เมื่ออาทิตย์โคจรเข้าราศีเมษในปีพ.ศ. 2562 ตอน 15 นาฬิกา หรือ บ่าย 3 โมง  นางทุงสะเทวี จึงประทับ “นั่ง” มาบนหลังครุฑ  เพราะเป็นเวลาทำงาน

               เมื่ออาทิตย์โคจรเข้าราศีเมษ ในปีพ.ศ. 2563 ตอน 21 นาฬิกา 27 นาที  นางโคราคะเทวี จึงประทับ “เอนกาย”  มาบนหลังเสือ   เพราะเป็นตอนที่กำลังใกล้จะเข้านอนแล้ว

               แต่สำหรับสงกรานต์ของปีพ.ศ. 2564  พระอาทิตย์จะโคจรเข้าราศีเมษ ในวันพุธที่ 14 เมษายน เวลา 3 นาฬิกา 39 นาที 36 วินาที  นางสงกรานต์ของปีนี้คือ นางรากษสเทวี จะเอนกายนอนมาบนหลัง วราหะ หรือ หมูป่า 

               เอนกายไม่เอนเปล่า  แถมหลับตามาด้วย  เพราะเป็นเวลา ตี 3 เข้าไปแล้ว

               แต่ถ้าเป็นปีพ.ศ. 2565  นางสงกรานต์จะประทับ “ยืน”  มาเลยครับ  เพราะพระอาทิตย์จะโคจรเข้าราศีเมษ วันพฤหัสฯ ที่ 14 เมษายน ในตอนเช้าเวลา 9 นาฬิกา 52 นาที 12 วินาที  

               เห็นความเชื่อมโยงของ แนวคิดฮินดู กับแนวคิดของไทยรึยังครับ

               สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดีย กับผม ซึ่งมีหลายเส้นทาง  ติดต่อ  02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ Line ID 14092498

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .