การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (7 มีนาคม 2564)

การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ข้อมูลเรื่อง อวตาร 10 ปางของพระวิษณุ  จากเพื่อนวรรณะพราหมณ์ในอินเดียของผมที่ ชื่อ MR.SWAPAN GANGULY  ผู้เข้าใจในคัมภีร์พระเวทเป็นอย่างดี  ได้ให้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันระหว่าง   อวตาร 10 ปางของพระวิษณุ กับ แนวคิดเรื่อง “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน อย่างน่าสนใจยิ่ง  

               จึงขอนำมาขยายความต่อครับ  


(ทศาอวตาร)

               ก่อนอื่น ผมขอพูดถึง 10 ปางอวตารของพระวิษณุ ที่เรียกว่า  ทศาอวตาร  ซึ่งมีที่มาจากภาษาสันสกฤตที่ว่า Dashavatara  เสียก่อน (DASHA แปลว่า 10)  

               ปางที่ 1 มัสยา อวตาร(MATSYA) เป็นปลา , ปางที่ 2 กูรมา อวตาร (KURMA) เป็นเต่า ,  ปางที่ 3 วราหะ อวตาร(VARAHA) เป็นหมูป่า ,  ปางที่ 4  นรสิงหอวตาร (NARASIMHA) เป็นครึ่งคนครึ่งสิงโต ,  ปางที่ 5 วามานา อวตาร (VAMANA) เป็นพราหมณ์แคระ , ปางที่ 6  ปาระสุราม อวตาร (PARASHURAMA) เป็นนักรบผู้ปราบกษัตริย์ชั่ว , ปางที่ 7  รามา อวตาร (SRI RAMA)เป็นพระราม ในมหากาพย์ รามเกียรติ์  , ปางที่ 8 กฤษณะ อวตาร (SRI KRISHNA) ในมหากาพย์ มหาภารตะ , ปางที่ 9 พุทธ อวตาร (GAUTAMA BUDDHA) เป็นพระพุทธเจ้า  และ  ปางที่ 10 กาลกี อวตาร (KALKI) เป็น กาลกี  

               หากเทียบ 10 อวตารของพระวิษณุ กับ ทฤษฎี วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็จะเห็นความคล้ายคลึง  หรือ  ความเชื่อมโยงในหลายสิ่งหลายอย่าง (กรุณาย้อนกลับไปอ่านบทความ ตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนก่อนหน้านี้ครับ)


(มัสยา อวตาร)

               ชาร์ลส์ ดาร์วิน เริ่มต้นทฤษฎีของตนเองในเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ว่า   เริ่มต้นมาจากการเป็นสิ่งมีชีวิตแบบสัตว์เซลล์เดียว(UNICELLULAR ORGANISM) ที่เรารู้จักกันว่า  พวกอะมีบา(AMOEBA) และ พารามีเซียม (PARAMECIUM)  ค่อยๆวิวัฒนาการ กลายเป็นสัตว์ที่อาศัยในน้ำ (AQUATIC) ซึ่งน่าจะเทียบได้กับ มัสยา อวตาร อันปางที่ 1 ของพระวิษณุ ที่เป็นปลา


(กูรมา อวตาร)

               จากนั้น  วิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็สันนิษฐานว่า จากสัตว์น้ำก็กลายมาเป็น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (AMPHIBIA)  ซึ่งใกล้เคียงกับ กูรมา อวตาร ซึ่งเป็นปางที่ 2  เป็นเต่า


(วราหะ อวตาร)

               จากนั้น  ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็ชี้นำลงไปว่า  สิ่งมีชีวิตจะพัฒนาการมาเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง(CHORDATA) ซึ่งก็ตรงกับ วราหะ อวตาร ปางที่ 3 ที่เป็นหมูป่า 


(นรสิงห์ อวตาร)

               จากสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง  สัตว์ก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นในแนวทางของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเลี้ยงลูกด้วยนม (MAMMALIA) ซึ่งตรงกับปางที่ 4 ของพระวิษณุ ที่เป็น นรสิงห์อวตาร เป็นครึ่งคนครึ่งสิงโต

               จะเห็นว่า  แนวคิดของคัมภีร์พระเวท ที่มีอายุอย่างน้อย 3500 ปีขึ้นไป  ได้ผสมผสานสัตว์สองชนิดที่มีความสอดคล้องต้องกันกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน  คือ  ทั้งสิงโต และ มนุษย์  ต่างก็เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และ เลี้ยงลูกด้วยนมด้วยกันทั้งคู่  


(วามนา อวตาร)

               จากครึ่งคนครึ่งสัตว์ในอวตารที่ 4 ก็พัฒนาขึ้นมาเป็นคนเต็มตัว  แต่พัฒนาการยังไม่สมบูรณ์นัก  จึงเป็นเพียงคนแคระ ที่เรียกว่า วามานา อวตาร  เป็นอวตารในปางที่ 5 ของพระวิษณุ  


(ปรสุรามาวตาร)

               จากคนแคระตัวเล็กที่ไม่สมบูรณ์   มนุษย์ค่อยๆพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ  สมบูรณ์มากขึ้น  เพราะมีโภชนาการที่ดีขึ้น  กลายเป็นมนุษย์ที่มีร่างกายแข็งแรงกำยำ  เพราะต้องต่อสู้เอาตัวรอด   ตรงกับปางที่ 6 ของพระวิษณุ ที่เรียกว่า ปาระสุรามอวตาร

               แล้วทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน  หรือ  ของตะวันตกก็หยุดเพียงแค่เป็นมนุษย์   ในขณะที่แนวคิดการพัฒนาการของโลกตะวันออก  มองเลยต่อไป  ไม่ได้มองแค่โลกทางกายภาพเท่านั้น   แต่มองลึกลงไปในโลกที่เป็นรูปธรรมที่ชาวตะวันตกมองไม่เห็น  

คือ เรื่องจริยธรรม

               วิวัฒนาการของโลกตะวันออก นั้น ปรากฎในคัมภีร์ต่างๆ  เช่น คัมภีร์พระเวท ในศาสนาฮินดู   คำสอนของพระพุทธเจ้า ในศาสนาพุทธ  คำสอนของศาสนาเชน  คำสอนทางศาสนาซิกข์  ที่ก้าวไปสู่การพัฒนายกระดับ “จิตวิญญาณ” เป็นลำดับต่อไป

               แต่ชาร์ลส์ ดาร์วิน ไปต่อไม่ได้   จึงจบแค่วิวัฒนาการจากสัตว์ เซลล์เดียว ขึ้นมาเป็นมนุษย์ เท่านั้น 


(พระราม)

               ในขณะที่  แนวคิดทางปรัชญาของตะวันออกยังคงมองทะลุต่อไป  จนถึง ปางที่ 7 เป็นพระราม  แล้วก็มาสู่ปางที่ 8 เป็นพระกฤษณะ  และ  ปางที่ 9 คือ พระพุทธเจ้า 


(พระกฤษณะ)

(พระพุทธเจ้า)

               ทั้ง 3 ปาง  ล้วนแล้วแต่จะเน้นในเรื่อง  รูปธรรม  จริยธรรม  คุณธรรม  ความดี  ความชั่ว  บาป  และ  บุญ  ที่ไม่ว่าใครเป็นผู้ทำ  ต่างก็จะต้องได้รับผลกรรมนั้นเสมอ


(กาลกี)

               ส่วนปางที่ 10  ที่ยังมาไม่ถึง  คือ  กาลกี  ที่จะลงมากวาดล้างความชั่วร้ายของมนษย์ในยุคที่เรียกว่า  กาลียุค ซึ่งก็คือยุคปัจจุบันนี้เอง

               จากสมาคม เอเชียติค ที่สะสมรวบรวมความรู้  ปรัชญา  และ  ภาษา ของอินเดีย  แล้วส่งผ่านกลับไปยังอังกฤษ  ย่อมมีอิทธิพลต่อแนวคิดของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน อย่างแน่นอน

               เป็นความเชื่อส่วนตัวนะครับ  ใครไม่เห็นเหมือนผม ก็ไม่ผิดแต่ประการใดครับ

               (ขอขอบคุณภาพประกอบ  ที่มาจากวิหารวิษณุ กรุงเทพ)

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .