อสรพิษในร่างของสาวสวย(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (4 มิถุนายน 2566)

อสรพิษในร่างของสาวสวย(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ขณะที่ข่าวเรื่องการวางยาไซยาไนด์ เพื่อสังหารเหยื่อในประเทศไทยกำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง   ผมขอนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปในอดีตเมื่อหลายพันปีที่แล้วในประเทศอินเดีย  เพื่อพบกับวิธีการลอบสังหารศัตรูด้วยการใช้ยาพิษเช่นกันครับ

               แน่นอนว่า  การลอบสังหารศัตรูสักคนย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย    จะต้องใช้วิธีที่แยบยล ไม่ให้เป็นที่สงสัยของศัตรู  และวิธีที่ได้รับความนิยมในอดีตก็คือ  การลอบวางยาพิษ แทนที่จะใช้อาวุธ  ไม่ว่าจะเป็นธนู หรือ นักลอบสังหาร

               แต่การจะให้ใครสักคนถือยาพิษเดินเข้าไปในพระราชวังของฝ่ายตรงข้าม แล้ววางยาพิษลงในอาหารเป็นเรื่องที่ยากมากๆ  ดังนั้น  จึงต้องหาวิธีที่แยบคายอย่างมากๆ

บันทึกของอินเดียโบราณ(PURANAS) ได้กล่าวถึงวิธีการลอบสังหารที่น่าสะพรึงที่สุดวิธีนี้เอาไว้

               กระบวนการที่ว่านี้  เรียกว่า วิชะกัญยา(VISHAKANYA) เป็นคำในภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า  หญิงสาวผู้มีพิษ 


(รูปสลักของจันทรคุปต์ วัยเด็กที่วางอยู่หน้ารัฐสภาของอินเดีย-ภาพจากวิกิพีเดีย)

บันทึกบอกว่า  วิธีการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่สมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์(EMPEROR CHANDRAGUPTA)   จักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์เมารยะ (MAURYA DYNASTY) ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วง 322-185 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อประมาณ 2300 กว่าปีเศษที่แล้ว

               หลายท่านอาจไม่คุ้นกับชื่อราชวงศ์ เมารยะ  แต่ถ้าเอ่ยชื่อ พระเจ้า อโศก มหาราช(EMPEROR ASOKA) ผู้มีบทบาทในการเผยแพร่ศาสนาพุทธออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศอินเดีย และ ประเทศใกล้เคียงก็คงจะร้องอ๋อ

               ผู้คิดค้นวิธีการที่ร้ายกาจที่ว่านี้ก็คือ ชานัคคยา (CHANAKYA)  ซึ่งประวัติศาสตร์ระบุว่า  เขาเป็นทั้ง ครู , นักปรัชญา , นักเศรษฐศาสตร์ , ตุลาการ และ  ที่ปรึกษาของราชสำนักของราชวงศ์เมารยะ


(ชานัคคยา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนจนทำให้จันทรคุปต์ ผงาดขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ และทำให้ราชวงศ์เมารยะ กลายเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

พระเจ้าอโศก มีศักดิ์เป็นหลานของพระเจ้าจันทรคุปต์

               ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียดของ วิชะกัญยา  ว่าเขามีวิธีการอย่างไร  ผมขอเล่าเรื่องราวของผู้ก่อกำเนิด วิชะกัญยา ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบก่อน

               ชานัคคยา มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจมาก   เขาเกิดในตระกูลวรรณะพราหมณ์ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเมืองตักกะศิละ (ปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศปากีสถาน)   

ตำนานทางศาสนาพุทธที่เรียกว่า มหาวงศ์ (MAHAVAMSA) กล่าวว่า   จุดเด่น หรือ อาจจะเรียกว่าจุดด้อยของชานัคคยาก็คือ  รูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียดมาก  ขาของเขาพิการ หรือ อาจจะขาเป๋ หรือ บิดเบี้ยวอีกด้วย  ทำให้เวลาเดินไปไหนมาไหน  ร่างกายของเขาก็มักจะโยกแกว่งไปมาไม่สวยงาม  

ยิ่งไปว่านั้น  เขายังมีฟันเขี้ยวที่ยาวเหมือนเขี้ยวของหมา  พูดให้เห็นภาพก็คือ เขี้ยวของผีดูดเลือด หรือ  เขี้ยวของแดร็คคิวลา  ในขณะที่  ฟันที่ซี่อื่นๆของเขาก็อาจจะยาวไม่เท่ากัน  และ อาจจะเก หรือ หัก

สรุปก็คือ  รวมความอัปลักษณ์  น่าเกลียด  ทั้งหมดเอาไว้ในตัวชานัคคยา   แต่โชคดีที่เขาเกิดในวรรณะพราหมณ์   จึงทำให้ได้รับความเกรงใจจากผู้คนในสังคมอยู่บ้าง


(อาณาเขตของอาณาจักรนันดา  มีเมืองหลวงอยู่ที่ ปาตะลีบุตร ศรชี้ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เขาเกิดในสมัยของกษัตริย์ธนา นันดา(DHANA NANDA) จากราชวงศ์นันดา (NANDA DYNASTY) มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองปาตะลีบุตร(PATALIPUTRA)  ปัจจุบันนี้ก็คือ เมืองปัตนะ

ด้วยความที่ชานัคคยา มีฟันเขี้ยวแบบเขี้ยวหมา  ตำราของพราหมณ์ระบุว่า  ฟันเขี้ยวแบบนี้เป็นลักษณะของผู้ที่จะยิ่งใหญ่ในอนาคต  และอาจจะยิ่งใหญ่เป็นถึงกษัตริย์ด้วยก็ได้

มารดาของชานัคเคีย  กังวลใจมาตลอดว่า  หากลูกชายของเขาเป็นใหญ่ขึ้นมา   จะทอดทิ้งนางไปในที่สุด  เพื่อที่จะให้มารดาของเขาคลายกังวลใจในเรื่องนี้   ชานัคคยา จึงตัดสินใจหักฟันเขี้ยวทั้งสองเสีย

สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนจิตใจเด็ดเดี่ยว  มั่นคง  และออกจะโหดของชานัคคยา

ติดตามเรื่องราวของ ชานัคคยา  และ  วิชะกัญยา  ได้ในตอนต่อไปครับ

               ท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกเยอรมันบาวาเรียแบบดีลักซ์ทัวร์ กับผมในเดือนกันยายน สอบถามได้ที่โทร 0885786666 หรือ ID LINE 14092498

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .