มหาราชา-นาวาบ-และนิซาม คนแปลกคน(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (21 มกราคม 2567)

มหาราชา-นาวาบ-และนิซาม คนแปลกคน(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               มาถึงเรื่องราวของมหาราชาแห่งไมซอร์ (MAHARAJA OF MYSORE) ที่อยู่ในรัฐการณาตะกะ  ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย


(เมืองไมซอร์ (จุดสีแดง) ในรัฐการะณาตะกะ- ภาพจากกูเกิ้ล)

               มหาราชาแห่งไมซอร์ประกาศว่า   สายตระกูลของพระองค์สามารถสืบย้อนหลังกลับไปได้ถึงต้นตระกูล คือ เทพเจ้าพระจันทร์ (CHANDRA  หรือ  SOMA หรือ  MOON)

               เหมือนกับที่จูเลียส ซีซาร์ เคยประกาศว่า  บรรพบุรุษของเขาสามารถสืบย้อนขึ้นไปได้ก็คือ  เทพวีนัส(VENUS)  ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรักของโรมัน


(จูเลียส ซีซาร์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ดังนั้น   ทุกปีในช่วงวัน “สารทวิษุวัต” หรือ  AUTUMNAL EQUINOX ที่ตรงกับวันที่ 23 กันยายนโดยประมาณ เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันจะยาวเท่ากับช่วงเวลากลางคืน  โดยซีกโลกเหนือกำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

ช่วงเวลา 9 วันของสารทดังกล่าว   มหาราชาแห่งไมซอร์ จะเก็บตัวอยู่ในพระราชวังของพระองค์ที่มีจำนวนห้อง 600 ห้อง  และพระองค์จะเลือกเอาห้องที่มืดที่สุดเพื่อเข้าไปเก็บตัว  คล้ายๆกับการเก็บตัวในถ้ำของนักบวช “สาธุ” ที่เก็บตัวในถ้ำของภูเขาหิมาลัย อย่างไรอย่างนั้น


(พระราชวังไมซอร์- ภาพจากวิกิพีเดีย)

ในช่วงเวลาดังกล่าว  พระองค์จะไม่โกนหนวด  ไม่อาบน้ำ  ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะสามารถถูกเนื้อต้องตัวพระองค์  หรือแม้กระทั่งจะมองพระองค์ด้วยซ้ำ 

พระองค์เชื่อว่า  ตลอดช่วงเวลา 9 วันนี้   ร่างกายของพระองค์จะถูกประทับ หรือ เข้าสิงโดยเทพเจ้าพระจันทร์

แล้วใครจะกล้าค้าน

รัฐแห่งเจ้าชาย รัฐต่อไปที่ผมจะพูดถึงก็คือ  รัฐเจ้าชายแห่งอัลวาร์ (PRINCELY STATE OF ALWAR)  เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ภายในรัฐใหญ่ของอินเดียที่เรียกว่า รัฐราชสถาน (RAJSTHAN) ที่มีหลายเมืองที่เป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างดี เช่น  เมืองไจปูร์  จ็อดปูร์ และ  อุไดปูร์ 


(แผนที่ส่วนหนึ่งของรัฐราชสถาน จะเห็นเมืองไจปูร์ (ในวงกลม) และเมืองอัลวาร์(ตรงลูกศรชี้)

รัฐเจ้าชายแห่งอัลวาร์เพิ่งจะมีฐานะเป็นราชอาณาจักรแห่งอัลวาร์ มาตั้งแต่ปี 1770  ก่อนที่จะได้รับการยอมรับจากอังกฤษให้เป็นรัฐเจ้าชายในปี 1818 เรื่อยมาจนอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ

แม้ว่ารัฐเจ้าชายแห่งอัลวาร์ จะเพิ่งมีสถานะของรัฐเจ้าชายเพียงแค่ 300 ปีเท่านั้น   แต่ก็มีความมั่งคั่งอย่างมากทีเดียว  เพราะสืบทอดอำนาจ  และ  ความมั่งคั่งมาตั้งแต่กว่า 400 ปีย้อนหลังขึ้นไป   สะท้อนให้เห็นว่า  ประเทศอินเดีย เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์  มั่งคั่งร่ำรวยไปด้วยแร่ธาตุต่างๆมากมายมาช้านานแล้ว  

เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม(SIR ALEXANDER CUNNINGHAM) บิดาแห่งประวัติศาสตร์อินเดีย ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า   อัลวาร์ เป็นชื่อของชนเผ่าหนึ่ง  เดิมทีน่าจะมีชื่อว่า  ชนเผ่า ซัลวา   ต่อมาเพี้ยนเสียงจนกลายมาเป็น อัลวาร์

บางท่านอาจไม่ทราบว่า   อินเดียมีประชากรประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆที่เรียกว่า  THE TRIBES  อย่างน้อยที่สุดประมาณ 645 ชนเผ่า ซึ่งได้รับการรับรองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินเดีย ตามกฎหมายที่เรียกว่า  SCHEDULE 5

นางเทราปาตี มูร์มู (DROUPADI MURMU) ประธานาธิบดีหญิงคนปัจจุบันของอินเดีย  ก็เป็นชนเผ่าที่เรียกว่า  ชนเผ่า ซานทัล (SANTHAL TRIBE)   ซึ่งผมจะนำเรื่องราวที่น่าสนใจของชนเผ่าซานทัล นี้มาเล่าให้ฟังในโอกาสหน้าครับ


(นางเทราปาตี มูร์มู ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินเดีย กับ นายกฯนเรนทรา โมดี -ภาพจากวิกิพีเดีย) 

มหาราชาแห่งอัลวาร์ คนที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือ  มหาราชาไจ ซิงห์ พราบฮาการ์ (MAHARAJA JAI SINGH PRABHAKAR)  ซึ่งดำรงตำแหน่งมหาราชาระหว่างปี 1892 จนถึงปี 1937 ก่อนหน้าที่อินเดียจะได้เอกราชจากอังกฤษ 10 ปี

เรื่องราวของมหาราชาแห่งอัลวาร์ ที่สร้างความสั่นสะเทือนชาวอังกฤษยังมีต่อ  รอติดตามอ่านในตอนต่อไปครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .